บ้านปูเพาเวอร์ เปิดแผนลงทุน รุก M&A แอลเอ็นจีเทอร์มินอล

อิศรา นิโรภาส
อิศรา นิโรภาส

BANPU ร่างแผน 5 ปี ฉบับใหม่ 2025-2030 “อิศรา นิโรภาส” ซีอีโอ BPP มุ่งบียอนด์เมกะวัตต์ รุกธุรกิจใหม่ “ลดปล่อยคาร์บอน” เกาะเทรนด์โลก จ่อลงทุน M&A แอลเอ็นจีเทอร์มินอล-เทรดดิ้ง ต่างประเทศ เล็งสหรัฐ-ญี่ปุ่น พร้อมปูพรมบิ๊กโปรเจ็กต์เทคโนโลยีพลังงานเตรียมคิกออฟ “แอมโมเนีย” แปลงโฉมโรงไฟฟ้า BLCP เล็งลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก “SMR”-โอกาสทำไบโอเจ็ต SAF

ปี 2567 นับว่าเป็นปีที่น่าจับตามอง สำหรับกลุ่มธุรกิจ “บ้านปู” หลังจากมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารสำคัญ โดย “นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ” มารับตำแหน่งประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU แทนนางสมฤดี ชัยมงคล มีผลตั้งแต่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นมา โดย CEO คนใหม่เข้ามารับหน้าที่บริหารธุรกิจที่มีสินทรัพย์ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำรายได้ 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 179,619 ล้านบาทในปี 2566

ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) BPP ที่แต่งตั้ง “นายอิศรา นิโรภาส” ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน ดร.กิรณ ลิมปพยอม ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operation Officer : COO) กลุ่มบริษัทบ้านปูฯ โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 เช่นกัน

“นายอิศรา” นับเป็นลูกหม้อที่ทำงานในธุรกิจบ้านปู อายุการทำงานร่วม 30 ปี นับตั้งแต่โรงไฟฟ้า BLCP ยังอยู่บนกระดาษ ดังนั้น การเข้ามารับตำแหน่งนี้ จึงสามารถดำเนินการต่อเนื่องไปได้เลย เพื่อต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ BPP จากที่ทำรายได้ 30,443 ล้านบาท ในปี 2566 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 12,262 ล้านบาท ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ลุยร่างแผน 5 ปีฉบับใหม่

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพใหญ่บ้านปูในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนกลยุทธ์ 5 ปีฉบับใหม่ ปี 2025-2030 ต่อเนื่องจากแผนฉบับเดิมที่ทำไว้ระหว่างปี 2020-2025

โดยแนวทางหลักในการจัดทำแผนยังคงยึดแนวทางการมุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกในขณะนี้ที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม คือ ก๊าซธรรมชาติ เหมือง ไฟฟ้า และเทคโนโลยีด้านพลังงาน ทั้งนี้ คาดว่าแผนใหม่จะได้ข้อสรุปภายในปลายปี 2567

ADVERTISMENT

“ปัจจุบันพอร์ตเป็นโรงไฟฟ้าแบบเดิมคอนเวนชั่นนอลอยู่เกือบ 50% BPP ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการกระชับพอร์ตโฟลิโอ เนื่องจากมีการเปลี่ยนซีอีโอใหม่ทั้งถ่านทั้งพาวเวอร์ และกำลังจะทรานส์ฟอร์มจะไปทิศทางไหนได้บ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การบียอนด์เมกะวัตต์ ทั้งเรื่องการทำระบบกักเก็บพลังงาน CCS การทำตลาดขายไฟปลีกในสหรัฐ พาวเวอร์เทรดดิ้ง ทำในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เจเนอเรเตอร์อย่างเดียวแล้ว

แต่เราทำอาชีพอื่นที่อยู่ใน Ecosystem เดียวกัน และยังมี LNG เป็นหนึ่งในหมุดหมาย และเรามีความสนใจธุรกิจ SAF (น้ำมันชีวภาพสำหรับเครื่องบิน) เพราะเรามองเห็นโอกาสในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR เราก็มีความสนใจและได้เริ่มศึกษาแล้ว”

