การเมือง-เศรษฐกิจ ฉุดเชื่อมั่นประชาชน-ธุรกิจลดต่อเนื่อง จับตาคดีก้าวไกล-นายกฯ

การเมือง-เศรษฐกิจ ฉุดเชื่อมั่นประชาชน-ธุรกิจ ลดลงต่อเนื่อง จับตาคดีก้าวไกล-นายกฯ

หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค-ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ก.ค. 2567 ปรับลงลงต่อเนื่องเหตุกังวลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ-ปัญหาการเมือง จับตาคดีพรรคก้าวไกล-นายกฯ กระทบความเชื่อมั่น

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ 57.7 แสดงให้เห็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาลง จากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง หากมีการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

โดยยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวการพิจารณาคดี ตัดสินของพรรคก้าวไกลและนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนวนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และคาดว่าอาจจะเกิดสุญญากาศในระยะสั้น

“คดีของนายกรัฐมนตรี หากมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นเป็นขาลง เพราะต้องติดตามการเปลี่ยนตัวนายกฯ การพลิกขั้วอำนาจทางการเมือง ส่วนกรณีที่หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคก้าวไกล เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่รุนแรง การเมืองจะไม่มีสัญญาณเปลี่ยนแปลงมากมาย”

อย่างไรก็ดี จากปัจจัยทางการเมืองจะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ได้ประมาณ 0.3% แต่ทั้งนี้หอการค้าประเมินว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.4 ถึง 2.6% ค่ากลางอยู่ที่ 2.5% โดยเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในการฟื้นตัวและยังมีความเสี่ยง หากไม่ได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังมีปัจจัยจากภายนอกกระทบ ก็จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจภายในปีนี้

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเลต มองว่าหากมีการเริ่มนำไปใช้จ่ายทันทีในเดือนแรก จะมีเม็ดเงินอย่างน้อย 2-2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของ 5 แสนล้านบาท ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ จากนั้นในช่วงเดือนที่ 2 และ 3 หรืออยู่ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2568 ก็จะมีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเลตลงสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมเข้ามาอีก รวมแล้วเป็น 3-3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้

ADVERTISMENT

“ถ้ามีดิจิทัลวอลเลตเข้ามาจะช่วยเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้โตเพิ่มขึ้น 0.5-0.7% และหากรวมทั้งปี 2567 คาดเศรษฐกิจจะขยายตัวในกรอบ 2.6-2.8%”

เชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 2567 อยู่ที่ 57.7 ลดลงจาก 58.9 ในเดือน มิ.ย. 67 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย 2566 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพสูง รวมไปถึงปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อิสราเอลกับฮามาสที่มีผลเชิงลบ และยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นทั้งปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย

ADVERTISMENT
วาทิตร รักษ์ธรรม
วาทิตร รักษ์ธรรม

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 51.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 54.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 66.8 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ในรอบ 11 เดือนทุกรายการ เมื่อเทียบดัชนีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค เช่น โครงการดิจิตอลวอลเลต 10,000 บาท ที่มีการเปิดให้ลงทะเบียน รัฐบาลออกภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรดี การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 2.7% ราคาน้ำมันขายปลีกลดลง เป็นต้น

ส่วนปัจจัยลบที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค เช่น เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้า ค่าครองชีพสูงไม่สอดคล้องกับรายได้ ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกล และความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน การส่งออกที่ผ่านมาลดลง ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ เงินบาทแข็งค่า เป็นต้น

เชื่อมั่นเอกชนหดตัว

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการฯฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกรกฎาคม 2561 สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 369 ตัวอย่าง พบว่าอยู่ที่ระดับ 52.2 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นหอการค้าฯ เช่น ยังมีความกังวลในความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน นโยบายด้านเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ปัญหาค่าระวางเรือ ค่าแรงขั้นต่ำ เงินบาทแข็งค่า รวมไปถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศ

วชิร คูณทวีเทพ
วชิร คูณทวีเทพ

ส่วนปัจจัยบวกที่มีผล เช่น โครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องการให้ดำเนินการแก้ไข คือมาตรการกำกับแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การดูแลต้นทุนราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น ควบคุมราคาปัจจัยการผลิต แนวทางสนับสนุนจากภาครัฐ ด้านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย การรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท เป็นต้น