ส่องเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ส่งออกฟื้น-ลงทุน อีวี ไหลเข้าอู้ฟู่

export

แม้ว่าล่าสุดกระทรวงการคลังจะปรับเพิ่มประมาณเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่าจะขยายตัว 2.7% เพิ่มจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 2.4% โดยคาดการณ์ว่าจะมีแรงสนับสนุนจากภาคบริการการท่องเที่ยว การส่งออก มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.7% และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ครึ่งปีแรก

ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” โดยภาพรวมการส่งออกของไทยขยายตัว มีมูลค่า 145,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% ซึ่งไทยยังประสบภาวะขาดดุลการค้า 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสินค้าที่ส่งออกขยายตัวช่วง 6 เดือนแรกคือ กลุ่มสินค้าเกษตร ขยายตัว 7.6% อาทิ ข้าว ขยายตัว 48% ยางพารา ขยายตัว 30% ไก่แปรรูป ขยายตัว 6.2% กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.3% อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 26.6% ผลไม้กระป๋องและแปรูป ขยายตัว 15.6% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 2% อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ ขยายตัว 43% เครื่องคอมพิวตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัว 23.2% เครื่องจักกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 12.4% เป็นต้น

สำหรับตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก แม้ว่าตลาดหลักจะยังคงเป็นบวก 2.4% แต่ตลาดหลักอย่าง “จีน” ติดลบ 1.2% และญี่ปุ่น ติดลบ 7.5% สวนทางกับภาพรวมกลุ่ม ขณะที่ตลาดรองเติบโตเป็นบวก 4.3% แต่ยังมีเกาหลีใต้ที่ติดลบ 6.4% ไต้หวัน ติดลบ 1.9% แอฟริกา ติดลบ 4.7% และสหราชอาณาจักร ติดลบ 15.3%

จับตาส่งออกครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ครึ่งปีหลัง เพราะจะเริ่มสังเกตว่าการส่งออกของไทยเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำเข้ามูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% ไทยเกินดุลการค้า 218 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.3% เป็นการกลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน สำหรับสินค้าที่หดตัว คือ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพียง 0.3% ถือว่าน้อยมาก เพราะสินค้าหลักในกลุ่มนี้ติดลบ เช่น สินค้ากลุ่มยานยนต์ ติดลบ 0.7% อุปกรณ์และส่วนประกอบ ติดลบ 21% ยานพาหนะอื่น ๆ ติดลบ 8.5% เครื่องใช้ไฟฟ้า ติดลบ 8.6% อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ติดลบ 4.3% วัสดุก่อสร้าง ติดลบ 12.6% สิ่งทอ ติดลบ 4.1% ผลิตภัณฑ์ยาง ติดลบ 7.9% และเคมีภัณฑ์ ติดลบ 5.5% เป็นต้น

Advertisment

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเดือน มิ.ย. มาจากบรรยากาศการค้าโลกที่เริ่มวิตกต่อการใช้มาตรการทางการค้า ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐ และในอีกหลายประเทศ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนค่าระวางเรือ ตลอดจนปัญหาภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงแนวโน้มส่งออกครึ่งปีหลังว่า ส่งออกจะฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าในภาคการเกษตร อย่างข้าว ยางพารา ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เช่นเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรม อย่างรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

Advertisment
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจประเทศที่เป็นคู่ค้าไทย “กำลังฟื้นตัว” หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เป็นปัจจัยลบระหว่างทางมากระทบ บวกกับแรงหนุนจาก “ค่าเงินบาทอ่อนค่า” เป็นแรงจูงใจให้คู่ค้าซื้อสินค้าของไทย จะมีส่วนช่วยให้แนวโน้มการส่งออกปี 2567 โตได้ 1-2% โดยมีค่าเฉลี่ยเดือนละ 23,297-24,248 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหากคำนวณเป็นเงินบาทน่าจะเป็นปีที่ทำได้เกิน 10 ล้านล้านบาท

FDI ทะลัก 4.5 แสนล้าน

อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขรายได้จากเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ที่เข้ามาจะเป็นอีกส่วนสำคัญคือแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดเงินไหลเวียนเข้ามา ซึ่งภาพการลงทุนครึ่งปีแรก “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มียอดขอรับส่งเสริม การลงทุน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%

สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาล รวมทั้งผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐ

ซึ่งจะเห็นทั้งกิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้า กิจการ Data Center 3 โครงการ กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ ซึ่งมีทิศทางที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี

กราฟฟิก export

ค่ายรถยนต์เทงบฯลงทุนพุ่ง

ขณะเดียวกัน มาตรการจากบีโอไอด้วยการส่งเสริมรถยนต์ประเภทไฮบริด (HEV) เกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพราะจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง เราอาจจะเห็นค่ายรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ราย ตัดสินใจลงทุนใหญ่อีกครั้งด้วย “เม็ดเงินสูงถึง 50,000 ล้านบาท” ภายใน 4 ปีนับจากนี้ หลังจากที่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV ด้วยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วงปี 2571-2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก 2 ปี ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ

ซึ่งปัจจุบันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จะเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 8% สำหรับรถที่ปล่อยคาร์บอน เท่ากับหรือน้อยกว่า 100 g/km หากปล่อย 101-120 g/km จะเก็บอยู่ที่ 16%

แม้ว่าการยื่นขอบีโอไอจะยังไม่เห็นการลงทุนทันที แต่มันกำลังสะท้อนถึงแนวโน้มในอนาคตได้เป็นอย่างดี ว่านับจากนี้จะมีเม็ดเงินจำนวนมากจากภาคอุตสาหกรรมนี้และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอัดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

นักวิชาการยังห่วง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าปัจจัยภายนอกทั้งสงครามการค้า (เทรดวอร์) สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามฮามาส-อิสราเอล การตั้งกำแพงภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่าง CBAM บวกกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายภายในประเทศ กลับเป็นแรงซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “ไร้อนาคต” เป็นช่วงขาลงของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะไทยหรือทั่วโลกทุกอย่างดูไร้ทิศทาง บวกกับยังต้องจับตาปัจจัยนอกประเทศ จาก “การเลือกตั้งสหรัฐ”

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่สหรัฐน่าจะยัง “เล่นเกมท้าอำนาจกับจีนเช่นเดิม” ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลสะท้อนมาที่ไทยด้วย นำมาสู่การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อส่งออกไปสหรัฐ รวมถึงการส่งออกสินค้ามายังอาเซียน

แต่ก็ใช่ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่มีปัจจัยบวก เพราะพระเอกอย่างการส่งออก และการลงทุน จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง โดยแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่เริ่มโง่หัวขึ้นโตได้ 2% ดิจิทัลวอลเลตที่จะออกมาในช่วงปลายปี งบประมาณเบิกจ่ายของรัฐบาล ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ปี 2567 GDP ของไทยเองยังคงสามารถโตได้ถึง 2.6% ได้