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม หลักการในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจนั้น ยังเป็นหลักแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเราจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งความแกร่งด้านเงินสดหมุนเวียน (Stable Cash Flow) ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักที่ส่งผลให้ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความต่อเนื่อง แต่ก็จำเป็นต้องลงทุนซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจพลังงานในอนาคต

รุก M&A ธุรกิจใหม่

นายอิศรากล่าวอีกว่า โอกาสในการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับ LNG นั้น เรามองว่าการลงทุนนี้จะเป็นธุรกิจ Upsteam จากที่ตอนนี้เราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า คือ เป็นผู้ใช้ LNG ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะทำระบบการซื้อขาย Trading LNG หรืออาจจะสร้างสถานี LNG Terminal เป็นไปได้ โดยโครงการลงทุนนี้จะทำในต่างประเทศ ซึ่งมองพื้นที่ที่มีศักยภาพที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่เป็นประเทศที่อยู่ในฐานการลงทุนของเราอยู่แล้ว

“ขณะนี้กำลังมองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญที่สนใจจะไดเวสต์ธุรกิจนั้น โดยจะเป็นการลงทุนในลักษณะเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) เพราะการจะไปลงทุนสร้างใหม่เลยอาจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป หากเข้าซื้อก็จะสามารถสานต่อกิจการและสร้างรายได้กลับสู่ธุรกิจได้เลย”

กางแผนลงทุน

ในส่วนของ BPP ในปีนี้ เรามีแผนกำลังจะขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการลงทุนพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ที่จะดำเนินการในพื้นที่ระหว่างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ขนาด 768 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า Temple II ขนาด 755 เมกะวัตต์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง 2 แห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT แต่เรายังมีบริเวณพื้นที่ว่างเหลืออยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ หลังจากนั้นจะวางข้อสรุปในด้านงบประมาณการลงทุน

ก่อนหน้านี้ BPP ได้ขยายการลงทุนเชลล์แก๊สเมื่อปี 2016 ต่อเนื่องด้วยโรงไฟฟ้า และล่าสุด คือ โครงการการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration หรือ CCUS) 2 โครงการ โดยโครงการแรก คือ “Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่)” มีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุด 210,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เป็นโครงการของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กับพันธมิตร)

และโครงการ “Cotton Cove (คอตตอน โคฟ)” มีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุดที่ 45,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เป็นโครงการที่ BPP ร่วมทุนกับ BKV dCarbon ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)) ในปัจจุบัน สถานะของโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ยังไม่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)

“BPP มองถึงการนำประสบการณ์จากโครงการนี้ไปพัฒนาต่อยอดกับธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทในอนาคต เพราะการขายคาร์บอนในสหรัฐมีราคาถึง 85 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอน เป็นรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของอีโคซิสเต็ม จากเดิมมีรายได้จากการขายไฟฟ้า ซึ่งตลาดสหรัฐเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่บริษัทได้ขยายการลงทุนเข้าไป เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ตลาดค้าไฟที่สหรัฐเป็นตลาดเสรี

ทั้งประเทศเหมือนมี EGAT 12-13 แห่ง ที่เราไปทำธุรกิจอยู่เรียกว่าตลาด ERCOT โดยเฉพาะในรัฐที่เข้าไปลงทุน ในเทกซัส มีประชากร 40 ล้านคน เชิงพื้นที่ใหญ่เทียบกับประเทศไทยทั้งประเทศ ดีมานด์ไทยพีก 2 เท่าของไทย หรือประมาณ 85,000 เมกะวัตต์ในปีก่อน และเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นฐานการผลิตรถเทสลา และ Tech Company จึงนับว่ามีโอกาสมาก”

BPP เป็น Multinational

นายอิศราให้มุมมองว่า BPP ก็เปรียบเสมือน Multinational Firm ซึ่งมีความแข็งแกร่ง ก็ควรจะขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตและนำพารายได้กลับมาสู่ประเทศไทย เพราะตลาดไฟฟ้าในประเทศขณะนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตลาดที่ก้อนเค้กไม่สามารถขยายเพิ่มขึ้นได้มากเท่าไรแล้ว ทั้งยังมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กำไร (มาร์จิ้น) บางลงมาก ดังนั้น บริษัท (Firm) ขนาดใหญ่ก็ควรจะขยายออกไปสร้างการเติบโตในต่างประเทศ

