สัมภาษณ์พิเศษ
ภาพรวมการค้าโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างเปราะบางจากปัญหาเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ แต่การส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2567) กลับขยายตัว 24.45% มีมูลค่า 715 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 26,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายสิทธิศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง” นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย ถึงภาพรวมเครื่องประดับเงินในครึ่งปีหลัง
ทุกตลาดสำคัญส่งออกโต
การส่งออกเครื่องประดับเงินในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตทุกตลาด อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาส่งออกมีมูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 18% เยอรมนี 174 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 22% อินเดีย 105 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 291% อังกฤษ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 7% จะมีเฉพาะตลาดออสเตรเลีย ที่หดตัว 8% มีมูลค่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยยังมองว่าในครึ่งปีหลังยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การส่งออกเครื่องประดับเงินทั้งปี 2567 มีโอกาสขยายตัว 10% หรือมีมูลค่าเฉลี่ย 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขส่งออกเฉลี่ยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อดูจากการส่งออกที่ขยายตัว และเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ผู้ส่งออกกลับมีความกังวล คือ การเติบโตของตัวเลขส่งออก เกิดจากผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการรายย่อยจริงหรือไม่
หรือเกิดจากบริษัทรายใหญ่ นักลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะตลาดอินเดีย ที่ตัวเลขส่งออกขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ทางสมาคมมีการวิเคราะห์ว่าเป็นการเติบโตของผู้ประกอบการไทย หรือนักลงทุนอินเดียกันแน่
อินเดียส่งออกโตมีนัยสำคัญ
ตลาดส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยหลักมี 3-4 ตลาด คือ ตลาดสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษและออสเตรเลีย หากดูสัดส่วนการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยอยู่ที่ตลาดสหรัฐ มีสัดส่วน 30% และเยอรมนี สัดส่วน 24% รวม 2 ตลาดนี้มีสัดส่วนส่งออกถึง 50-60% ของการส่งออกเครื่องประดับเงินไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ส่งออกมากสุด
แต่เมื่อดูยอดส่งออกปีนี้ ตลาดอินเดียโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาส่งออกมีมูลค่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปีนี้ผ่านไปครึ่งปีมีมูลค่า 105 ล้านเหรียญสหรัฐ สมาคมได้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดอินเดีย เริ่มมีการหันมาซื้อเครื่องประดับเงิน เพื่อทดแทนเครื่องประดับทองที่มีราคาแพง ใช้ในงานสำคัญ ๆ มากขึ้น เช่น การแต่งงาน
นอกจากนี้ ผู้บริโภคอินเดีย นิยมใช้เครื่องเงินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน จึงมีผลต่อความต้องการสินค้าเครื่องประดับเงิน อีกทั้ง การค้า-การส่งออกยังมีความคล่องตัว โดยสมาคมยังไม่เห็นภาพนักลงทุนต่างชาติในไทย ที่เข้าลงทุนผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมสร้างโรงงานภายในประเทศเพื่อผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกก็ตาม
ส่วนคู่แข่งในสินค้าเครื่องประดับเงินที่สำคัญ เช่น จีน อิตาลี ตุรกี และอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งรายใหม่ที่ผลิตสินค้าเครื่องประดับเงินในราคาที่ถูก จากปัจจัยต้นทุนและค่าแรงที่ถูกกว่า แต่ผู้ประกอบการยังมั่นใจคุณภาพ ศักยภาพที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกจึงยังคงมั่นใจทำตลาดได้
“เราจึงมองว่าจำเป็นจะต้องรักษาสัดส่วนตลาดส่งออกสำคัญให้ได้ และปัจจุบันมีสมาชิก ผู้ประกอบการไทย 106 ราย ยังตื่นตัวที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมไปถึงงานแสดงจิวเวลรี่ ซึ่งจัดโดยภาคเอกชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และได้รับการตอบรับที่ดี จากยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น”
โดยภาพสะท้อนจากงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรืองานบางกอกเจมส์ครั้งแรกปีนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลการตอบรับดีมาก มีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมงานจำนวนมาก ผลของการเติบโตในงานแสดงสินค้าอัญมณี ปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาระหว่างประเทศของสหรัฐ-จีน ทำให้หลายประเทศกระจายความเสี่ยงในการนำเข้าและหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่างานแสดงที่ฮ่องกงยังไม่คึกคักเท่าหลายปีที่ผ่านมา เพราะเกิดจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ลูกค้าหันมาร่วมงานกับไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของเรา แม้ว่าไทยจะไม่ได้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ก็ตาม
ส่วนงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 2 ปีนี้จะจัดในเดือนกันยายน จากการติดตามสมาชิกได้เข้าไปจองพื้นที่ในการร่วมงานครั้งนี้อย่างล้นหลาม ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในการหาลูกค้าและตลาดใหม่ ๆ
จับตาความท้าทาย
อย่างไรก็ตาม เราพบว่าต้นทุนวัตถุดิบเครื่องประดับเงินโดยเฉพาะกลุ่มโลหะ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุน 1 ใน 3 ในการผลิตสินค้า คาดว่าปีนี้จะมีการปรับขึ้นมาอยู่ที่ 22-23 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ จากเดิมจาก 19-20 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ปรับขึ้นมา 10% และไม่สามารถคาดการณ์ว่าราคาจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก และความต้องการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ พบว่าจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้วัตถุดิบอย่างโลหะเงิน เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น มีผลต่อราคาโลหะเงินในตลาดโลก เพราะหากมีความต้องการมากขึ้นก็จะมีผลต่อราคาโลหะเงินขยับ ซึ่งเคยขึ้นมาแล้วถึง 40-50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และจากความต้องการใช้โลหะเงินในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้ามีโอกาสที่ราคาจะขยับขึ้นจากปัจจุบัน 20% ได้ จึงมีความไม่แน่นอนของผู้ประกอบการผลิตเครื่องประดับเงินและการตั้งราคาจำหน่าย เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการตั้งรับและพิจารณาอยู่ตลอดเวลา
ส่วนค่าแรงที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับขึ้น ซึ่งรับว่ามีผลต่อต้นทุนในการผลิตเครื่องประดับเงินระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะค่าแรงของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ชำนาญก็สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการให้ความเข้าใจและก็ไม่ได้คัดค้าน แต่สิ่งที่ต้องการจากรัฐ การยกระดับความเป็นอยู่ให้กับแรงงาน
ฝากรัฐบาลยกระดับ FTA
โดยคาดหวังให้ภาครัฐบาลช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐบาลจะเข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดส่งออก ทำตลาดและประชาสัมพันธ์ แม้เราจะไม่ใช่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโต 20-30% แต่เติบโตเฉลี่ยทุกปี 5-10% ที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศได้อย่างมาก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยเป็นเจ้าของและใช้แรงงานภายในประเทศ
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ผลักดันอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วย รวมถึงต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ส่งเสริมแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จัก อย่าง “ลิซ่า” ที่สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ทำให้รู้จักประเทศไทย หากมีโอกาสก็ต้องการให้อัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก
สิ่งสุดท้าย คือ การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แม้ไทยจะมีเอฟทีเอกับหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย แต่เมื่อดูในรายละเอียดยังมีปัญหาในเรื่องของการค้าและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ยังมีความซับซ้อน ขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคอีกมาก จึงต้องการให้มีการอัพเกรดหรือยกระดับในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น หากแก้ไขได้เชื่อว่าจะดันมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้