ชงเขตภัยพิบัติปลาหมอคางดำ ใช้เงินทดรองจ่าย 260 ล้าน

ปลาหมอคางดำ

กระทรวงเกษตรฯ ชิมลาง ขอประกาศเขตภัยพิบัติปลาหมอคางดำ เหตุเป็นภัยพิบัติเร่งด่วน หวังผลสามารถใช้เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจังหวัดละ 20 ล้านบาท เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก ด้าน CPF ขอความเป็นธรรมแจงทุกกรณีที่ถูกพาดพิงหลังนำเข้าปลาหมอคางดำมาวิจัยตั้งแต่ปี 2553

การระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเริ่มต้นในพื้นที่ ต.คลองโคน อ.เมืองสมุทรสงคราม ตั้งแต่ปี 2560 ตามรายงานของกรมประมง ถึงปัจจุบันมีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำสาธารณะ ลำน้ำ ลำคลอง แม่น้ำ ปากแม่น้ำ พื้นที่ปากอ่าวที่เป็นน้ำกร่อย และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรในพื้นที่ 13 จังหวัด ตั้งแต่ กรุงเทพมหานคร, จันทบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ระยอง, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สมุทปราการ, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, สงขลา และนครศรีธรรมราช ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งธรรมชาติและการประกอบอาชีพของชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

อันเนื่องมาจากปลาหมอคางดำเข้ารุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่น จากอัตราขยายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว อัตราการรอดของลูกปลาหมอหลังผสมพันธุ์สูง และการขาดสัตว์นักล่า ที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้ จนเกิดการร้องเรียนจากความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของปลาหมอคางดำมากขึ้นทุกปี นำมาซึ่งความพยายามของรัฐบาลที่พึ่งจะมาตื่นตัวในการกำจัดปลาหมอคางดำเมื่อกลางปี 2567 ทั้ง ๆ ที่มีการระบาดมาก่อนหน้านี้แล้ว

เขตภัยพิบัติปลาหมอคางดำ

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับงบประมาณในการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีความพยายามที่จะให้มีการประกาศให้พื้นที่การระบาดของปลาหมอคางดำเป็น “เขตภัยพิบัติ” ตาม พ.ร.บ.บัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ประกอบระเบียบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ซึ่งได้มีการสอบถามการใช้ระเบียบดังกล่าวไปยังกรมบัญชีกลาง

โดยอ้างว่าการระบาดของปลาหมอคางดำเป็นภัยพิบัติเร่งด่วนประชาชนในพื้นที่การระบาดไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ด้วยตนเอง ประกอบกับการกำจัดปลาหมอคางดำไม่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และกรมประมงเองก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

ด้านกรมบัญชีกลางมีความเห็นกลับมาว่า ระเบียบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยพิบัติกรณีเร่งด่วนตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยที่มิได้มุ่งหมายที่จะชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ใด

Advertisment

โดยระเบียบกระทรวงการคลังในข้อ 5 ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ภัยพิบัติ” หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ตลาดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเกิดโดยธรรมชาติหรือมีบุคคล หรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าระเบียงดังกล่าวมีนัยกำหนดความหมายของคำว่า “ภัยพิบัติ” เอาไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ครอบคลุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือจากเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในข้อ 5

“ดังนั้น การประกาศเขตภัยพิบัติประกอบระเบียบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สัตว์น้ำของชาวประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (หรือไม่)

Advertisment

ซึ่งถ้าเข้าตามเกณฑ์นี้จังหวัดสามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม”

ทั้งนี้ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในการให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในระหว่างที่ยังไม่ได้รับเงินงบประมาณรายจ่าย ดังนี้ (8) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแห่งละ 20 ล้านบาท (13 จังหวัด รวม 260 ล้าน)

อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 โดยจัดทำโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี และยังได้ประสานจังหวัดให้จัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อปลาผู้ล่า (กะพงขาว-อีกง) ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยใช้งบประมาณของกรมประมง และงบประมาณของจังหวัด ซึ่งสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่ง จนถึงปี 2563 ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งว่า การจัดสรรงบประมาณในการจัดหาพันธุ์ปลาผู้ล่าเป็นภารกิจของกรมประมงเช่นกัน ส่งผลให้จังหวัดงดการจัดสรรงบประมาณ ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การพิจารณาว่าจะประกาศเขตภัยพิบัติ ประกอบ ระเบียบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน นั้นเป็น “เหตุที่เกิดขึ้นเป็นปัจจุบันทันด่วน หากไม่ป้องกันหรือจัดการจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงหรือไม่” จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาก่อนที่จะประกาศให้จังหวัดที่มีการระบาดเป็นพื้นที่ “เขตภัยพิบัติ”

ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวหลังการเป็นประธานเปิดปฏิบัติการ “การจำกัดปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” บริเวณเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ถึงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 2567-2570 ประกอบด้วย 7 มาตรการตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ โดยใช้ “กรอบ” งบประมาณ 450 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาการยางแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณไปแล้ว 50 ล้านบาทในการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่มีการระบาด 16 จังหวัด รวม 75 จุด

CPF โต้ทุกประเด็น

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า โครงการวิจัยปลาหมอคางดำปี 2553 ถึง 2554 ที่บริษัทถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดนั้น มีข้อเท็จจริง 6 ประเด็นสำคัญคือ 1) บริษัทยังไม่ได้เริ่มทำการวิจัยเนื่องจากลูกปลาเสียหายทั้งหมดในขั้นตอนกักกันโรค (เป็นระยะเวลาเพียง 16 วัน ตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2564) 2) บริษัทได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการขอนำเข้าตามหลักมาตรฐาน

