เปิดแผน 3 ปี แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ ไทยเข้าสู่สภาวะลานีญาแล้ว

เปิดผลประชุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 หลังนายกฯเศรษฐาเป็นประธาน พร้อมเร่งรัดจัดทำแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ และโครงการสำคัญ แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ เตรียมเสนอ ครม.ภายในสิงหาคม 2567 นี้

วันที่ 5 สิงหาคม 2567 รายงานข่าวจากกรมชลประทานระบุว่า วันนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มาเป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) : Gistda เข้าร่วม ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน

โดยที่ประชุมได้ติดตามร่างแผน 3 ปีด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการคือ

1) มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดการยกร่างแผนให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อ ครม.ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และให้ สทนช.รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ

Advertisment

2) มอบกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

3) มอบ สทนช.ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการดำเนินงาน ทั้งในเรื่องภารกิจการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และการขอใช้พื้นที่ที่เป็นที่ดินของรัฐ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย

Advertisment

ไทยเข้าสู่สภาวะลานีญาแล้ว

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ขณะนี้ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงกันยายน 2567 และมีแนวโน้มต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ

โดยกรมชลประทานได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่าจากสถานีโทรมาตรมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำท่ารายชั่วโมง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรสนับสนุนอื่น ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝนปี’67 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานมีแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อป้องกันอุทกภัยในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 3 ปี (ปี 2564-2566) ทั้งลุ่มน้ำยม-น่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานจำนวน 3 โครงการ โครงการที่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569 จำนวน 5 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการติดตามเร่งรัดกระบวนการศึกษาจำนวน 2 โครงการ

ย้ำกรมชลประทานเตรียมความพร้อม

ด้านร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 1-17 โดยติดตามการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ โดยเน้นย้ำกรมชลประทานให้เตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องเครื่องจักร เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน