
กรมทรัพย์สินทางปัญญา MOU สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ saict ส่งเสริมผลักดันให้เจ้าของผลงาน ทายาท ครูช่างศิลปหัตถกรรม เข้าจดลิขสิทธิ์งาน สร้างมูลค่าเพิ่ม ป้องกันละเมิด เพื่อยกระดับผลงานสู่ตลาดโลก
วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดี กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ saict ในการขับเคลื่อนศิลปหัตถกรรม ของไทย ให้เติบโตก้าวสู่การแข่งขันในยุค Disruption ได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ให้สินค้าได้มีลิขสิทธิ์ และสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าเป็นที่น่าเชื่อถือที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ว่า จากความร่วมมือ กรมพร้อมให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศให้กับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก สศท. ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ ให้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ และให้รู้ถึงคุณค่าในงานความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้ง กรมพร้อมสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้มูลค่า ซึ่งปัจจุบันก็มีสินค้า หัตถกรรมเข้ามามาจดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเครื่องหมายการค้าทำให้สินค้า งานศิลปไทยเกิดมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น
ด้านนางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (สศท.) หรือ saict กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของผลงาน ยังเกิดฟ้องร้อง ดังนั้น ความร่วมมือเพื่อป้องกันการรละเมิดลิขสิทธิ์ จะเป็นส่วนช่วยต่อยอดผลงานศิลปะให้เกิดความมั่นใจในสินค้า และยังขยายสู้มูลค่าทางตลาด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้ามาให้ความรู้ การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา ในงานหัตถกรรม และเป็นการต่อยอดการคุ้มครองผลงานทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก สศท. ซึ่งมี 4,000 ราย ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมด้วย
โดย สศท.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในสินค้ากลุ่มหัตถกรรม 9 ประเภท เช่น เครื่องไม้ เครื่องจักรสาน เครื่องดิน เครื่องทอ (เครื่องผ้า) เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนังเครื่องกระดาษ เครื่องหิน 10.อื่น ๆ กลุ่มสินค้างานหัตถกรรมเหล่านี้ ได้อยู่ในพื้นที่แหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI
โดยผู้ผลิตผลงานในพื้นที่ GI ได้นำวัสดุ/วัตถุดิบ ที่มีความเกี่ยวข้องกับกับการผลิตผลงานเข้ามาเป็นส่วนที่สร้างสรรค์ ต่อยอด ให้สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์สูง อันเนื่องมาจากการหยิบใช้ทุนในพื้นที่ เช่น ทุนทางประวัติศาสตร์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง จะสามารถเพิ่มคุณค่า และมูลค่าแก่สินค้าหัตถกรรมได้อย่างมีศักยภาพ
นางพรรณวิลาสกล่าวอีกว่า ในปีนี้ สศท.มีผลิตภัณฑ์จากโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ (SACIT Concept : Geographical Indications of Arts and Crafts) ภายในโครงการมีกิจกรรม Crafts Design Matching เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ ในการพัฒนายังสามารถขยายการเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวระดับชุมชน และพัฒนาเป็นสินค้าหัตถกรรมสู่การท่องเที่ยวในระดับโลกได้ ทั้งนี้ สศท. เตรียมจัดแสดงนิทรรศการแสดงต้นแบบผลิตภัณฑ์ ในงานแสดงสินค้า Crafts Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 24-28 ส.ค. 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา
มูลค่าศิลปหัตถกรรมไทย
รายงานข่าวระบุ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 145,492.74 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือน พ.ค.ส่งออก 31,859.15 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตลาดส่งออกหลัก ยังคงเป็นสหรัฐ มูลค่าส่งออก 11,520.78 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.95 รองลงมาเป็น สหภาพยุโรป มูลค่าส่งออก 6,073.10 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.65 ญี่ปุ่น มูลค่าส่งออก 1,921.83 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.96 และอาเซียน มูลค่าส่งออก 2,962.84 ล้านบาท ขยายตัวลดลงร้อยละ -9.90
“สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และมีการขยายตัวมากที่สุด คือ ดอกไม้ ใบไม้ และต้นไม้ประดิษฐ์ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ เครื่องเงิน เครื่องทอง”