‘อ.เจษฎา’ ย้อนถาม ‘กรมประมง’ ใส่ข้อมูลการส่งออก ‘ปลาหมอเทศข้างลาย’ จากชิปปิ้งผิดพลาด 4 ปีเลยหรือ
วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า อ่านข่าวนี้ ด้วยความแปลกใจ (ข่าว) อึ้ง !! กรมประมง อ้างชิปปิ้ง กรอกข้อมูลผิด 4 ปี ‘ปลาหมอคางดำส่งออก’ มีคำถามตามมาเยอะเลยครับ หึ ๆ
– สรุปว่า ช่วงปี พ.ศ. 2556-2559 มีข้อมูลระบุจากกรมประมง ว่า มีข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำ จาก 11 บริษัทไปยัง 17 ประเทศ จำนวนกว่า 2 แสนกว่าตัว (ผมเห็นเอกสารไฟล์เอ็กเซลแล้ว ซึ่งระบุว่าเป็น “blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron)” แต่ชื่อไทยใช้ว่า “ปลาหมอเทศข้างลาย” ครับ)
– แต่อธิบดีกรมประมงให้ข้อมูลว่า น่าจะเป็นความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งที่ส่งออก ที่ใส่ชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อสามัญ ของปลาหมอเทศข้างลายผิด ? (ห่ะ ? . ง่าย ๆ อย่างนั้นเลยเหรอครับ)
– เกิดคำถามว่า เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งจะใส่ข้อมูลผิด ติดต่อกันทั้ง 11 บริษัท ทุกรอบการส่งออก ตลอด 4 ปี เลยเหรอ ? (ส่งออกกันเป็น 100 กว่ารอบเลยมั้งครับ ถ้าจำไม่ผิด)
– แล้วกรมประมง ไม่เอะใจตรวจสอบเลยหรือ ตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งออก ปล่อยให้ “กรอก” ข้อมูลผิดพลาดได้อย่างไร ตลอด 4 ปี ?
– จะมั่นใจได้อย่างไร ว่าปลากว่า 2 แสนตัวนั้น ไม่มี “ปลาหมอคางดำ” ออกไปด้วย
– แล้วพอหลังปี 2561 ที่มีประกาศห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง และส่งออกปลาหมอคางดำแล้ว .. ก็ไม่มีการส่งออก “ปลาหมอคางดำ” อีกเลย … ถ้าเป็น “ปลาหมอเทศข้างลาย” จริง ผู้ส่งออกก็น่าจะยังส่งออกได้ (คือหลังปี 2559 ก็ไม่มีการส่งออกแล้วครับ)
– แล้วพวกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่เคยเพาะพันธุ์ไว้ส่งออกเนี่ย มีการจัดการทำลายอย่างไร เอาไปปล่อยลงแม่น้ำลำคลองหรือเปล่า ?
ท่าทางปริศนาเรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำในอดีตจะยังคงเป็นคำถามคาใจกันอีกนานครับ หึ ๆ
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ มีความเป็นไปได้ว่าปลาที่ส่งออกมีโอกาสเป็นปลาหมอคางดำมากกว่า และยิ่งน่าสงสัยว่า หลังจากปี 2561 ที่กรมประมงประกาศห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง และส่งออกปลาหมอคางดำแล้ว ไม่มีการส่งออกอีกเลย ถ้าปลาเป็นปลาหมอเทศข้างลายจริง ผู้ส่งออกก็น่าจะยังส่งออกได้ ไม่จำเป็นต้องหยุดหลังจากประกาศห้ามเลย สำคัญไปกว่านั้นคือ หลังจากปี 2559 ที่ไม่มีการส่งออกอีก แล้วปลาสวยงามที่ได้เพาะเลี้ยงไว้ รวมถึงพ่อแม่พันธุ์ปลาที่นำมาเพาะพันธุ์
ผู้ประกอบการมีการจัดการกับปลาเหล่านั้นอย่างไร แล้วปลาทั้งหมดอยู่ที่ไหน เพราะหากการจัดการคือการปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง ก็แทบไม่ต้องสงสัยแล้วว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำนั้นมาจากไหน และเมื่อดูแหล่งที่อ้างว่าพบการระบาดของปลาก็ยังมีความเป็นไปได้ เพราะแหล่งเพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีแหล่งน้ำที่สามารถเชื่อมต่อมาถึงจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาครได้
ข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำจึงต้องได้รับการตรวจสอบหาความชัดเจน เพื่อให้สิ้นสงสัยมากกว่าจะการอ้างว่า เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งกรอกข้อมูลผิดมาตลอด และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรยอมรับถึงความบกพร่องในระบบการตรวจสอบติดตาม เพื่อวางแนวทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต