กองทุนน้ำมันติดลบ 4 ปี “ตรึงดีเซล” ในวันวิกฤตสภาพคล่อง

น้ำมันดีเซล

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2567 กำลังจะครบกำหนดวันที่ 31 ก.ค. 2567 เป็นจังหวะเดียวกับที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มกลับมาผันผวน กองทุนน้ำมันฯจึงต้องแบกรับภาระในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันจนติดลบวิกฤตอีกครั้งในรอบ 3 ปี

ภาพการติดลบของกองทุนน้ำมันฯเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากดูตัวเลขกองทุนน้ำมันฯย้อนหลังไป 5 ปี ที่ผ่านมาจะพบว่า กองทุนเริ่มติดลบมาตั้งแต่ปี 2564 ที่ 4,480 ล้านบาท และติดลบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (กราฟิก)

และกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสถานะล่าสุด กองทุนน้ำมันฯติดลบ 111,595 ล้านบาท ขยับเข้าไปใกล้สถิติการติดลบสูงสุดเมื่อปี 2565 ที่เคยติดลบไปถึง 123,155 ล้านบาท

ติดลบ 1.1 แสนล้าน

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 กองทุนมีสินทรัพย์รวม 27,025 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 138, 620 ล้านบาท ฐานะกองทุนสุทธิติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 63,944 ล้านบาท บัญชี LPG อีก 47,651 ล้านบาท

โดยการหมุนเวียนของกองทุนนั้น สถานะการหมุนเวียนเงินกองทุน ปัจจุบันเงินบัญชีน้ำมันมีเงินไหลออก 8.79 ล้านบาท/วัน หักลบกับบัญชี LPG ไหลเข้าวันละ 4.39 ล้านบาท/วัน เท่ากับจะมีเงินไหลออกมากกว่า 4.4 ล้านบาท/วัน

กองทุนน้ำมัน

ADVERTISMENT

ปี’67 ราคาน้ำมันดิบไม่แรง

หากเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างปี 2565 ที่กองทุนน้ำมันฯติดลบสูงสุด ที่ 123,155 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มสู้รบกันในปีแรก เกิดวิกฤตราคาพลังงาน ดันราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลก ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 135.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐ และซาอุดีอาระเบีย จากตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบราว 5 ล้านบาร์เรล/วัน มากกว่าครึ่งหนึ่งถูกส่งไปยังยุโรป

โดยเราจะเห็นว่าในปี 2565 ได้มีการแก้ไขโดยใช้วิธีการ “กู้เงิน” เสริมสภาพคล่องของกองทุน โดยได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และทาง สกนช.ได้ดำเนินการกู้เงินไป 2 รอบ รวม 65,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ซึ่งจะต่างจากปีนี้ที่ระดับราคาน้ำมันดิบ หรือดีเซลในตลาดโลกไม่ได้ปรับขึ้นจนวิกฤตร้อนแรงเท่าปี 2565 แต่เป็น “วิกฤตเรื่องสภาพคล่อง” ซึ่งเมื่อสาเหตุวิกฤตและปัจจัยแวดล้อมต่างกัน การแก้ไขก็ควรใช้วิธีที่ต่างกัน ต้องจับตามองว่าแนวทางการแก้วิกฤตกองทุนน้ำมันในปีนี้จะเป็นอย่างไร

จับตา 2 ปัจจัย

ในช่วงเวลาครึ่งเดือนก่อนที่ระยะเวลาพยุงราคาดีเซล 33 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลง คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ต้องเร่งหาข้อสรุป เรื่องนี้โดยการพิจารณาปัจจัยประกอบด้วย 1) ปัจจัยราคา สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนมาก การปรับขึ้น-ลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยราคาในตลาดโลกจะเป็นตัวแปรสำคัญในการนำมาคำนวณเพดานราคา และเป็นตัวที่มีความผันแปรมากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อสถานะกองทุนน้ำมันฯของเราว่าจะดีขึ้นหรือไม่ดี ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนก็มีผลต่อการซื้อขายน้ำมันดิบในตลาดโลก ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงก็จะทำให้สามารถลดการชดเชยลงและสถานะกองทุนน้ำมันฯดีขึ้น

โดยค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่นำมาใช้พิจารณาจะอ้างอิงราคาน้ำมันดิบดูไบ ค่าเฉลี่ย 95-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับราคาขณะนี้ระดับราคานี้ยังอยู่ในกรอบสมมุติฐาน

เร่งจ่ายหนี้-ไม่กู้เพิ่ม

แต่ปัจจัยที่ 2) เนื่องจากตอนนี้กองทุนจ่ายไปจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่สองซึ่งเป็นเรื่องของสภาพคล่องที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2567 จะถึงกำหนดจ่ายคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงิน (กรุงไทย-ออมสิน) งวดแรกของลอตแรกที่กู้วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นรอบ ๆ

“แม้ว่าสถานะการเงินของกองทุนยังติดลบ แต่คงไม่สามารถผัดผ่อนการจ่ายคืนหนี้กองทุนได้ เพราะมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน จึงต้องจ่ายหนี้ก่อน ส่วนการจะกู้เพิ่มนั้นตามกฎหมายยังให้เพดานเราสามารถจะกู้เพิ่มได้ 20,000 ล้านบาท แต่จากสภาพคล่องที่มีอยู่คงจะไม่ควรจะกู้เพิ่ม แต่ก็ขึ้นกับระดับนโยบาย”

โอกาสเป็นไปได้ 3 แนวทาง

การใช้หนี้เงินกู้ในขณะที่สถานะที่เป็นลบ ดูจะเป็นโจทย์ท้าทาย สำหรับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะต้องพิจารณาข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาสถานะกองทุนน้ำมันฯให้ได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า มีแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯอีก 2 วิธี ที่นอกเหนือไปจากการปรับขึ้นราคาเพดานจำหน่ายดีเซล 34 บาท คือ การขออนุมัติงบฯกลางจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการหารือเพื่อประสานไปทางกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ปรับลด “ภาษีสรรพสามิต” สำหรับน้ำมันดีเซลลงจากปัจจุบัน เพื่อนำเงินมาช่วยสนับสนุน แต่โอกาส 2 แนวทางหลังนี้เป็นไปได้ยาก เพราะต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภายนอก

ดังนั้น “การปรับขึ้นเพดานราคาดีเซล” ซึ่งในส่วนของพลังงานสามารถดำเนินการได้เอง จะเป็นหนทางที่สะดวกกว่า

“โจทย์” ต่อไปคือ หากปรับจะต้องปรับขึ้นอีกเท่าไร อาจจะ 50 สตางค์ต่อลิตร หรือมากกว่า 1 บาทต่อลิตร ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งต้องได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์จากนี้

ช่วยกลุ่มเปราะบาง

อีกด้านหนึ่งหลังจากปรับเพดานราคาดีเซลแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กระทรวงพลังงานต้องวางแนวทางคู่ขนานร่วมด้วย คือ การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งจะมีมาตรการอย่างไรในระยะเร่งด่วนนี้

และสำหรับแผนระยะยาว การแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะเริ่มมีการทบทวนหลังจากที่บังคับใช้มาครบ 5 ปี ซึ่งจะต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายว่าเป็นตามวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันหรือไม่

โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มีแนวคิดออกมาแล้วว่าจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการบรรจุมาตราสำหรับกำหนดแนวทางและวิธีการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเฉพาะกลุ่มเป็นมาตรา 1 ที่จะเพิ่มเข้ามา ซึ่งหลังจากนี้ สกนช.จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์ในดือนสิงหาคม เพื่อนำไปสู่ร่างใหม่ต่อไป