
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับเป็นพื้นที่หลักในการปลูกข้าวของประเทศไทย โดยในปีการผลิต 2566/67 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนการเพาะปลูกข้าวนาปี (รอบที่ 1) จำนวน 4,217,942 ครัวเรือน เพาะปลูก 55,743,466 ไร่
โดยมีพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกมากที่สุด 36,723,801 ไร่ เกินกว่า 50% ของประเทศ รองลงมาคือภาคเหนือ 12,538,917 ไร่, ภาคกลาง 2,937,405 ไร่, ภาคตะวันตก 1,555,604 ไร่, ภาคตะวันออก 1,873,319 ไร่ และภาคใต้ 114,417 ไร่ ดังนั้น การขยับของกลุ่มโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงนับได้ว่าเป็นแรงขยับที่มีพลังไม่น้อยไปกว่าภาคอื่น
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดให้มีการประชุมสามัญประจำปี 2567 โดยมีวาระเลือกตั้งนายกสมาคมครั้งที่ 3 นับจากก่อตั้งสมาคมเมื่อปี 2563 ที่แยกตัวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย
ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบให้ “วิชัย ศรีนวกุล” หรือที่ในวงการข้าวเรียก “เฮียวิชัย” จากโรงสีข้าวเจริญผล อ.โคกสูง จ.นครราชสีมา ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต่อเนื่องวาระที่ 3 ระหว่างปี 2567-2569 และยังคงต้องรับหน้าที่หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)
บรรยากาศการประชุมไร้ความขัดแย้งและมีพันธมิตรอย่าง “นายรังสรรค์ สบายเมือง” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย หรือ “เฮียหมี” เข้าร่วมแสดงความยินดีด้วย
นโยบายหลัก
สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือสมาคมโรงสีอีสานมีสมาชิก 160 โรงสี ส่วนใหญ่เป็นโรงสีที่ผลิตข้าวหอมมะลิ มุ่งเน้นการผลิตและขายข้าวคุณภาพสูง “แนวทางการทำงาน ผมต้องการทำให้ข้าวหอมมะลิมีคุณภาพดีตลอดไป และช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งปัจจุบันธนาคารมองภาพลักษณ์โรงสีไม่ดีและไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน เป็นแบบนี้มานานแล้ว ทำให้เงินสำหรับที่จะนำไปใช้ซื้อข้าวรองรับข้าวฤดูกาลต่าง ๆ ที่จะออกมาลดลง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วโรงสีจะหาเงินที่ไหนมาซื้อข้าว
ดังนั้น เราจึงพยายามส่งเสริมให้โรงสี ซึ่งส่วนใหญ่โรงสีในอีสานจะรักษาความเป็นลูกค้าชั้นดี ไม่ใช้เงินผิดประเภท เพราะเราต้องพยายามทำให้ธนาคารเชื่อถือว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดี เพื่อขอให้เขาให้การสนับสนุน เพราะถ้าผลผลิตออกมามาก ๆ แล้วไม่มีเงินซื้อข้าวจะทำอย่างไร อีกด้านหนึ่งเราต้องหาตลาดรองรับ หรือผู้ซื้อที่จ่ายเงินเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันการขายข้าวให้ผู้ส่งออกไม่ได้เงินทันที แต่ต้องรอ 3 สัปดาห์-2 เดือน ขึ้นอยู่กับการส่งออก ยิ่งรอตู้คอนเทนเนอร์นาน ๆ ก็จะยิ่งนานมากขึ้น”
สำหรับการช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลือชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีที่เข้าไปช่วยซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต๊อก และยังคงดำเนินการมา ยังไม่หมดโครงการ ซึ่งก็ช่วยโรงสีได้ส่วนหนึ่ง
ปิดจุดอ่อน ปุ๋ยคนละครึ่ง
