
“ซีพีเอฟ” เตรียมดำเนินคดี ผู้เผยแพร่-ผู้ใช้ ภาพบิดเบือนข้อเท็จจริงกรณีปลาหมอคางดำ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคม กระทบต่อชื่อเสียงองค์กรให้ได้รับความเสียหาย เตรียมพิจารณาการดำเนินการขั้นต่อไป เตือนประชาชนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ พร้อมเรียกร้องสังคมให้ความเป็นธรรมตรวจสอบบริษัทอื่นด้วย
นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กร บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPF พร้อมด้วย นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และนายสรรพีระ นิลขำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักกฎหมาย ร่วมแถลงข่าวการใช้ภาพเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริงกรณีปลาหมอคางดำว่า ในช่วงที่ผ่านมาและในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 มีการใช้รูปภาพและข้อมูลประกอบการสื่อสารบนเวทีสาธารณะและสื่อโซเชียล “ที่เป็นเท็จ” และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท
“บริษัทต้องขอโทษด้วยที่มีความล่าช้าในการชี้แจงเรื่องนี้และต้องขออภัยต่อคณะกรรมาธิการ ที่บริษัทไม่ได้ไปร่วมประชุมเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว บริษัทจึงต้องมีกระบวนการหาข้อเท็จจริงก่อน ทั้งนี้ บริษัทได้รวบรวมข้อมูลอย่างระมัดระวังและเป็นระบบ โดยจะนำข้อมูลไปรายงานต่อคณะกรรมาธิการ หากมีการขอข้อมูลสอบสวนเข้ามา เราก็พร้อมจะชี้แจงและนำบางส่วนมาเปิดเผยในวันนี้ และบางส่วนต้องนำมาพิจารณาตามกฎหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงขององค์กร” นางกอบบุญกล่าว
ทั้งนี้ ตัวอย่างภาพเท็จและข้อมูลเท็จบางส่วนมีดังนี้ ภาพแรก เป็นภาพที่สร้างความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทอย่างมาก เป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นสภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สาร ซึ่งใช้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำปี 2554 ถึงปี 2557 และกล่าวอ้างว่า “เลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ 2553 ถึง 2560” ซึ่งขอชี้แจงว่า เป็นการใช้ภาพและข้อมูลเท็จ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ ฟาร์มยี่สาร และหลังจากที่บริษัทตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2554 บริษัทได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดแล้ว พร้อมยืนยันว่า บริษัทไม่มีกิจกรรมใด ๆ เกี่ยวกับปลานี้อีกเลย
ดังนั้นการกล่าวอ้างว่า มีการเลี้ยงปลาหมอคางดำต่อเนื่องถึงปี 2560 จึงเป็นข้อมูลเท็จเสมือนการโกหกที่สร้างความเข้าใจผิดเชิงลบในสังคมต่อบริษัท
ภาพที่สอง เป็นภาพที่กล่าวอ้างว่า เป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์/ผสมพันธุ์แล้วนำไปอนุบาลในกระชังในฟาร์มยี่สาร โดยมีตัวอักษรเล็ก ๆ อยู่ใต้ภาพ ความเป็นจริงแล้ว สถานที่นี้ไม่ใช่ ฟาร์มยี่สาร และกิจกรรมดังปรากฏในภาพนี้ ไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาตามวิธีปฏิบัติของบริษัท สำหรับภาพสุดท้าย เป็นภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณฟาร์ม โดยมีการระบุผังของฟาร์ม ซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ
กล่าวคือ กรอบสีแดง ไม่ใช่บ่อเลี้ยงปลาตามที่กล่าวอ้าง ความเป็นจริงคือ เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ขณะที่กรอบสีเหลืองที่ระบุว่าเป็นบ่อผสมพันธุ์ปลาและบ่ออนุบาลปลา ตามที่กล่าวอ้างนั้น ความจริงคือเป็นบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล
นอกจากรูปภาพที่บิดเบือนบางส่วนที่นำมาแสดงในวันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อความบิดเบือนอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป “ผู้ที่ให้รูปและข้อมูลที่เป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง ควรต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ร่วมกับผู้ที่ใช้ข้อมูลและรูปภาพดังกล่าวในการสื่อสารในเวทีสาธารณะและสื่อโซเชียลต่าง ๆ ซึ่งบริษัทพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย” นางกอบบุญกล่าว
พร้อมกันนี้ บริษัทเห็นด้วยว่า ควรมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางสังคมเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เนื่องจากมีหลายบริษัทที่ CPF ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กลับมีกิจกรรมค้าขายปลาชนิดนี้ในช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้สังคมให้ความเป็นธรรมและควรมีการสอบหาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อนำข้อเท็จจริงมาร่วมกันพิจารณาหาแนวทางร่วมมือแก้ไขปัญหา ตลอดจนหาแนวทางป้องกันการแพร่กระจายในระยะยาว “บริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบหาข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างสุจริต
ขณะเดียวกันต้องขอปกป้องชื่อเสียงองค์กรจากการใช้ข้อมูลและหรือรูปภาพกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจผิด”
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนิน โครงการความร่วมมือสนับสนุนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ 5 โครงการนั้น มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมมือสนับสนุน กรมประมง ที่มีกิจกรรมการจับปลาและปล่อยลูกปลากะพง ซึ่งพบว่าในบางพื้นที่มีปริมาณปลาลดลงอย่างมาก ล่าสุดได้เข้าร่วมกับกรมประมงกิจกรรมจับปลาและมอบปลากะพงเพิ่มเติมกับ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม
และวันนี้ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า ปริมาณปลาลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นบริษัทยังได้รับการติดต่อแสดงความจำนงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 2-3 แห่ง ในการร่วมมือการทำวิจัย ทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเพื่อหาแนวทางควบคุมประชากรปลาในระยะยาว
ทั้งนี้ 5 โครงการที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดตัวไปวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น ประกอบไปด้วย โครงการที่ 1 ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่น
โครงการที่ 2 ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 45,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี โครงการที่ 3 ร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง
โครงการที่ 4 การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจเพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
และโครงการที่ 5 ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม