ส่งออก เม.ย.61 ขยายตัว 12.3% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ผลจากผัก ผลไม้ ข้าวส่งออกดี ตลาดนำเข้าขยายตัว

ส่งออกเมษายน 2561 ขยายตัว 12.3% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ผลจากผัก ผลไม้ ข้าวส่งออกดี ตลาดนำเข้าขยายตัว ล่าสุดส่งออกทุเรียนไทย 4 เดือน มีมูลค่ากว่า 189 ล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าเป้าหมายส่งออก 8% ยังทำได้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้เปิดเผยตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2561 ว่า ขยายตัวสูงขึ้น 12.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 หรือมีมูลค่า 18,946 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ การส่งออก 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2561) ขยายตัว 11.5% มูลค่า 81,775 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเดือนเมษายน ที่ขยายตัวเป็นผลมาจากการส่งออกดีในทุกตลาด และการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนที่ 14

สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน 2561 มีมูลค่า 20,229 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.4% ส่งผลให้การค้าไทยขาดดุล 1,283 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การนำเข้าใน 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2561) มีมูลค่า 81,102 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.2% และการค้าเกินดุล 673 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี คาดการณ์การส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวไปในทิศทางที่ดีและน่าจะส่งออกได้ใกล้เคียงเป้าหมายหรือโตกว่าที่คาดไว้ 8% แม้ช่วงการส่งออกในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวไปบ้าง แต่ยังมั่นใจว่าการส่งออกไทยทั้งปียังเติบโต

สำหรับส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัว 9.8% สินค้าที่ส่งออกได้ดี เช่น ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 50.7% ส่งออกข้าว ขยายตัว 19.1% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 25.8% ส่วนสินค้าที่ส่งออกหดตัว ยางพารา หดตัว 12.3% ผลจากราคาหดตัวต่อเนื่องตามราคาน้ำมัน น้ำตาลทราย หดตัว 35.8% จากราคาและปริมาณ เนื่องจากปัจจัยจากตลาดโลกกดดันราคา แต่สำหรับการส่งออก 4 เดือนแรก สินค้ากลุ่มนี้ยังขยายตัว 5.3%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ขยายตัว 12.2% โดยสินค้าที่ส่งออกขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 17.8% เม็ดพลาสติก ขยายตัว 29.0% น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 39.0% สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกหดตัว เช่น ตู้เย็นและส่วนประกอบ หดตัว 9.4% ไม้และผลิตภันฑ์ไม้ หดตัว 5.0% อย่างไรก็ดี ภาพการส่งออก 4 เดือนยังขยายตัว 11.9%

การส่งออกในตลาดสำคัญก็ยังขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอาเซียน 5 และตลาดตะวันออกกลาง โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก ขยายตัว 13.9% เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ตลาดศักยภาพ ขยายตัว 11.0% เช่นอินเดีย จีน CLMV ฮ่องกง เกาหลีใต้ เป็นต้น ตลาดศักยภาพรอง ขยายตัว 13.8% เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น

ทั้งนี้ การส่งออกทั้งปีก็ยังมองว่าขยายตัวดี ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรวมไปถึงประเทศผู้นำเข้าดีขึ้น สหรัฐ ยุโรป ตามนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เอเชียและจีนก็ดีขึ้นมีผลต่อการนำเข้าสินค้า ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันที่แนวโน้มสูงขึ้น 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งอุปทานน้ำมันที่ลดลงจากปัญหาในประเทศของผู้ส่งออกน้ำมัน เวเนซุเอลา และความกังวลคว่ำบาตรรอบใหม่จากสหรัฐ จะมีผลต่อสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ส่วนค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง มีผลต่อการส่งออกที่เหลือ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกก็ต้องประกันความเสี่ยงไว้ด้วยและติดตามสถานการ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าการส่งออกทุเรียนไทยไปในตลาดโลกก็มีการปรับตัวดีขึ้น จากหลายปัจจัยรวมไปถึงการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซมีผลต่อการส่งออกขยายตัวได้มากขึ้น พบว่าการส่งออก 4 เดือนแรกส่งออกไปได้ 189.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 207.2% ขณะที่ปริมาณที่ส่งออกไป 148,504 ตัน ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ซึ่งทำให้เห็นว่าการส่งออกทุเรียนขยายตัวไปได้ดีมาก