
การแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น (Alien Species) ในประเทศไทย ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำในธรรมชาติและสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีตัวอย่าง Alien Species อย่าง ปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น และปลาพีคอกแบส มาก่อนหน้านี้ กระทั่งล่าสุดพบการระบาดของ “ปลาหมอสีคางดำ” จากการรายงานของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ในปี 2560 โดยล่าสุดได้พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ 25 จังหวัด บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี, ระยอง, สมุทรปราการ, กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และสงขลา
ล่าสุดมีรายงานจากสมาคมประมงท้องถิ่นทั้งที่สมุทรปราการ และประจวบคีรีขันธ์ สามารถจับปลาหมอสีคางดำในทะเลอ่าวไทย ห่างชายฝั่งถึง 3 ไมล์ทะเล กลายเป็นความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวง หลังพบปลาหมอสีคางดำสามารถอาศัยอยู่ในน้ำเค็มได้ และพร้อมที่จะแพร่ระบาดไปยังเกาะแก่งและปากแม่น้ำที่ไหลลงอ่าวไทยได้ทั่วประเทศ
เพิ่งห้ามปลาเอเลี่ยนปี 2561
ความร้ายแรงในการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เริ่มเป็นที่ตระหนักในวงกว้างมากขึ้น หลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ มาตั้งแต่ปี 2561 โดยเอกสารทางวิชาการระบุว่า ปลาหมอสีคางดำ เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ไม่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยมาก่อน มีความสามารถในการปรับตัวอาศัยอยู่ได้ถึง 3 น้ำ (ปลา 3 น้ำ) คือ น้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย การผสมพันธุ์วางไข่ใน 22 วันสามารถออกวางไข่ได้ 300-600 ฟอง อัตราการรอดหลังฟักไข่เป็นตัว คิดเป็นร้อยละ 99 จัดเป็นปลาดุร้ายมีลำไส้ยาวเป็น 3-4 เท่าของลำตัว ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมปลาหมอสีคางดำถึงหิวอยู่ตลอดเวลาและมีความสามารถในการกินอาหาร ทั้งลูกกุ้ง ลูกปลา หอย ท้องถิ่น ไปจนกระทั่งถึง “เคย” ในทะเลในลักษณะของการทำลายร้างทีเดียว
กรมประมงกล่าวถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ หลังพบในแหล่งน้ำสำคัญและหลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปลาหมอสีคางดำมีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์อีก จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 แห่ง พ.ร.ก.การประมงปี 2558 และแก้ไขเพิ่มเติมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่านหรือเพาะเลี้ยง “ยกเว้น” จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง พ.ศ. 2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์จากต่างประเทศ อันได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon Melanotheron), ปลาหมอมายัน (Cichlasoma Urophthalmus) และปลาหมอบัตเตอร์ (Heterotilapia Buttikoferi) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 มีนาคม 2561
สำหรับสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวก็คือ กรณีที่เกษตรกรมีการเพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาทั้งหมดมอบให้กับเจ้าหน้าที่กรมประมง กรณีที่ประชาชนจับปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายก่อนจำหน่าย เช่นเดียวกับการพบปลาทั้ง 3 ชนิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติหลุดรอดเข้าไปในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรก็ให้นำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ หากส่วนราชการ สถาบันการศึกษาใดต้องการเพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดเพื่อการวิจัย ให้แจ้งขออนุญาตต่อ กรมประมง ก่อน และห้ามปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิดลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด
มีข้อน่าสังเกตว่า ประกาศกรมประมงฉบับนี้มีขึ้นหลังจากที่ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งยื่นขออนุญาตนำ ปลาหมอสีคางดำ เข้ามาปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2553 กับคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) เพื่อพิจารณาอนุญาต “การนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นทุกชนิด” ซึ่งเป็นการยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้าในฐานะ “สัตว์น้ำต่างถิ่น” ไม่ใช่ “สัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ (ปลาหมอสีคางดำ-ปลาหมอมายัน-ปลาหมอบัตเตอร์)” ที่ห้ามนำเข้าตามประกาศในวันที่ 19 มีนาคม 2561
โดยปลาหมอสีคางดำที่ บริษัทเอกชน ขอนำเข้ามาปรับปรุงพันธุ์นั้นไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทได้ทำลายปลาเหล่านั้นไปหมดแล้ว นั้นเท่ากับว่า กรมประมง ได้รับรายงานและมีการตรวจพบการระบาดของปลาหมอสีคางดำมาก่อนปี 2561 รวมไปถึงข้อสงสัยที่ว่า อาจมีการ “ลักลอบ” นำเข้าปลาหมอสีคางดำเข้ามาในประเทศในลักษณะของการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม อีกด้วย ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวยืนยันว่า ในช่วงปี 2556-2559 มีข้อมูลปรากฏ มีการส่งออกปลาหมอสีคางดำไปต่างประเทศรวม 230,000 ตัว ไปยัง 17 ประเทศจากผู้ส่งออก 11 ราย ซึ่งเป็นการส่งออกก่อนที่จะมีประกาศกรมประมงฉบับปี 2561 ออกมาบังคับใช้

5 มาตรการกำจัดคางดำ
