ปลัดเกษตรฯ หารือแนวทางการแก้ไขลำไยรับมือผลผลิตพลัง 1.4 ล้านตัน เร่งประสานพาณิชย์ทำตลาดสินค้าลำไยอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมนำระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจให้กับเกษตรกร
วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขลำไยทั้งระบบ
โดย 1) การตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานภาครัฐกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการรับซื้อลำไยสดช่อ 2) การรับซื้อลำไยแบบตะแกรงร่อนให้เป็นไปตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ 3) การติดป้ายราคารับซื้อลำไยสดและลำไยร่อนร่วง
ซึ่งทั้ง 3 ข้อ ที่ประชุมได้มอบหมายคณะทำงานพัฒนาตลาดและการตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ลำไย ประสานกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการกำกับติดตามและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการด้านการตลาดสินค้าลำไยดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
4) การทำสัญญาซื้อ-ขาย ผลผลิตลำไยทั้งสวนหรือเป็นกิโลกรัม ให้มีหน่วยงานหรือองค์กรกำกับดูแลในการทำนิติกรรมสัญญาซื้อ-ขาย ซึ่งสามารถทำได้โดยอ้างอิงระบบเกษตรพันธสัญญา มีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแล ทั้งนี้ ระบบเกษตรพันธสัญญาจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันตลาดการค้าเสรีได้ และ 5) การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และงบประมาณการทำโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซต์,
ห้องรมกำมะถัน, ห้องเย็นเก็บผลผลิต และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเชิงอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงการวิจัยลำไย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าลำไยในสถาบันเกษตรกรฤดูการผลิต ปี 2567 โดยที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 3/2567 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว
สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์การผลิตลำไย ปี 2567 โดยปริมาณผลผลิต คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล รวมทั้งประเทศ จำนวน 1,432,727 ตัน แบ่งเป็น ในฤดู 695,656 ตัน และนอกฤดูกาล 737,071 ตัน เนื้อที่ให้ผล คาดว่าจะลดลงจากปีที่แล้ว โดยมีเนื้อที่รวม 1,656,355 ไร่
เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือและภาคกลาง เกษตรกรโค่นต้นลำไยอายุมากให้ผลผลิตน้อยไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ทุเรียน เงาะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็นเพียงพอตั้งแต่ปลายปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 ส่งผลให้ลำไยแทงช่อดอกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับในปีที่แล้วลำไยราคาดี จึงจูงในให้เกษตรกรใช้สารกระตุ้นการออกดอก และบำรุงต้นลำไยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าลำไยในสถาบันเกษตรกร ฤดูกาลผลิต ปี 2567 และโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้เพื่อยกระดับราคาของสถาบันเกษตรกร ปี 2567
รวมถึง Model การกระจายผลผลิตลำไยในฤดูกาล โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าลำไย แนวทางการจำหน่ายผลผลิตผ่านแผนกธุรกิจของ อ.ต.ก. และการจำหน่ายสินค้าผ่าน Modern trade หรือช่องทางออนไลน์ต่อไป