ส่องแผน “เดลต้า” ครึ่งปีหลัง แก้เกม EV ป่วน-รุกดาต้าเซ็นเตอร์

delta
นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม

การปรับลดราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) สร้างแรงเสียดทานต่อการทำตลาดอีวีในบ้านเราพอสมควรส่งผลถึงผู้ผลิตในซัพพลายเชนที่ต้องปรับแผนบริหารจัดการรับมือ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถึงแผนครึ่งหลังปี 2567 รับมือตลาดอีวีป่วน และการขยายการลงทุน Data Center ตลอดจนการก้าวไปสู่การใช้พลังงานสะอาด 100% หรือ RE100

ตลาด EV ป่วน

อย่างที่รู้กันว่าเดลต้าโดดเข้ามาเล่นตลาด EV โดยการสร้างโรงงานแห่งที่ 8 และ 9 ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เพราะเราเห็นเทรนด์โลกมาตลอดว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเป็นยานยนต์สมัยใหม่ที่โลกต้องการและมันก็เกิดขึ้น ทำให้เราผลิตโซลูชั่นต่าง ๆ ออกมาเพื่อทำตลาดอย่างตัวเครื่องชาร์จตามบ้าน AC MAX ขนาดกำลังไฟ 22kW ยอดขายดีมาก ส่วนหนึ่งด้วยการขายพ่วงไปกับค่ายรถยนต์ แต่อีกส่วนเราก็ทำตลาดเก็บตกจากลูกค้าที่ไม่ได้ซื้อกับค่ายรถ และที่ต้องการ Service เพิ่มเติม ทำให้แต่ละปีมียอดขายหลักหมื่นเครื่อง ด้วยการเข้าไปจับมือกับผู้รับสร้างบ้าน ล่าสุดที่เราทำกับออริจิ้น ส่งผลให้เดลต้ามีส่วนแบ่งตลาดในส่วนของตัวโปรดักต์ที่เกี่ยวกับเครื่องชาร์จ EV สูงถึง 35% เป็นอันดับ 1 อยู่ในตอนนี้

“กระแสรถ EV ตอนนี้ปั่นป่วนมาก จากข่าวที่เห็นว่ามีลูกค้าร้องเรียนทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม แบตเตอรี่ล่าสุดคือการลดราคาของค่ายจีนรายใหญ่ ทำให้มีบางกลุ่มที่ยังขาดความเชื่อมั่นที่จะซื้อรถ EV เดลต้าเองถึงเรามี 2 เทคโนโลยี คือพาร์ตที่เป็นผู้ผลิตป้อนชิ้นส่วนภายในรถที่เป็นออนบอร์ด ซึ่งเราไม่ได้กังวลเพราะเราส่งออก และพาร์ตที่เราเป็นตัวผลิตเครื่องชาร์จ ตู้ชาร์จ ด้วยการที่เรายังบาลานซ์โปรดักต์ได้อยู่ แล้วตลาด EV เองเชื่อว่ายังไงมันก็โต อาจมีขึ้นมีลงบ้างเป็นบางช่วง แต่ในระยะเวลา 3-5 ปี เราเชื่อว่ายังไปได้แน่นอน และเรายังเห็นการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานของนักลงทุนจีน มีการขยายและเพิ่มยอดการผลิตกันต่อเนื่อง เอฟเฟ็กต์ตอนนี้จึงเกิดขึ้นแค่ระยะสั้น ๆ เพราะในระยะกลางเราจะเริ่มเห็นดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอีก”

เปิดตัวสินค้าใหม่

ในปีนี้ 2567 เดลต้ายังมีแผนจะเปิดตัวสินค้าใหม่ คือ ตู้คอนเทนเนอร์แบตเตอรี่ LFP ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบจัดเก็บพลังงาน แบบมาตรฐาน 10 ฟุต ความจุแบตเตอรี่ 708kWh-7.7MWh รองรับทั้งระบบจ่ายไฟและผู้ให้บริการสถานีชาร์จประจุไฟในประเทศไทย นอกจากนี้ สินค้าที่เป็นตัวไฮไลต์ยังมีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น AC MAX มีขนาดกำลังไฟสูงสุดถึง 22kW ใช้สำหรับบ้าน ห้าง โรงแรม คอนโดมิเนียม ใช้เวลาชาร์จ 6-8 ชั่วโมงส่วน DC Wallbox (50kW) เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็วใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ส่วนรุ่น Ultra Fast (200kW) ที่ติดตั้งตามสถานีน้ำมันของ PT ใช้เวลาในการชาร์จ 40 นาที ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังยุโรป

และปลายปีเราก็จะมีสินค้าใหม่อีกที่เป็นตัวชาร์จขนาด 300-400kW แต่ทั้งหมดนี้เรายังต้องนำเข้ามาแบบสำเร็จรูป เพราะด้วยมีต้นทุนจากการนำเข้าชิ้นส่วนที่เมื่อมาผลิตและประกอบเองจะแพงกว่า ดังนั้นในช่วงที่ดีมานด์ยังไม่สูงมาก การนำเข้าจึงดีกว่า แต่ก็ยอมรับว่าเราก็มีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเครื่องชาร์จ ตู้ชาร์จ EV ในอนาคตเช่นกัน เพื่อที่ส่งออกไปขายรองรับความต้องการในตลาด Southeast Asia และยังมีพวกชิ้นส่วนประกอบของวงจรที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ และที่พ่วงกับ IC ต่าง ๆ เป็นส่วนที่เพิ่มมาจากโรงงานใหม่ที่จะเปิดช่วงไตรมาส 2 ปี 2568