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือชาวนาในปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนไป จากปีก่อนชาวนาได้รับการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แต่ปีนี้เปลี่ยนมาให้ความช่วยเหลือเป็น “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ซึ่งใช้งบประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท ผ่าน ครม.แล้ว โดยโครงการนี้ใช้เงินรัฐ 30,000 ล้านบาท เท่ากับว่าชาวบ้านก็ต้องควักเงินตัวเอง 30,000 ล้านบาท ไปซื้อปุ๋ยให้รายละ 20 ไร่ ไร่ละ 500 บาท ได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท เท่ากับชาวนาก็ต้องมีเงิน 10,000 บาทด้วยเช่นกัน เพราะถ้าไม่มีเงิน 10,000 บาทก็จะไม่สามารถใช้มาตรการของรัฐบาลได้ ชาวบ้านหลายคนที่ผมเจอบอกอย่างนี้
และอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องปุ๋ยไม่ใช่มีแต่เรื่องข้าว มีพืชเกษตรหลายตัว มูลค่าตลาดปุ๋ยสูงมากเป็นแสนล้านจะตรวจสอบอย่างไร ว่าที่เอามาใส่ข้าวจะไปตรวจสอบอย่างไร ว่าเค้าใช้ปุ๋ยข้าว อีกด้านหนึ่งหลักเกณฑ์ถ้ากำหนดให้สหกรณ์ซื้อปุ๋ยมาจำหน่ายให้ชาวนา แล้วหากสหกรณ์ซื้อปุ๋ยมาสต๊อกไว้จำหน่ายจำนวนมาก ๆ แล้วขายไม่หมดจะทำอย่างไร และยังมีประเด็นที่ชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ซื้อไม่ได้อีก
“การที่รัฐให้ 10,000 บาท ชาวบ้านออกอีกครึ่งหนึ่ง 10,000 บาทจะไปซื้อตรงไหน ก็ต้องบริหารจัดการเอง เป้าประสงค์อยากให้ไปซื้อปุ๋ย แต่ชาวบ้านไม่มีเงินส่วนที่จะไปซื้อในส่วนของชาวบ้านก็จะไม่ได้ใช้โครงการ ชาวบ้านบางคนปลูกตามยถากรรม เพราะทุนน้อย ไม่รู้จะไปเอาเงินจากตรงไหน เลยเกิดคำถามว่า ทำไมไม่ให้เป็นเงินไปซื้อเลย แต่รัฐก็บอกใน นบข.ว่า กลัวว่าจะกลับไปเป็นแบบที่ให้เงินไร่ละ 1,000 บาทเหมือนเดิม
อีกประเด็นหนึ่งคือ การซื้อจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นของ ธ.ก.ส. ซึ่งถ้าจะไปซื้ออีก 10,000 บาท ธ.ก.ส.ต้องปล่อยสินเชื่อให้ เพื่อไปรวมกับ 10,000 บาท โดยให้ไปซื้อปุ๋ยราคาเดียวกันทั่วประเทศ เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า จะทำให้ปุ๋ยทั่วประเทศเหมือนกันได้หรือเปล่า เพราะต้องขนส่งไปจากส่วนกลาง ยิ่งไกลก็จะยิ่งมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นหากมีการขนส่งปุ๋ยตันหนึ่งน่าจะมีค่าขนส่งสูงถึงตันละ 400 บาท แล้วใครจะมารับผิดชอบตรงนี้ เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลายทางเท่ากัน”
ซึ่งเท่าที่ทราบในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 คณะอนุกรรมการด้านการผลิต โดยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะประชุมเรื่องปุ๋ยคนละครึ่ง คงจะมีมาตรการอย่างไรออกมา ต้องรอดูต่อไป เพราะการเดินหน้านโยบายเกี่ยวกับชาวนานั้นย่อมส่งผลต่อโรงสีอย่างแน่นอน
พื้นที่ปลูกข้าวลด
แนวโน้มปีนี้ ภาพรวมปริมาณน้ำฝนดีกว่าปีก่อน คิดว่าผลผลิตรอบนาปีน่าจะได้ถึง 7 ล้านตัน จากปีก่อนที่ได้ 6 ล้านตันเศษ แต่ยังต้องรอดูสถานการณ์ฝนต่อ เพราะเพิ่งเริ่มต้นฤดูกาล และปีนี้มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาอ้อยดีที่สุดในรอบ 12 ปี ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวของอีสานหันไปปลูกอ้อย โดยกระจายไปในทุกจังหวัดรอบ ๆ โรงงานน้ำตาล ซึ่งน่าจะทำให้พื้นที่หายไปประมาณ 10% ของพื้นที่ทั้งหมด
“โรงงานน้ำตาลเข้าไปส่งเสริมให้ราคาดี ปลูกอ้อยให้ได้เพิ่มตันละ 2,000 บาท จากปีก่อนได้ 1,000-1,100 บาท ชาวบ้านได้เงินก็เปลี่ยนแปลงนาไปปลูกอ้อยหลายจังหวัด บุรีรัมย์ หรือนครราชสีมา อำนาจเจริญ ก็ได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เพราะเค้าจ้างให้เปลี่ยน เงินเพิ่ม จึงหันไปปลูกอ้อย พอพื้นที่ลดลงก็อาจจะทำให้ปริมาณผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย สมาคมคิดว่าถ้าปลูกข้าวหอมมะลิ 7 ล้านตันก็ถือว่าสูงแล้ว”
ทั้งนี้ หากปีนี้ยังสามารถผลิตปริมาณข้าวเปลือกได้ 7 ล้านตัน ถือว่าทรงตัวแต่ไม่ขาดแคลน โดยข้าวเปลือกจะถูกนำไปใช้ส่งออกประมาณ 3 ล้านตันและใช้ภายประเทศอีก 3-4 ล้านตัน ซึ่งในปีนี้คาดว่ายอดส่งออกจะใกล้เคียงเดิมประมาณ 1.5-1.6 ล้านตัน โดยขณะนี้เทียบตัวเลขการส่งออกมาในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2567 ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิได้ 6.64 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.2%
แนวโน้มราคาข้าว
ระดับราคาข้าวคงทรงตัวระดับตันละ 13,000-15,000 บาท “อยู่ในระดับนี้” ในส่วนของข้าวเปลือกแห้งคงไม่ต่ำไปกว่านี้ เพราะทุกอย่างอยู่ที่นโยบายรัฐบาลจะประกาศสินเชื่อชะลอฝากเก็บยุ้งฉางให้เกษตรกรในอัตราเท่าไร จากปีก่อนรัฐบาลให้ตันละ 12,000 บาท ส่วนรอบนี้ผมมองว่าควรจะปรับขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และราคาที่รัฐบาลให้เพิ่มขึ้น เช่น หากเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 บาท ก็จะเป็นเหมือนราคาฟลอร์ไพรซ์ (ราคาขั้นต่ำ) ให้เกษตรกร “ถ้ารัฐบาลอยากเห็นว่าราคาตลาดข้าวแห้งเท่าไร เช่น ไม่ต่ำกว่า 13,000 บาท ก็ต้องประกาศราคาตันละ 13,000 บาท เพราะราคาของรัฐบาลจะเป็นราคาฟลอร์ไพรซ์ให้ตลาดได้”
ค่าระวางป่วนส่งออกครึ่งหลัง
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดและราคาข้าวครึ่งปีหลังคือ ตลาดส่งออกข้าวครึ่งปีหลัง ซึ่งยังต้องติดตามปัญหาค่าระวางเรือ ส่งผลให้ราคาข้าวไม่ไปไหน อยู่ในภาวะทรง ๆ และอ่อนตัวลงบ้าง เพราะการส่งออกเราเจอปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจีนมีการดึงตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งออกเยอะ แล้วตู้คอนเทนเนอร์บ้านเราก็ต้องไปแย่งเขามา ก็ต้องไปจ่ายแพง ซึ่งมีผลให้ไปกดราคาลดลง ทำให้กังวลว่าจะซ้ำรอยเมื่อ 3 ปีก่อน
ส่วนปัจจัยเรื่องการประมูลข้าวหอมมะลิเก่า 10 ปี ปริมาณ 15,000 ตันที่ยืดเยื้ออยู่นั้น “ไม่มีผลต่อตลาดข้าว” เพราะปริมาณข้าวที่นำมาประมูลไม่มากหากเทียบกับปริมาณข้าวทั้งระบบ และราคาที่ได้มานั้นในวงการข้าวถือว่า 19 บาทกว่านี่ก็สูง เพราะต้องไปปรับปรุงอีกรวม ๆ ก็น่าจะ 21 บาทกว่า ๆ ก็พอ ๆ กับราคาข้าวขาวใหม่ หากสามารถขายออกไปได้หมดก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี
การส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่
สำหรับแผนการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่สายพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่เหมาะสมที่จะปลูกในภาคอีสานนั้น ผมก็ยังไม่เห็นมีพันธุ์ไหนที่จะดีไปกว่า 2 สายพันธุ์เดิมที่ใช้อยู่ คือข้าวหอมดอกมะลิ 105 กับข้าว กข.15 ส่วนพันธุ์อื่น ๆ ที่พัฒนามาปลูกในฤดูนาปรังก็ยังไม่เหมาะ เพราะต้องเป็นนาชลประทาน ซึ่งเหมือนนักเรียนที่เรียนเก่งแล้วยังเสริมด้วยการเรียนพิเศษอีก ทั้งที่ต้องดูว่านักเรียนตรงไหนที่ยังต้องช่วยเหลือ
“ในภาคอีสานของเรามีปัญหาอันดับแรกคือเรื่องน้ำไม่สมบูรณ์ ข้าวของเราต้องต่อสู้กับธรรมชาติ ซึ่งหากข้าวที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติได้ผลผลิตน้อยก็ต้องได้ราคาสูงเป็นธรรมดา แต่ถามว่า หากเราผลิตขนาดนี้ก็ยังไม่ได้ขายออกหมด ยังเหลือกิน จะไปส่งเสริมให้ผลิตเยอะ ๆ จาก 7 เป็น 10 ล้านตันแล้วจะมีตลาดรองรับหรือเปล่า อีกทั้งราคาก็ต้องขายถูกลงอีก สู้อยู่อย่างนี้ ได้ผลผลิตเท่านี้ แต่อยู่ได้ไม่ดีกว่าหรือ การที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่เราไม่อยากได้ผลผลิตเยอะ แต่เราอยากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ผลผลิตเยอะต้นทุนลดลง แต่ปัญหาโครงสร้างการผลิตเรายังแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องน้ำจะทำอย่างไร หากควบคุมได้ก็ทำได้”