
จับตาแก้ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มสต๊อกสำรองน้ำมัน จาก 25 เป็น 90 วัน กรมธุรกิจพลังงานชี้ รมว.พลังงาน ให้ความสำคัญ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งว่าควรสำรองนานขนาดไหน “โรงกลั่นบางจาก” หนุนใช้โมเดล OECD ที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ถือเป็นทุนสำรองเช่นเดียวกับทองคำ เพราะการลงทุนสูงมาก เชลล์กังวลต้นทุนสต๊อกน้ำมันส่งผลถึงราคาขายปลีก ด้านนักวิชาการมอง 90 วันนานเกินไป
ชงเพิ่มสำรองน้ำมัน 90 วัน
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยหลังการรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ (Oil Plan 2024) ว่า การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง กรมธุรกิจพลังงานวางแผนทบทวนรูปแบบ และอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม เป็นเรื่องที่นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 เพิ่มการสำรองน้ำมันจากเดิม 25 วัน เป็น 90 วัน เพื่อจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการและเพิ่มขีดความสามารถรับมือกับภาวะวิกฤต
“การเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงประเทศนั้น เปรียบเสมือนเป็นหลักประกันท่ามกลางวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ โดยเราจะใช้ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มสำรองน้ำมัน อย่างไรก็ตาม จำนวนวันสำรองน้ำมันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง คาดว่ายื่นเสนอพร้อมกับแผนพลังงานชาติ อย่างไรก็ตาม อำนาจในการพิจารณาเรื่องปริมาณสำรองเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่ถ้าดูจากการสำรองน้ำมันในประเทศอื่น ๆ อาทิ สหรัฐ ที่อยู่ประมาณ 100 วัน และญี่ปุ่นมีปริมาณ 200 วัน ส่วนปริมาณสำรอง 90 วัน คิดเป็นประมาณ 20-30% ของปี ซึ่งต้องยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นจริง แต่ความมั่นคงของประเทศก็มากขึ้นตาม”
บางจากหนุนใช้โมเดล OECD
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รอติดตามรายละเอียดที่จะกำหนดออกมา เบื้องต้นเป็นเรื่องที่มีการดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ เป็นไปตามมาตรฐานองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คือ ประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม OECD จะจัดเก็บสำรองน้ำมัน SPR ระยะเวลา 90 วัน ประเด็นเรื่องการเพิ่มปริมาณสำรองของไทยจาก 25 วัน เป็น 90 วันนั้น หลักอยู่ที่จะเก็บที่ไหน ซึ่งช่วงที่ประเทศไทยปรับขึ้นจาก 5% เป็น 6% หรือจาก 22.5 วัน เป็น 27-28 วัน เมื่อ 8-9 ปีก่อน หากเพิ่มขึ้นอีกครั้งนี้ คาดว่าคลังที่มีอยู่จะไม่เพียงพอที่จะเก็บ

“การปรับขึ้น 1% หมายถึง 3.65 วัน (จากทั้งปี 365 วัน) คลังก็ตึง ๆ แล้ว ถ้าปรับเพิ่มขึ้นจาก 25 เป็น 90 วัน จะเก็บที่ไหนอย่างไร ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำคลังใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา 3 เท่าตัว ส่วนผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันนั้นต้องอธิบายว่า ตามแนวทางในต่างประเทศอย่างสหรัฐนั้น รัฐบาลจะเป็นคนเก็บ บริหารสต๊อกน้ำมัน เพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉะนั้นถ้าเป็นรูปแบบตาม OECD รัฐบาลต้องเป็นคนเก็บ ซึ่งอาจจะใช้สำรองของแบงก์ชาติมาเก็บ โดยอาจจะปรับเปลี่ยนสินค้าจากเดิมที่เก็บทองคำ เพิ่มน้ำมันเข้ามาเป็นอีกส่วนหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ การพิจารณาปรับเพิ่มสต๊อกน้ำมันควรจะเป็นจังหวะที่ราคาน้ำมันในตลาดลดต่ำลง ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐ”
เชลล์มองนโยบายย้อนแย้ง
แหล่งข่าวจากบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า นโยบายการเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันจาก 25 วัน เป็น 90 วัน จะเป็นการเพิ่มการลงทุนมหาศาล โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อน้ำมันที่เพิ่มขึ้นก็มีมูลค่าเป็นล้านล้านบาท นอกจากนั้นยังต้องวางแผนอีกว่าจะเก็บน้ำมันที่ไหน และเก็บอย่างไร ซึ่งต้องลงทุนเพิ่มถังกักเก็บ แต่ขณะเดียวกันเราอยากจะลดต้นทุนน้ำมัน ซึ่งการใช้นโยบายนี้ดูมีความย้อนแย้งกันอยู่
สอดคล้องกับตัวแทนจากกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่มาเข้าร่วมกล่าวเสริมว่า นโยบายการป้องกันการขาดแคลนเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น และต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าต้องป้องกันการขาดแคลนของประเทศ
นักวิชาการชำแหละ SPR
