“จุฬา” ขนทัพลงพื้น EEC โชว์ “ภูมิธรรม” ปั้นบุคลากรทักษะสูงได้ 102,480 คน ผ่านโครงการทุนมนุษย์ตามแนวคิด EEC Model จากวิทยาลัยเทคนิคระยอง ป้อนเข้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 แห่ง ทั้งหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ EV
วันที่ 7 สิงหาคม 2567 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ระยองและ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2567 นี้ ได้รับเกียรติจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พร้อมด้วยคณะ อาทิ นายณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายยศพล เวณุโกเศส เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ซึ่งขณะนี้ EEC ได้เตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้โครงการทุนมนุษย์ตามแนวคิด EEC Model ที่วิทยาลัยเทคนิคระยอง ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่ร่วมสนับสนุนการผลิต และพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อรองรับการจัดการศึกษายุคใหม่ตามหลัก Demand Driven ที่จะยกระดับพัฒนาทักษะบุคลากร
สร้างกำลังคนตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่ได้ขับเคลื่อนร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าสร้างโอกาสให้เยาวชนไทย เรียนจบ ได้มีงานตรงความสามารถ รายได้ดีและยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการทุนมนุษย์ตามแนวคิด EEC Model ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC โดยที่วิทยาลัยเทคนิคระยองแห่งนี้ นับเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบ ในพื้นที่จังหวัดระยองที่ได้เปิดสาขาการเรียนการสอนให้กับนักเรียน
นักศึกษาระดับอาชีวะ ได้พัฒนาความรู้ให้เป็นบุคลากรทักษะสูง ที่จะตรงกับความต้องการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวในอนาคต ซึ่งจะการันตีการสร้างงาน สร้างโอกาสที่ดีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และขอให้ความมั่นใจว่าการพัฒนา EEC จากนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และภาครัฐจะผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาบุคลากรตามแนวคิด EEC Model ประกอบด้วย EEC Model Type A เป็นหลักสูตรระดับปริญญา (Degree) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) ที่สถาบันการศึกษาร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาหลักสูตรและทักษะบุคลากร เรียนฟรี มีงานทำ รายได้สูง เอกชนสนับสนุนทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร และ EEC Model Type B
เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อปรับ-เพิ่มทักษะในระยะเร่งด่วน ภาครัฐอุดหนุนไม่เกิน 50% ส่วนที่เหลือเอกชนเป็นผู้สนับสนุน โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2.5 เท่า เพื่อเป็นการจูงใจนักลงทุนให้มีการส่งเสริมด้านพัฒนาบุคลากร
ส่วนการขยายผลการศึกษา EEC Model ดังกล่าว ขณะนี้ EEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) ได้รวมประมาณ 102,480 คน รับรองหลักสูตรฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง ได้สูงถึง 328 หลักสูตร
ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (EEC Nets) จำนวน 13 แห่ง อาทิ ศูนย์อุตสาหกรรม Automation & Robotics ศูนย์อุตสาหกรรม Aviation & Logistics ศูนย์อุตสาหกรรม New Gen Automotive (ยานยนต์ไฟฟ้า) เป็นต้น