ครึ่งปีแรก 2567 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ หดตัว 2%

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยครึ่งปีแรก 2567 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 46,383 ราย ลดลง 2% ทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท ปัญหาหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อ เงินเฟ้อที่ยังกระทบ แต่ตั้งธุรกิจใหม่ก็ยังตามเป้าหมายที่คาดไว้ 44,000-47,000 รายในครึ่งปีแรก จากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,351 ราย ลดลง 275 ราย คิดเป็น 3.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,979.07 ล้านบาท ลดลง 11,760.65 ล้านบาท คิดเป็น 29.59% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

และมีธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 566 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 522 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 330 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.70%, 7.10% และ 4.49% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2567

ทั้งนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567) มีสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 46,383 ราย ลดลง 2% เทียบปีที่ผ่านมา 47,286 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท และเป็นไปตามเป้าที่กรมเคยตั้งยอดการจดทะเบียนครึ่งปีแรกไว้ที่ 44,000-47,000 ราย

คาดว่าเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น

รวมทั้งการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้การคาดการณ์ยอดจดทะเบียนธุรกิจ ทั้งปี 2567 มีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (ปี 2566) ทั้งนี้ ทำให้คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 44,000-47,000 ราย

Advertisment

โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

1) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3,656 ราย ทุน 16,013.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88%
2) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 3,521 ราย ทุน 7,255.18 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.59%
3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,105 ราย ทุน 4,352.90 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.54%

Advertisment

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจลดลงเล็กน้อย 903 ราย (ลดลง 1.91%) ทุนจดทะเบียนลดลง 283,568.88 ล้านบาท (ลดลง 66.15%) โดยปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จำนวน 47,286 ราย ทุน 428,647.49 ล้านบาท เนื่องจากปี 2566 มีบริษัทมูลค่าทุนจดทะเบียนเกิน 1 แสนล้านบาท ควบรวมกิจการและแปรสภาพจำนวน 2 บริษัท ได้แก่

1) การควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เดิม และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ใหม่ โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 138,208.40 ล้านบาท และ 2) การแปรสภาพบริษัทจำกัด เป็น บริษัทมหาชนจำกัด ของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีมูลค่าทุน 124,435.03 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนในปี 2566 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ 6 เดือนแรกปี 2567 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 7 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 19,178.14 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจโฮลดิ้ง 4 ราย ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ 1 ราย ธุรกิจเกี่ยวกับแว่นตา 1 ราย และธุรกิจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ 1 ราย

จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ

สำหรับเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 1,416 ราย ลดลง 243 ราย คิดเป็น 14.65% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา (พ.ค. 2567) 412 ราย คิดเป็น 41.04% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 4,903.58 ล้านบาท ลดลง 1,391.43 ล้านบาท คิดเป็น 22.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือนที่ผ่านมา (พ.ค. 2567) 49,900.79 ล้านบาท คิดเป็น 91.05%

ขณะที่ 6 เดือนที่ผ่านมา มีธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 6,039 ราย ทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 603 ราย ทุน 1,209.18 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 340 ราย ทุน 4,863.76 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 197 ราย ทุน 457.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.99%, 5.63% และ 3.26%

จากจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการลดลง 1,058 ราย (ลดลง 14.91%) ทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ เพิ่มขึ้น 27,143.63 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 54.72%) โดยปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) มีการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ จำนวน 7,097 ราย ทุน 49,604.72 ล้านบาท

โดย 6 เดือนแรกปี 2567 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 52,794.05 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม 1 ราย ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ 1 ราย ธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคม 1 ราย และธุรกิจเกี่ยวกับเช่าห้องชุดพักอาศัย 1 ราย เมื่อเทียบอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ กับการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการของปี 2567 อยู่ที่ จัดตั้ง 8 ราย เลิก 1 ราย ขณะที่ปี 2566 มีการจัดตั้ง 7 ราย เลิก 1 ราย ซึ่งปี 2567 มีอัตราการเทียบที่มากกว่าปี 2566

ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 922,508 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,334,762.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) บริษัทจำกัด 719,281 ราย (77.97%) ทุน 16,110,875.13 ล้านบาท (72.14%) 2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 201,757 ราย (21.87%) ทุน 472,044.11 ล้านบาท (2.11%) และ 3) บริษัทมหาชนจำกัด 1,470 ราย (0.16%) ทุน 5,751,842.85 ล้านบาท (25.75%)

ชาวต่างชาติลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีชาวต่างชาติลงทุนในประเทศไทย ครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 385 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 106 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 279 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,852 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1) ญี่ปุ่น จำนวน 103 ราย (27%) เงินลงทุน 44,018 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ จำนวน 63 ราย (16%) เงินลงทุน 7,379 ล้านบาท 3) สหรัฐอเมริกา จำนวน 60 ราย (16%) เงินลงทุน 1,223 ล้านบาท 4) จีน จำนวน 42 ราย (11%) เงินลงทุน 5,997 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง จำนวน 31 ราย (8%) เงินลงทุน 12,062 ล้านบาท

ต่างชาติลงทุนในพื้นที่ EEC

ครึ่งปีแรกปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 116 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21,034 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 1) ญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 5,225 ล้านบาท 2) จีน 21 ราย ลงทุน 1,918 ล้านบาท 3) ฮ่องกง 12 ราย ลงทุน 5,008 ล้านบาท และ 4) ประเทศอื่น ๆ 43 ราย ลงทุน 8,883 ล้านบาท