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เรื่องการสำรองน้ำมันเคยเป็นประเด็นที่เคยศึกษากันมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงระยะปานกลาง-ระยะยาว ซึ่งในต่างประเทศก็มีการเก็บสต๊อกเพื่อป้องกันการหยุดชะงักของการขนส่งน้ำมันข้ามประเทศในกรณีที่เกิดสงคราม โดยส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วันขึ้นไป
“ครั้งก่อนศึกษาขอบเขตว่าต้องสำรองปริมาณเท่าไร และหน่วยงานใดจะเป็นผู้เก็บสำรอง มีวิธีการซื้อขายอย่างไร และจะส่งผลต่อต้นทุนมากน้อยเพียงใด แต่ที่หยุดชะงักไปไม่ได้ดำเนินการเพราะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีองค์กรใหม่มาดูแลเลย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะแค่แก้กฎหมายอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องมีกฎหมายใหม่มาดูแลด้วย”
การนำเรื่อง SPR กลับมาพิจารณารอบนี้ เป็นไปได้ที่เกิดจากปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น ทำสงครามกันเยอะ แต่หากมองปัจจัยนี้จะมีผลกับทุกสินค้าไม่เฉพาะน้ำมัน แต่ยังรวมถึงก๊าซธรรมชาติด้วย ซึ่งหากต้องเพิ่มสำรองก๊าซธรรมชาติจะยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูง
เพิ่มเวลาสต๊อก-รัฐต้องลงขัน
“การปัดฝุ่น SPR เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่จะนำมาทำตอนนี้ แต่ต้องไปศึกษาว่าใช้เงินลงทุนเท่าไร เก็บกี่วัน ถ้ายิ่งมากวันก็ยิ่งแพง จะเป็นภาระใครคนใดคนหนึ่ง และที่สำคัญเราจำเป็นต้องเก็บถึง 90 วัน เท่ากับอเมริกาเลยหรือไม่ เพราะฐานะไม่เท่ากัน เราอาจจะเก็บสัก 1 เดือนดีไหม เพราะสำหรับไทยนาน ๆ จะขาดแคลนน้ำมันสักที และแค่ช่วงสั้น ๆ อีกทั้งเราไม่ได้ใช้น้ำมันมากขนาดนั้น หากเทียบกับความต้องการของทั้งโลก ปัจจุบันการหาซื้อน้ำมันทำได้ไม่ยาก แม้ว่าเราต้องพึ่งตะวันออกกลาง แต่เราก็ยังมีแหล่งน้ำมันอื่น ๆ ที่พอจะหาซื้อได้ ซึ่งอันนี้เราต้องชั่งใจดู”
ศ.ดร.พรายพลกล่าวอีกว่า อีกประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา กำหนดให้ใครเป็นผู้ดำเนินการ แต่ส่วนใหญ่รัฐบาลต้องลงขันก่อน เพราะแน่นอนว่าจะค่อย ๆ ผ่องถ่ายหรือกระจายไปให้ภาคเอกชน หรือผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะผ่องถ่ายมาเป็นราคาน้ำมัน หรือผ่องถ่ายไปที่รายได้รัฐที่มาจากภาษีด้านอื่น และหากผ่องถ่ายมาเป็นราคาน้ำมัน จะไปย้อนแย้งกับนโยบายของท่าน ที่จะลดราคาน้ำมันหรือไม่ เพราะนี่เป็นการเพิ่มภาระมากขึ้น
แนะให้กลไกตตลาดทำงาน
นักวิชาการอิสระด้านพลังงานกล่าวอีกว่า นโยบายทางกระทรวงน่าจะอยากรื้อโครงสร้างราคา แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดของการปรับโครงสร้างราคาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ควรปล่อยให้กลไกการตลาดได้ทำงานบ้าง ให้เช็กและแข่งขันกันไป รัฐเข้าไปแทรกเฉพาะในจุดที่ได้ผลจริง ๆ เพราะน้ำมันก็เหมือนสินค้าอื่น ๆ ทั่วไป
“เท่าที่ดูข้อมูลของ สนพ.ค่าการตลาดที่เปิดเผยเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า อยู่ที่ระดับไม่เกิน 1-2 บาทต่อลิตร ไม่ถึง 3 บาท ซึ่งตามหลักหากรัฐจะไปคุมกำไรของภาคเอกชนก็น่าคิดเหมือนกันว่าจะทำได้ไหม หรือควรใช้กฎหมายอะไร เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้าได้ หรือกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ก็มีโอกาสจะใช้ได้”
ไส้ในราคาแพงคือ “ภาษี”
อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันแพงจริงไม่ใช่เพราะค่าการตลาดสูง แต่องค์ประกอบของต้นทุนน้ำมันมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแพง เราคอนโทรลไม่ได้ และภาษีสรรพสามิตเราก็ไม่น้อยตก 5-6 บาทต่อลิตร หากรัฐจะแก้ปัญหาต้องถามว่าจะแก้อะไร ถ้าแก้ปัญหาราคาแพง ต้องดูว่าทำอะไรกับราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ได้ ดังนั้นต้องมาดูเรื่องภาษีเป็นหลัก ส่วนค่าการตลาดเป็นรองลงมา 1-2 บาท จะลดไปมากกว่านี้หรือไม่ ส่วนค่าการกลั่น เมื่อ 3 ปีก่อนค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันลดลงมากจนไม่เหลืออะไรให้ลดแล้ว มีแต่ต้องลดภาษี ส่วนบทบาทของกองทุนน้ำมันฯซึ่งติดลบเยอะ ยิ่งไปอุดหนุนมากกว่านี้จะยิ่งแย่ ดังนั้นถ้าจะลดราคาจริง ๆ ต้องใช้ภาษีเป็นหลัก
“ส่วนประเด็นเรื่องสำรองน้ำมัน ผมยังยืนยันว่าไทยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำมัน และเราหาซื้อน้ำมันได้ไม่ขาด และเราไม่ได้ใช้น้ำมันมากมายนักเทียบกับภาพรวม ฉะนั้นการสำรองน้ำมันสำหรับบ้านเราอาจจะน้อย ไม่ต้องสำรองมาก ใช้ระบบปัจจุบันไปก่อน ยิ่งไปแตะจะยิ่งแพง เพราะจะไปเป็นภาระคนใดคนหนึ่ง”