สนค. ติดตามการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินของจีน พบเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 และปัจจุบันผลิตได้กว่า 1 ล้านตันต่อปี หวังลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าพลังงาน เตือนไทยต้องระวัง เหตุจีนเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลัง สัดส่วนเกิน 50%
วันที่ 5 สิงหาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพบว่า เริ่มผลิตเอทานอลจากถ่านหินเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2555 และปัจจุบันมีกำลังการผลิตเอทานอลจากถ่านหินกว่า 1 ล้านตันต่อปี
โดยในปี 2566 จีนเป็นผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 5 ของโลก ผลิตได้ 3,596.14 ล้านลิตร รองจาก สหรัฐ 58,673.88 ล้านลิตร บราซิล 31,267.50 ล้านลิตร สหภาพยุโรป 5,450.99 ล้านลิตร และอินเดีย 5,413.13 ล้านลิตร
ทั้งนี้ ประเทศผู้ผลิตเอทานอลที่สำคัญของโลกอย่างสหรัฐ และบราซิล ยังคงใช้ข้าวโพด อ้อย หรือพืชพลังงานอื่น ๆ อาทิ มันสำปะหลัง และข้าวฟ่าง เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต โดยการใช้วัตถุดิบแบบดั้งเดิม ส่งผลกระทบต่ออุปทานพืชอาหารของมนุษย์ รวมทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาพืชเศรษฐกิจในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จีนเร่งพัฒนาการผลิตเอทานอลโดยใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดและมันสำปะหลังจากต่างประเทศ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความต้องการใช้เอทานอลจากถ่านหินของจีน มีด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยขนาดประชากรที่มากเป็นอันดับต้นของโลก และจากขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ทำให้จีนมีความต้องการด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงจำเป็นต้องแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือก ซึ่งจีนมีปริมาณถ่านหินสำรองในประเทศเป็นจำนวนมาก และยังมีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การลดการใช้ถ่านหินในประเทศ เพื่อลดมลพิษของจีน เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนหันมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินอย่างจริงจัง
รวมถึงนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ ในด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลจากถ่านหินของรัฐบาล และการกำหนดนโยบายที่ช่วยสร้างอุปสงค์ของเอทานอลจากถ่านหินภายในประเทศ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันเชื้อเพลิงชีวภาพ E10 สู่ตลาดยานยนต์ภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินของจีนจะก้าวหน้าไปมาก แต่การพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) สามารถลดต้นทุนการผลิต ให้สามารถแข่งขันได้กับการผลิตเอทานอลจากข้าวโพดและมันสำปะหลังนั้น ยังต้องใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนา
จีนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอล
นายพูนพงษ์กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากถ่านหินของจีน เพื่อลดแรงกดดันต่ออุปทานพืชอาหาร สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และลดการพึ่งพาการนำเข้า จะทำให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อใช้ผลิตเอทานอลของจีนอาจลดลงในอนาคต รวมทั้งหากจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลที่มีประสิทธิภาพสูง
เกิดการประหยัดต่อขนาด และมีราคาที่แข่งขันได้ เมื่อเทียบกับการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบทางการเกษตร อาจทำให้เอทานอลจากถ่านหินเข้ามาแทนที่เอทานอลที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อราคาเอทานอลในตลาดโลก และราคาขายเอทานอลในประเทศของไทยได้ในที่สุด
“จากแนวโน้มดังกล่าว หากในอนาคตจีนลดการนำเข้ามันสำปะหลังลง ไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัว แสวงหาตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงตลาดเดียว รวมถึงขยายฐานการตลาดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้มันสำปะหลังในประเทศไทย
โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม อาทิ ผลิตเม็ดไบโอพลาสติก และอาหารสุขภาพ ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง การส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น” นายพูนพงษ์กล่าว
ไทยส่งออกมันสำปะหลัง
ข้อมูลจากแดชบอร์ดวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Dashboard) ของเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ระหว่าง ม.ค.-มิ.ย. 2567 ไทยส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ รวมมูลค่า 1,718.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.98% โดยเป็นการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ มูลค่า 889.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.4% แป้งมันสำปะหลังแปรรูป มูลค่า 469.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.49% มันเส้น มูลค่า 328.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 63.13% มันอัดเม็ด มูลค่า 3.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 86.67% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ มูลค่า 27.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 34.64%
โดยจีนเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 52.01% ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซียสัดส่วน 10.09% ญี่ปุ่น 9.21% ไต้หวัน 5% และสหรัฐ 3.70% ตามลำดับ