จากข้อเท็จจริงข้างต้น ในขณะนี้จึงยังไม่สามารถระบุ “ต้นตอ” ของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ได้ว่า มาจาก “ใคร” เนื่องจากมีการเพาะเลี้ยงทั้งโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือลักลอบนำเข้ามาตั้งแต่ก่อนปี 2556 แล้ว ส่งผลให้ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ปลาหมอสีคางดำ ได้ออกลูกออกหลานแพร่กระจายไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ปากแม่น้ำ ไปจนกระทั่งชายฝั่งทะเล อย่างกว้างขวาง เนื่องจากการเป็นปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่หิวอยู่ตลอดเวลา อัตราการทำลายล้างชนิดพันธุ์ท้องถิ่นในประเทศจึงสูงตามไปด้วย จนถึงขั้นที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้ ปลาหมอสีคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ และมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ พร้อมทั้งกำหนด 5 มาตรการ 12 กิจกรรมสำคัญ ประกอบไปด้วย
มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยเบื้องต้น กรมประมง เสนอแผนใช้งบประมาณไป 181 ล้านบาท แต่ให้กลับมาทบทวนหาแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ และสั่งการเร่งด่วนให้เร่งจัดจุดรับซื้อ ปลาหมอสีคางดำ ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในราคา 15 บาท/กก. โดยใช้เงินจาก กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างที่รอของบฯกลางไปก่อน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชนให้มีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบและเริ่มเปิดจุดรับซื้อในวันที่ 22 กรกฎาคมเป็นต้นไป
มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง หรือปลาผู้ล่าชนิดอื่น ขณะนี้มีการปล่อยปลาผู้ล่าไปแล้วกว่า 226,000 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใน 7 จังหวัด มี กทม. สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี ราชบุรี สงขลา
มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอสีคางดำที่กำจัดไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น โดย กรมประมง ได้ประสาน สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ในพื้นที่สมุทรสาคร จำหน่ายให้กับโรงงานปลาป่น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ได้รับการจัดสรรโควตา 500,000 กิโลกรัม (500 ตัน) จำหน่ายไปแล้ว 491,687 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 4,916,870 บาท และบริษัท อุตสาหกรรมปลาป่นท่าจีน จำกัด รับซื้อราคากิโลกรัมละ 7 บาท แบบไม่จำกัดโควตา เพื่อผลิตปลาป่น 510,000 กิโลกรัม มูลค่า 5,022,000 บาท และยังไม่รวมการจัดซื้อเพื่อทำน้ำหมักชีวภาพของภาครัฐและเอกชนที่รับซื้อไปเป็นปลาเหยื่อ
มาตรการที่ 4 การสำรวจเฝ้าระวังการแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ แจ้งเบาะแสพิกัดที่พบการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำ ได้ที่ https://shorturl.asia/3MbkG และ มาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำ “คู่มือ” แนวทางในการรับมือกับปลาหมอสีคางดำ เมื่อตรวจพบประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วม
ส่วนมาตรการในระยะยาว การกำจัดปลาหมอสีคางดำนั้น ขณะนี้ กรมประมง ได้นำโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอสีคางดำ โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยลงแหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอสีคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ทำให้ปลาหมอสีคางดำเป็นหมัน เบื้องต้นการศึกษาจะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติ ในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในเวลา 15 เดือน (ก.ค. 2567-ก.ย. 2568) คาดว่าจะเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้ช้าสุดเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อย 50,000 ตัว โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี
“ตอนนี้เรายังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายที่อนุญาตให้นำเข้าปลาเข้ามาวิจัย ใครที่ทำผิด 2 เงื่อนไขในการอนุญาตของ คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ทางกรมมีมาตรการเพียงแค่จะ “ระงับ” ไม่ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้าปลาชนิดดังกล่าวมาใช้วิจัยและพัฒนาได้อีก แต่หลังจากนี้ ผมในฐานะกรรมาธิการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประมง เตรียมจะเพิ่มบทลงโทษทางอาญาเป็นโทษปรับและบทลงโทษทางปกครอง เพื่อให้ผู้นำเข้าต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมด้วย” นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงกล่าว
ยากกำจัดให้สิ้นซาก
มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านการประมงถึงการเร่งกำจัด ปลาหมอสีคางดำ ในขณะนี้ว่า การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวางตามแหล่งน้ำต่าง ๆ แม้กระทั่งในพื้นที่ กทม.ก็พบการระบาดของปลาหมอสีคางดำ ดังนั้นการกำจัดปลาหมอสีคางดำให้ “สิ้นซาก” จึงยากที่จะเป็นไปได้ ยิ่งมีรายงานเข้ามาว่า ปลาหมอสีคางดำ ออกสู่ทะเลชายฝั่งไปแล้ว “ก็ยิ่งยากที่จะทำลาย”
โดยวิธีที่เป็นไปได้เฉพาะหน้าขณะนี้ก็คือ 1) การกำจัดปลาหมอสีคางดำจากบริเวณที่พบตัวน้อยที่สุดไปสู่บริเวณที่พบการระบาดมากที่สุด 2) การกำจัดจะต้องดำเนินการพร้อม ๆ กันทั่วทุกแห่งที่พบตัว เนื่องจากเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก 3) การใช้ปลาผู้ล่า อาทิ ปลากะพง มากิน ปลาหมอสีคางดำ อาจไม่ได้ผล เหตุระยะเวลาการกินอาหารต่อรอบของปลากะพง ไม่เร็วพอต่อระยะเวลาแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ 4) การกำหนดจุดรับซื้อปลาหมอสีคางดำ กก.ละ 15 บาทนั้น เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณที่ขณะนี้ใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ไปพลางก่อน และ 5) การทำให้ปลาหมอสีคางดำเป็นหมัน จากโครงการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม เพิ่งเริ่มต้นการวิจัย ยังไม่อาจทราบผลการวิจัยสุดท้ายจะประสบความสำเร็จเมื่อไหร่