3) มีการใช้ข้อมูลเท็จผ่านสื่อ ซึ่งบริษัทอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี 4) เหตุใดจึงมีการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 300,000 ตัวในลักษณะปลาสวยงามที่มีชีวิตไป 17 ประเทศในช่วงปี 2556-2559

5) เหตุใดจึงมีการระบาดของปลาหมอบัตเตอร์ ทั้งที่เป็นปลาที่ห้ามนำเข้า หรือเพาะเลี้ยง และ 6) งานวิจัยของกรมประมงในปี 2563 และ ปี 2565 ที่มีการนำมากล่าวอ้าง

“จุดเริ่มต้นในการศึกษาเรื่องปลาหมอคางดำมาจาก โครงการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลในปี 2549 วัตถุประสงค์ของโครงการนำเข้าลูกปลาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron หรือชื่อภาษาไทยคือปลานิล จากประเทศกานา จำนวน 5,000 ตัว (ซึ่งได้นำเข้าจริงในปี 2553 ได้เพียง 2,000 ตัว) มาทดลองปรับปรุงพันธุ์ปลานิล เพื่อวัตถุประสงค์ลดการเกิดเลือดชิด (การปรับปรุงพันธุ์) ของสายพันธุ์ที่มีอยู่ เพื่อทดลองประสิทธิภาพการเจริญเติบโต และประเทศกานาเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิม และไม่ได้คัดพันธุ์ จึงน่าจะยังคงความหลากหลายของยีนส์

โดยบริษัทได้ขออนุญาตนำเข้าจากกรมประมง ซึ่งมีข้อปฏิบัติของกรมที่ว่า จะต้องเข้าประชุมคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (IBC) พิจารณาการออกใบอนุญาต แต่งตั้งคณะกรรมการย่อยเพื่อติดตามโครงการ ซึ่งขั้นตอนในการวิจัยจะต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปี ซึ่งวงจรชีวิตปลาชนิดนี้จะต้องมีการเลี้ยง 1 รอบใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน เท่ากับว่าปีหนึ่งจะเลี้ยงได้แค่เพียง 2 รอบ แต่ต้องการเลี้ยงมากกว่า 5-6 รอบ จึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาวิจัย” นายประสิทธิ์กล่าว

แต่บริษัทยังไม่ได้เริ่มทำการวิจัย เนื่องจากลูกปลาเสียหายทั้งหมดในขั้นตอนกักกันโรคเป็นระยะเวลาเพียง 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2564 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลูกปลาตายระหว่างการเดินทาง 1,400 ตัว เหลือลูกปลา 600 ตัว บริษัทจึงได้นำลูกปลาส่วนที่เหลือไปไว้ในบ่อกักโรค ส่วนปลาที่ตายทั้งหมด 1,400 ตัวได้ฝังตามกระบวนการที่กระทรวงกำหนด ทั้งการขุดหลุมลึก 50 CM โรยปูนขาวก่อน นำปลาที่แช่ฟอร์มาลีน ฝังและโรยทับด้วยปูนขาวอีกชั้นหนึ่ง หลังจากที่เลี้ยงและดูแลปลาส่วนที่เหลือก็ยังพบว่าปลายังทยอยตาย

ผู้ดูแลได้มีการปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมง ว่าลูกปลาไม่แข็งแรงและไม่เพียงพอต่อการวิจัย เจ้าหน้าที่ให้เก็บตัวอย่างปลาใส่ขวดโหลแช่ฟอร์มาลีนมาส่งที่กรมประมงสัปดาห์ที่ 2 เก็บตัวอย่างปลา 50 ตัวดองฟอร์มาลีน เข้มข้น เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 6 ม.ค. 54 นำตัวอย่างปลาไปส่งและแจ้งปิดโครงการแก่เจ้าหน้าที่กรมประมงในที่สุด

ส่วนประเด็นที่ว่า ในระหว่างปี 2556-2559 มีการแจ้งส่งออกปลาหมอคางดำมากกว่า 300,000 ตัวไปยัง 15 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทเอกชน 11 บริษัทนั้น ซึ่ งกรมประมงแจ้งว่า ทั้ง 11 บริษัทนั้นส่งปลาคนละชนิด โดยเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนของบริษัทชิปปิ้ง “โดยปกติการสำแดงสินค้าส่งออกจะใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้ว่าปลาจะมีการเปลี่ยนชื่อ 3 ครั้ง แต่ชื่อภาษาอังกฤษและชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นชื่อเดียวกัน จึงนำมาสู่ข้อสังเกตว่า เหตุใดการสำแดงเขตจึงเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี แล้วบริษัทเรานั้นนำปลาจากแหล่งไหนมาใช้ในการส่งออก การตรวจสอบอยากจะขอความยุติธรรมให้กับทางบริษัทด้วย” นายประสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ การชื่อเรียกพันธุ์ปลาหมอคางดำตามกรมประมงในแต่ละช่วงเวลามีการเปลี่ยนชื่อถึง 3 ครั้งคือ ปี 2549-เมษายน 2553 ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ปลานิล” จากนั้นปี 2553-2559 เปลี่ยนมาเป็น “ปลาหมอเทศข้างลาย” และปี 2560-ปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็น “ปลาหมอคางดำ” แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อภาษาไทยไปอย่างไร ก็ยังใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Sarotherodon melanotheron” และชื่อสามัญ “Blackchin Tilapia” เหมือนเดิม ส่วนปลาหมอเทศข้างลาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Orechromis aureus” ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ในการทำพิธีการส่งออก ซึ่งจะต้องสำแดงชื่อปลาเป็นภาษาอังกฤษก็จะต้องใช้ชื่อปลาชนิดเดียวกัน