“ในไทยอย่างที่ทราบ ธุรกิจไฟฟ้าโอเวอร์ซัพพลาย ไม่ได้เติบโตอย่างที่คาด แม้ว่าจะมีรูมบ้าง แต่เพลเยอร์ก็รู้จักกันหมด หลักคิดหนึ่งส่วนตัวผมมองว่า ประเทศเราเล็กไปแล้ว เพลเยอร์ต่าง ๆ แต่ก่อนยังมีพื้นที่ยืน แต่พอตอนนี้เพลเยอร์ต่าง ๆ เริ่มโต เริ่มเบียดกันแล้ว ประเทศเล็กควรให้ Firm เล็ก ๆ เขาอยู่ ส่วน Firm ใหญ่ ๆ ควรไปหากินนอกประเทศแล้วดึงเงินกลับเข้ามาในประเทศ เพราะเราแข็งแรงพอแล้ว ต้องไปหาเงินข้างนอก ซึ่งก็เป็นแนวทางที่สอดรับกับผู้บริหารชุดเก่าทำไว้”

ซึ่งการลงทุนของ BPP ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการลงทุนไปยัง 8 ประเทศ ครอบคลุมในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ และไทย ซึ่งทำให้เรามีความคุ้นเคยกับการทำธุรกิจลักษณะนี้อยู่แล้ว

“สิ่งสำคัญอีกด้านหนึ่งของผู้บริหาร คือ การวาง Succession Plan ต้องมีการวางคนด้วย เพราะต่อให้แผนเขียนมาดีเท่าไร หากไม่มีคนทำก็จบ สำหรับ BPP ตอนนี้เราคือโฮลดิ้งคอมปะนี มีคน 35-36 คน ทำหน้าที่หลัก คือ Asset Management และ Business Development และแบ็กออฟฟิศ ส่วนคนที่ทำหน้าที่ Operate จริงจะอยู่ที่ต่างประเทศ

โดยบริษัทที่อยู่ภายใต้ BPP ยังมีจำนวนมาก เช่น ที่โรงไฟฟ้าจีน 900 กว่าคน ออสเตรเลียเป็นโซลาร์ 2 โรงฝากไว้ที่ธุรกิจถ่านหิน ญี่ปุ่น 20 คน สปป.ลาว 3,000-4,000 คน เป็นธุรกิจไฟฟ้า 600-700 คน ที่เหลือเป็นเหมือง อเมริกา 50-60 คน ที่ BLCP 280 คน”

ชูแอมโมเนียแปลงโฉม BLCP

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง จากการที่ร่างแผน PDP2024 ใหม่จะยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่า 51% ดังนั้น ในส่วนของโรงไฟฟ้า BLCP ที่ จ.ระยอง ซึ่งยังเหลือระยะเวลาดำเนินการตามแผนประมาณ 8 ปี จะต้องเตรียมปรับตัว

โดยขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมจะอิมพลีเมนต์การใช้แอมโมเนียโควไฟลิ่ง หรือการแปลงใช้ไฮโดรเจนในรูปแบบแอมโมเนียมาเผา เพื่อช่วยให้พลังงานความร้อน ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยทำให้ BLCP สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก เพราะโครงสร้างทางเคมีของแอมโมเนียไม่ใช่สารประกอบไฮโดรคาร์บอน แต่เป็นไฮโดรเจน

ดังนั้น ถ้าเผาแอมโมเนีย 5% ก็จะเท่ากับเราสามารถลด CO2 ได้ 5% เช่นกัน ซึ่งโครงการนี้บริษัทร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น คือ มิตซูบิชิและเจร่า ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายหมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งทางบริษัทเขามีความก้าวหน้า โดยได้เริ่มเผาแอมโมเนียไปถึง 20% แล้ว เพื่อจะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต