รัฐบาลเด้งรับปัญหา “สินค้าจีน” ราคาถูกท่วมตลาด รองนายกฯเตรียมประชุม 3 กระทรวงหลัก เผยอาจต้องแก้กฎหมาย- ปรับกระบวนการทำงานให้เข้มข้น พาณิชย์เตรียมชง ครม. ตั้งคณะกรรมการสร้างสมดุลการค้าระหว่างประเทศ วางยุทธศาสตร์ตั้งรับ-ประสานงานและรุก ไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ไทย-จีน สภาอุตฯ-ผู้ส่งออกผวา “Temu” สนามรบสงครามการค้าโลกรอบใหม่ โรงงานจีนนับแสนโรง ถล่มขายถูก 50% ถึงผู้บริโภค ทุบอุตสาหกรรมกระอัก จี้รัฐกำหนด “วาระแห่งชาติ” ป้องอุตสาหกรรมไทย 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศ รัฐมนตรีดีอีโดดร่วมเล็งสังคายนาแอปจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศไทย-จีนในช่องทางการค้าปกติ ช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่า 55,172.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไทยส่งออกไปจีน 17,602.43 ล้านสหรัฐ ลดลง 1.15% ขณะที่นำเข้าจากจีน 37,569.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.12% ส่งผลให้ “ไทยขาดดุลการค้าให้จีน” 19,967.46 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 726,660.94 ล้านบาท
ขณะที่กระแสสินค้าจีนราคาถูกเข้ามาถล่มตลาดเมืองไทยมากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะล่าสุดจีนส่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu กำลังรุกคืบมายังประเทศในกลุ่มอาเซียน หลังบุกตลาดสหรัฐจนทำให้ Amazon อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในสหรัฐยอดขายลดลง
“ภูมิธรรม” ถก 3 กระทรวง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ระบบการค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และอีคอมเมิร์ซเกิดขึ้น พยายามจะตัดคนกลางเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค แต่ระบบแบบนี้กำลังเข้าไปมีอิทธิพลในแต่ละประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ดูเรื่องตรงนี้ ส่วนการเข้ามาของ Temu เข้ามาแค่ 2 สัปดาห์ กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้มาดูเรื่องนี้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว
ขณะนี้เตรียมประชุมกับ 3 หน่วยงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสินค้าที่นำมาขาย ถ้าเป็นเรื่องอาหาร ยา ต้องคุยกับ อย. ถ้าเป็นอุตสาหกรรม ต้องดูมาตรฐานอุตสาหกรรม ถ้าเรื่องการค้าต่างประเทศ ต้องดูการทุ่มตลาด ทั้งหมดอยู่ภายใต้กฎ WTO และดูว่าเราจะควบคุม ป้องกันตัวเองอย่างไร เราไม่ได้นิ่งนอนใจ
แต่ต้องยอมรับว่าเราต้องเท่าทันและเตรียมเรื่องนี้ให้ทัน อาจจะต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมาย หรือปรับกระบวนการทำงานให้มากขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่ใช่การต่อต้านอะไร แต่เป็นเรื่องปฏิบัติตามกฎหมายให้เข้มงวด เพื่อการปกป้องผู้บริโภคชาวไทยได้ดีมากยิ่งขึ้นต่างหาก
“มีทั้งบวกและลบ อย่าไปมองว่าเขาเข้ามาแล้วเราจะต้องเอาอะไรไปแลก เพราะมีกระบวนการที่เราค้าขายอยู่ เช่น จีน เรามีทุเรียนหลายแสนล้านตันที่เราต้องขาย หรือประเทศอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงก็เช่นกัน เราต้องมาดูว่าเราจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร” นายภูมิธรรมกล่าว
หามาตรการปกป้องสินค้าไทย
นายภูมิธรรมกล่าวว่า วันที่ 25-29 กันยายนนี้ จะมีการขายสินค้าของไทยไปสู่ข้างนอกเช่นกัน ดังนั้น เว็บไซต์ต่าง ๆ ทำประโยชน์ได้ทุกทาง เพียงแต่ป้องกันสิ่งที่จะเกิดกับเราและดูแลได้
ประเด็นที่เว็บไซต์จีนเข้ามา ไม่ได้แค่ตัดคนกลางเท่านั้น แต่ตัดไปถึงโรงงาน ทำให้ร้านค้าที่เป็นอีคอมเมิร์ซด้วยกันก็อาจจะสู้กันยากลำบาก เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน และยิ่งความต้องการสินค้ามาก ยิ่งทำให้ราคาถูกมาก นี่คือกฎกติกาที่จะเกิดขึ้นในโลก
“อยากให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้สบายใจว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ วันนี้พยายามหามาตรการต่าง ๆ เข้ามาดูแลตรงนี้อยู่ ถ้าชัดเจนเมื่อไหร่ก็จะทำสิ่งเหล่านี้ทันที หลายเรื่องต้องคุยกันในประเทศให้เข้าใจ หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องที่เรามาประกาศ เพื่อที่จะปกป้องผู้ประกอบการไทยและสินค้าไทยได้จริง ๆ” นายภูมิธรรมกล่าว
ตั้งบอร์ดสร้างสมดุลการค้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงได้มีการหารือแนวทางดูแลผลกระทบจากสินค้าจีน ที่มีต่อผู้ประกอบการ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดตั้งคณะกรรมการสร้างสมดุลการค้าระหว่างประเทศ ที่บูรณาการระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และระดับปลัดกระทรวงทั้งกระทรวงพาณิชย์, อุตสาหกรรม, เกษตรฯ, ท่องเที่ยวและกีฬา, อว., คมนาคม และคลัง
“เรื่องการดูแลเพื่อสร้างสมดุลการค้านั้น จะต่างคนต่างทำไม่ได้ ต้องเป็นคณะกรรมการระดับประเทศ เพราะเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ หน่วยงาน เป้าหมายคือการดูแลการสร้างแนวทางที่เป็นธรรม เสมอภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ ต้องวางยุทธศาสตร์ ทั้งตั้งรับ ประสานงาน และรุก เช่น มีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ หรือเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นอย่างไร และต้องประสานงานกับทางเอกชนที่เข้ามาให้ดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น ทำฉลากภาษาไทย จดทะเบียนและเปิดบัญชีในไทย เพื่อดูว่ามียอดการซื้อขายมากน้อยเพียงใด ให้มีการกำกับดูแลเหมือนธุรกิจไทย จ่ายภาษีเหมือนกับธุรกิจไทย และสุดท้ายการรุกเอาสินค้าไทยไปเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มระดับโลก”
ต้องบาลานซ์-รอบคอบ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในอาเซียนขณะนี้มีอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มีโมเดลการดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่น่าจะเป็นโมเดลตัวอย่างที่ดี คือ มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในกฎหมายว่า สินค้าที่จะนำมาขายในแพลตฟอร์มจะต้องมี 1.แหล่งที่มาของการผลิตสินค้า และ 2.กำหนดให้จำหน่ายได้เฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐต่อชิ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีจุดที่ต้องให้ความละเอียดรอบคอบหลายด้าน ไทยพึ่งพาตลาดจีน เป็นตลาดส่งออกผลผลิต 80% ทุเรียน มังคุด ลำไย ดังนั้นเราจะบาลานซ์อย่างไร เพราะหากจีนบีบนิดเดียวเขาไม่แคร์ ไม่นำเข้าผลไม้ไทยไปกินเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์แทน ผลกระทบจะมาตกอยู่ที่ชาวสวน แต่ไม่ใช่เราจะไม่ดูแลเอสเอ็มอี มาตรการต้องมีแน่ แต่จะต้องรอบคอบรัดกุม เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว
เล็งสังคายนาแอปจีน
ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตรวจสอบแอปพลิเคชั่น Temu ว่า ได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้างว่า แพลตฟอร์มนี้ได้มาจดแจ้งที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ส่วนที่หลายฝ่ายกลัวว่าแพลตฟอร์มนี้ขายสินค้าราคาถูก จะตัดช่องธุรกิจในประเทศไทยนั้น เป็นประเด็นที่กระทรวงดีอีติดตามอยู่ การขายสินค้าของแพลตฟอร์มนี้ เป็นการขายสินค้าตรงจากทางโรงงาน หลายสินค้าไม่มีแบรนด์อาจทำให้สินค้าราคาถูก ซึ่งต้องเข้าไปดูองค์ประกอบด้วย เช่น คุณภาพสินค้า ที่มีการลดราคาสูงถึง 90% หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องติดตามดู
โดยต้องมีการพูดคุยกัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ในส่วนของกระทรวงดีอี เราจะดูเรื่องแพลตฟอร์มเป็นหลัก เช่น จะต้องมีการคืนสินค้า การขนส่ง ส่วนเรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้าก็มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว ย้ำว่าเรื่องนี้จะต้องมีการหารือกัน และตนจะพูดคุยกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์
นายประเสริฐกล่าวว่า ตนเห็นว่าแพลตฟอร์มนี้เริ่มยิงโฆษณาเยอะ และหลายประเทศได้รับผลกระทบ และสินค้าส่วนใหญ่ไม่มีแบรนด์ และบางครั้งคนก็สนใจเรื่องความถูกมากกว่าแบรนด์ แต่เราต้องดูเรื่องคุณภาพของสินค้าด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีโอกาสสังคายนาแพลตฟอร์มที่มีการขายของที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า อาจจะถือโอกาสคุยเลย เพราะยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่เปิดอยู่ในประเทศไทย
รมว.อุตฯเข้มมาตรฐานสินค้า
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาของสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย โดยเฉพาะจากจีน ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเอง โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้านำเข้าทุกช่องทาง ที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 143 รายการ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าดังกล่าวเข้าประเทศ ขณะเดียวกันได้ติดตามและเตรียมเพิ่มรายงานสินค้าอีก เนื่องจากเชื่อว่าจะมีการนำเข้ามาอีกจำนวนมาก
ทาง สมอ.ได้นำระบบ e-Market Surveillance มาใช้ในการตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ และยังมีทีมนักรบไซเบอร์ ทำหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงประสานกับกรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของการนำเข้า โดยใช้ระบบ e-Tracking เป็นการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ผ่านพิธีการทางศุลกากร
สำหรับกฎหมายของ สมอ.แล้วนั้น หากผู้ผลิตและผู้นำเข้าฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้จำหน่ายหากขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส.อ.ท.ชี้ความซับซ้อน Temu
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า Temu ใช้โมเดลธุรกิจแบบ B to C โดยนำสินค้าจากโรงงานในจีนนับแสนแห่งมาขายตรงสู่ผู้บริโภค ตัดตอนพ่อค้าคนกลางออก ทำให้มีจุดแข็งในด้านราคาที่ถูกกว่าระบบการค้าทั่วไป เฉลี่ย 30-50% ชูสโลแกนว่า Shop Like a Billionaire ให้ลูกค้าทุกคนสามารถช็อปปิ้งได้เหมือนประหนึ่งว่าเป็นเศรษฐี และยิ่งมียอดซื้อมากเท่าไรจะทำให้ร้านค้าในนั้นถูกทำให้มองเห็นในแพลตฟอร์มมากขึ้น
จุดแข็งที่สำคัญอีกด้าน Temu สามารถส่งสินค้าได้รวดเร็ว และมีการรับประกันความพึงพอใจรับเคลมภายใน 90 วัน หากลูกค้าไม่พอใจในสินค้า นั่นจึงทำให้ Temu ที่เปิดตัวมาปีเศษสามารถชิงมาร์เก็ตแชร์ไปจาก Amazon ซึ่งเคยเป็นเบอร์หนึ่งในสหรัฐมีมาร์เก็ตแชร์ 40% ได้ ปัจจุบันมีคนสหรัฐหันมาใช้ Temu วันละ 50 ล้านคน เทียบกับ Amazon เสียเปรียบมากเพราะต้นทุนสูง มีจ้างคนมีศูนย์กระจายสินค้า แต่ Temu ใช้ Outsource ทั้งหมด
“ความได้เปรียบของ Temu หลัก คือ การนำสินค้าจากโรงงานมาขายตรงถึงผู้บริโภค โดยบอกว่าตั้งใจจะช่วยเอสเอ็มอีและผู้ผลิตสินค้าจีนให้ขยายตลาดได้โดยไม่อาศัยแบรนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทแม่ คือ Pinduoduo ก็ซื้อสินค้าจากโรงงานเหมือนกัน แต่ใช้วิธีให้ชวนเพื่อนมาซื้อให้มาก ๆ เพื่อให้ได้ส่วนลด แต่พอมาพัฒนาเป็น Temu เจ๋งกว่า คือ ซื้อแค่ชิ้นเดียวก็ได้ราคาโรงงานแล้ว โดยเขาทำการตลาดให้โรงงาน มีการทำทีเซอร์มาให้ดู”
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริง Temu มีกลไกอย่างไรที่สามารถสร้างความได้เปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ได้ ทำให้ซื้อสินค้าเพียงชิ้นเดียวได้ราคาขายส่งแล้วยังส่งมาได้ในราคาที่ต่ำมากอีก โดยการมาที่ประเทศไทยเท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ไม่มีศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทย เข้าใจว่าจะมาจดทะเบียนในประเทศไทย แต่ไม่รู้ว่าระบบชำระเงินเป็นแบบไหน
Temu หมัดน็อกโรงงาน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า Temu เหมือนเป็นสนามรบของสงครามการค้ารอบใหม่ ที่หนักสุด จากเดิมที่ไทยเจอช้อปปี้ ลาซาด้า TikTok ก็ยังไม่หนักเท่านี้ เพราะ Temu มีสินค้าจากโรงงานเป็นแสนโรง ขายเข้ามา ทุกประเภทอุตสาหกรรมของไทยกระทบหมด เรียกว่าเป็น “หมัดน็อก” ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมไทยก็ว่าได้ จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมที่อุตสาหกรรมไทยเผชิญอยู่ คือ สินค้าจีนราคาถูกมาทุ่มตลาด เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม 22 กลุ่มจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ร้องเรียนมาก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.เคยขอภาครัฐเข้ามาดูแลแล้วรอบหนึ่ง แต่ “ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก” อีก เรื่องนี้จะส่งผลให้โรงงาน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบรุนแรงในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น ๆ คาดว่าจาก 22 กลุ่ม อาจจะเพิ่มเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรมในปีนี้
“Temu ขยายมาไทยเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน ครั้งนี้หนักกว่าครั้งก่อน เปิดหน้าชน โมเดลนี้จะคล้ายกับแพลตฟอร์ม Shein ที่ขายสินค้าฟาสต์แฟชั่นจากจีนที่เคยคว่ำ ZARA H&M มาแล้ว เราห่วงว่าหากอุตสาหกรรมไม่รอด ซึ่งภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีไทย มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก หากอยู่ไม่ได้กระทบต่อการจ้างงานแน่ แต่ที่จะยิ่งไปกว่านั้น คือ เศรษฐกิจของประเทศ เพราะแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้ประเทศ ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้น และหากไทยต้องปิดโรงงานหมด เราผลิตสินค้าไม่ได้ก็ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หากเกิดวิกฤตอย่างโควิดจนทำให้ระบบขนส่งสินค้าไปไม่ได้ แล้วไทยจะขาดแคลนสินค้า เพราะไม่มีโรงงานผลิตอีกแล้ว”
ครึ่งปีปิดโรงงานพุ่ง 86%
นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมครึ่งแรกปี 2567 ยอดการปิดโรงงาน 667 โรงงาน เฉลี่ยเดือนละ 111 โรงงาน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 86% หากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน สะท้อนว่าอัตราเร่งการปิดโรงงานเพิ่มขึ้นเร็วมาก และเมื่อวิเคราะห์ลงพบว่าจำนวนโรงงานที่ปิดในช่วงครึ่งปีนี้ เป็นโรงงานเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เทียบกับช่วงปีก่อนที่โรงงานที่ปิดเป็นโรงงานขนาดกลางถึงใหญ่ พอมาปีนี้ พวกเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนโรงงานนั้น ๆ ก็แย่ลงตาม นี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดี
“หลายคนมาเถียงว่าครึ่งปีมีโรงงานเปิดมากกว่าโรงงานปิด ก็แน่นอนว่าตัวเลขโรงงานเปิดก็จะเยอะกว่าโรงงานปิดอยู่แล้วโดยปกติ แต่เราต้องเทียบว่าตัวเลขโรงงานปิดครึ่งปีปีนี้กับช่วงเดียวกันของครึ่งปีของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 86% อัตราเร่งเพิ่มขึ้น และตัวเลขโรงงานที่เปิดแม้ว่าจะมากกว่าปิด แต่อัตราเติบโตของการเปิดใหม่ก็ลดลง 11% หมายถึงอัตราการเปิดใหม่ลดลง และในรายละเอียดโรงงานที่เปิดใหม่มีการลงทุน 1.7 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่เกิดจากการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่ไปดึงต่างชาติมา แต่โรงงานที่เจ๊งคือโรงงานเอสเอ็มอีของไทย”
ปม “สินค้าจีน” วาระแห่งชาติ
นายเกรียงไกรกล่าวว่า แนวทางสำคัญรัฐบาลควรกำหนดเรื่องการดูแลสินค้าจีนเป็น “วาระแห่งชาติ” ได้แล้ว ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดมาตรการด้านภาษีมาดูแล พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนว่าจะรับมือและป้องกันก่อนที่จะหาทางแก้ไขไม่ได้
“การตั้งรับเรื่องเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังช้าและไม่ตรงจุด รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และกระทรวงการคลังมีการสั่งการให้เก็บภาษี VAT สินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวถึงสิ้นปีก็ช่วยได้นิดหน่อย พอมาตอนนี้มี Temu มาเป็นคู่ชกกับอุตสาหกรรมโดยตรง รัฐบาลต้องมีมาตรการแล้ว เช่น ในหลายประเทศมีการเก็บภาษีนิติบุคคล มีการฟ้องและเก็บภาษีย้อนหลัง เพราะเข้ามาทำกำไรแต่ไม่เสียภาษีเลย ดังนั้น 1.ประเทศไทยควรศึกษาเรื่องการเก็บภาษีและรีบนำมาใช้ เพื่อชะลอและสกัด และ 2.ต้องตั้งทีมยุทธศาสตร์ เพราะนี่เป็นปัญหาระดับชาติของไทย”
ผู้ส่งออกผวาสินค้าจีน
สอดรับกับ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่มองว่า จากการเข้ามาของ Temu ส่งผลให้ตัวเลขภาคการผลิตลดลง รวมถึงซัพพลายเชนของภาคการผลิตในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อเทียบกับตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สรท.มีความกังวลว่า จะกระทบห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งหาก SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแหล่งสนับสนุนเงินกู้ จะก็ทำให้ขาดสภาพคล่อง และกระทบทิศทางการผลิตของไทย
อย่างไรก็ตาม สรท.อยากให้ภาครัฐโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้ามาควบคุมดูแลมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ที่นำเข้ามา และต้องบังคับกับทั้งผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและป้องกันสินค้าต่างชาติล้นทะลักเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งจำเป็นต้องดูแลระบบภาษีทั้งภาษีนำเข้า-การผลิต และภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องอยู่ในระดับเดียวกัน