รับน้ำเหนือระลอกใหม่ กรมชลประทานพร่องน้ำเจ้าพระยาลงอ่าวไทย-เฝ้าระวังแม่กลอง

น้ำเหนือระลอกใหม่ กรมชลประทานพร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแม่กลอง รับมือฝนเพิ่มขึ้น

วันที่ 29 กรกฎาคม 2567 นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่ากรมชลประทานจะอาศัยในช่วงที่ปริมาณน้ำเหนือลดลง ใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการบริหารจัดการ เร่งพร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ระบายลงสู่อ่าวไทยให้มากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับน้ำเหนือในช่วงระยะเวลาหลังจากนี้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง

“ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนจะมีฝนตกชุก โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่วนการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น จะรับเข้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ และใช้ระบบชลประทานรวมทั้งสถานีสูบน้ำในพื้นที่ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด”

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้มีการติดตาม ประเมิน และเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น จนอาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จะแจ้งให้ทราบในระยะต่อไป ตามนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อีกด้านหนึ่งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณท้ายเขื่อนวชิราลงกรณ ในพื้นที่ อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ และ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อยจำนวนมาก จนไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ และ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

สำนักงานชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยราชการจังหวัดอำเภอ ท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถขุด รถตัก รถบรรทุกน้ำ เรือกำจัดวัชพืช และเครื่องสูบน้ำ รวม 113 หน่วย พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอดเวลา ปัจจุบัน (29 ก.ค. 67) ระดับน้ำในแม่น้ำแควน้อยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไป

Advertisment

สำหรับเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อน เพื่อช่วยลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนบนและรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์น้ำทางพื้นที่ตอนบนเริ่มคลี่คลายแล้ว จึงได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อน ให้เหลืออยู่ในอัตรา 1,160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำแม่น้ำแม่กลอง

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ไปยังจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อนแม่กลอง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม ให้ประชาชนที่มีที่พักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ ขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินขึ้นที่สูง เพื่อลดความเสียหาย จากการระบายน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และขอให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisment