ไทยออยล์ อัพเดตกรณีผู้ใช้แรงงานบริษัทผู้รับเหมาชุมนุมหน้าโรงกลั่น

ไทยออยล์ อัพเดตความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า (UJV) ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนดรวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท

วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยรายงานความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (Petrofac), Saipem Singapore Pte. Ltd. (Saipem) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (Samsung) ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนดรวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ตามที่มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งได้รวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาตามกำหนด จากการสอบถามของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) เข้าใจว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าวเป็นพนักงานชาวไทยและเวียดนาม ของ บริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด (One Turn Ten) บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด (EMCO) และ บริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (Thai Fong)

ADVERTISMENT

ซึ่งทั้ง 3 บริษัทเป็นนายจ้างและเป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่งของ บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (Sinopec) ที่เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า UJV: Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”), Saipem Singapore Pte. Ltd. (“Saipem”) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (“Samsung”) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้กับ บริษัทฯ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าจ้างจากนายจ้างทั้ง 3 บริษัท (One Turn Ten, EMCO, Thai Fong) รวมถึง Sinopec และ UJV ด้วย โดยทั้ง 3 บริษัทไม่ได้รับค่าจ้างจาก Sinopec และทาง Sinopec เองก็ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างช่วงจาก UJV ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมารายย่อยต่าง ๆ รวมถึง 3 บริษัทข้างต้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายค่าตอบแทนให้ UJV ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาจ้างเหมาทำของ ออกแบบวิศวกรรมการจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) อย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว ซึ่ง UJV ได้ไปว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงและมีสัญญาจ้างกับผู้รับเหมาช่วงอีกประมาณ 60 ราย รวมถึง Sinopec ด้วย

ADVERTISMENT

ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วงมารวมตัวชุมนุมที่หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาช่วง (Sinopec) รวมถึง UJV ที่จะต้องรับผิดชอบในการชำระค่าจ้างและดำเนินการเพื่อให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลับไปทำงานได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยได้ประสานให้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของผู้รับเหมาช่วง และผู้แทน UJV มาอย่างต่อเนื่อง จากการเจรจาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

ADVERTISMENT

แต่บริษัทฯ ได้รับแจ้งว่าผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วง ผู้แทนของผู้รับเหมาช่วง และผู้แทน UJV มีความเข้าใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและน่าจะบรรลุข้อตกลงได้และได้นัดหมายการเจรจาครั้งต่อไปในวันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) เมื่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับทราบผลความคืบหน้าในการเจรจาและการนัดหมายครั้งต่อไป จึงได้สลายการชุมนุม เวลา 20.30 น. วันที่ 26 กรกฎาคม 2567

โดยในวันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) ได้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานมารวมตัวชุมนุมกันอีกครั้ง เพื่อรอฟังความคืบหน้าจากการประชุมร่วมกันระหว่าง Sinopec UJV นายจ้างของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนจากภาครัฐ และ ผู้แทนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อเจรจาหาข้อยุติการชำระเงินค้างจ่ายกับผู้รับเหมา

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการดูแลและมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยของโรงกลั่นไทยออยล์ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำแผนฉุกเฉินและการส่งกำลังพลเพื่อเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ควบคุมการเข้า-ออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าการรวมตัวชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