ลุยต่อ Data Center

ขณะที่แผนการเติบโตของเดลต้านอกจาก EV แล้ว เรายังลงทุนเรื่อง Data Center โดยเมื่อโลกมันขยายตัวก็จะมีการลงทุนอะไร ๆ มารองรับให้มากขึ้น ปัจจุบันเดลต้าใช้ประสิทธิภาพจากการทำ Data Center ภายในองค์กรอยู่แล้ว แล้วยิ่งตอนนี้สิงคโปร์แม้ว่าเขาจะเป็นศูนย์กลาง Data Center ก็ตาม แต่ได้กลายเป็นตลาดเรดโอเชี่ยนแล้ว ทำให้โอกาสมาอยู่ที่ไทยกันหมด ซึ่งการทำ Data Center ตรงนี้แน่นอนว่าจะมีทั้งแผนและก็เงื่อนไขเช่นกันว่าจะต้องใช้ไฟฟ้าสะอาด เรามีส่วนที่เป็นไฟจากโซลาร์บนหลังคาดึงมาใช้ 1-3 เมกะวัตต์ (MW)

ADVERTISMENT

เปิด Direct PPA แต่ไฟไม่พอขาย

หลังจากภาครัฐเปิดทางให้ใช้ Direct PPA เรามองว่ามันเป็นเรื่องยาก เพราะที่เราทำโซลาร์บนหลังอยู่ตอนนี้ เราก็ใช้ไม่พอแล้ว ถ้าเราจะต้องขายไฟโดยตรงให้กับเพื่อนบ้าน โรงงานข้าง ๆ ก็คงจะไม่ได้ เช่นเดียวกันในทางกลับกัน ด้วยเราเป็นโรงงานขนาดใหญ่ โรงงานที่อยู่ใกล้เราเขาก็คงไม่มีไฟพอที่จะขายเรา ต่อให้เราซื้อมาเติมมันก็ยังไม่พออยู่ดี

รูปแบบของ Direct PPA นั้นจึงไม่เหมาะกับโรงงานเดิมที่สร้างไปแล้ว เพราะไม่มีพื้นที่ตรงไหนพอที่จะสร้างไฟฟ้าสะอาดขึ้นเพื่อขาย แต่ที่เราทำกับ SCG ตรงนี้ทำได้ โซลาร์ฟาร์มมันได้ถึง 10 MW ทำ Direct PPA ได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของอัตราค่าไฟการซื้อขายเรายังต้องรอ PDP ให้ชัดเจนก่อน

ADVERTISMENT

ในอนาคตเราอาจพยายามมองหาพื้นที่ว่าง ๆ จับมือทำกับ SCG แล้วก็ขายไฟแบบ Direct PPA แบบนี้ก็ดีกว่าที่จะแบ่งไฟจากโซลาร์บนหลังคาไปขายให้คนอื่น

ถามว่าไฟที่เราใช้ไม่พอ แล้วเราวางแผนยังไง เรายังมีตัวเลือกอื่นคือ IREC เป็นการชั่วคราว 2 ปี มันเป็นการซื้อไฟจาก EGAT ซึ่งมันเป็นพลังงานจากเขื่อนและมันก็เป็นพลังงานสีเขียว หลังจากนั้นเราก็คงมีไฟฟ้าสะอาดจากส่วนอื่นเข้ามาพอดีส่วนอีก 1 ทางเลือกก็คือ ระบบ TPA ส่วน UGT ก็คืออีกทางเลือก แต่ยอมรับว่ามันแพงถึง 300% จนเราไม่สามารถใช้เป็นทางเลือกได้ การบริหารจัดการเรื่องลงทุนที่ต้องควบคู่ไปกับการใช้พลังงานสะอาดเพื่อเป้าหมายการไปสู่ RE100 ในปี 2030 (2573)

SCG ขายไฟจากโซลาร์ฟาร์ม

ภาครัฐได้มีการพูดถึงการใช้พลังงานสะอาด 100% ดังนั้นแผนของเดลต้าตลอดที่ทำมาก็มุ่งไปสู่การเป็น RE100 สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP พอดี โดยครึ่งปีหลังนี้ภาพจะชัดมากขึ้น เพราะในระบบโรงงานของเรา นอกจากที่จะติดตั้งโซลาร์บนหลังคาเพื่อดึงไฟมาใช้ในโรงงานแล้ว ในโรงงาน 3 และ 4 ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่นั้นจะเปิดดำเนินการสิ้นปี 2567 นี้

ส่วนที่ดีคือเรามีพื้นที่ว่างเหลือประมาณ 100 ไร่ เราจับมือกับทาง SCG เป็นผู้เข้ามาดำเนินการทำโซลาร์ฟาร์มขนาด 10MW แล้วขายไฟฟ้าให้กับเรา เพราะโซลาร์บนหลังคาที่ติดตั้งอยู่ยังไงก็ใช้ไม่พอ เราจึงต้องใช้รูปแบบนี้ และ SCG ขายไฟให้เราในอัตราที่ถูกกว่าซื้อจากภาครัฐ โดยได้ส่วนลดถึง 20% และที่สำคัญคือเราได้จากพลังงานสะอาด 100% เรามีสัญญากันระยะยาว 20-30 ปี