บสย.ตีปี๊บผู้ประกอบการรีบใช้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน เหลือวงเงิน19,000ล้าน ก่อนปิดโครงการ30มิ.ย.นี้

การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นปัญหาหนักอกของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะไม่มีสินทรัพย์มากพอที่จะนำไปใช้ค้ำประกัน ล่าสุดบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เดินสายแจ้งข่าวโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ ก่อนปิดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)กล่าวถึงโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ ให้ฟังว่า โครงการนี้มีวงเงินค้ำประกัน มูลค่า 81,000 ล้านบาท เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันทื่ 11 สิงหาคม 2560 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพและต้องการสินเชื่อ แต่ขาดหลักประกันให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น

โดย ณ ปัจจุบัน (21 พ.ค.2561) ใช้วงเงินค้ำประกันไปแล้ว 62,000 ล้านบาท มีฐานลูกค้าประมาณ 15,000 ราย เฉลี่ยรายละ 4,000,000 บาท แต่ทาง บสย. สามารถค้ำประกันได้สูงสุดถึง 40 ล้านบาทต่อราย

ขณะที่วงเงินตอนนี้เหลืออีก 19,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายน น่าจะครบเต็มมูลค่าโครงการ

โดยอุตสาหกรรมที่มียอดค้ำประกันโครงการ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การบริการ 26.03%, การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 10.62%, อาหารและเครื่องดื่ม 9.90%, เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร 8.34% และเกษตรกรรม 7.86%

“สิ่งที่อยากนำเสนอให้ประชาชนรับทราบคือ โครงการนี้เป็นโครงการที่ประชาชนได้ฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปี อัตราปีละ 1.75% รวม 4  ปีเท่ากับ 7% ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ สมมุติลูกค้าไปกู้เงินจากธนาคาร 1,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม 17,500 บาทต่อปี รวม 4 ปีเป็นเงิน 70,000 บาท ตรงนี้ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเลย มีประโยชน์จริงๆ หรือบางบริษัทกู้เงิน 10,000,000 บาท มีค่าธรรมเนียมปีละ 175,000 บาท รวม 4 ปีเป็นเงิน 700,000 บาท เงินตรงนี้ซื้อรถกระบะได้หนึ่งคัน ผมมองว่าดีต่อผู้ประกอบการ”

ไม่รู้ก็พลาดโอกาส

รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. ยังบอกอีกว่าโครงการนี้จะปิดในวันที่ 30 มิถุนายน หมดแล้วหมดเลย ไม่มีนโยบายต่ออายุโครงการ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้รับทราบ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีแผนขยายธุรกิจอยู่แล้ว แต่วางแผนไปกู้เงินในเดือนกรกฎาคม หรือเดือนสิงหาคม เร่งขอธนาคารให้อนุมัติก่อน 30 มิถุนายนนี้ จะได้ประหยัดค่าธรรมเนียมถึง 7% เพราะส่วนต่างตรงนี้มีผลต่อต้นทุนในการที่นำไปประกอบอาชีพ

“ลูกค้าเอสเอ็มอี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่สนใจให้ บสย. ค้ำประกันสามารถติดต่อได้ทุกธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของรัฐหรือเอกชน ธนาคารก็จะมีกติกาหรือข้อตกลงกับ บสย. อยู่แล้ว โดย บสย. จะค้ำประกันให้สูงสุด 10 ปี และสามารถค้ำประกันได้ในทุกกลุ่มทุกประเภทอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการภาคบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงงาน เกษตรกรรม ไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน จังหวัดหรือพื้นที่ใดเราค้ำได้หมด ไม่ติดเรื่องอายุ หรือชนิดของผู้ประกอบการ อันนี้เปิดกว้างเลย แต่มีเงื่อนไขอย่างเดียวคือ ผู้ประกอบการต้องมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท ไม่รวมที่ดิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ให้ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้ บสย. ค้ำประกันได้ค่อนข้างสะดวกขึ้น”

นายวิเชษฐ ฉายภาพต่อว่า ปัจจุบัน บสย. ได้ทำการตลาดร่วมกับธนาคาร ทั้งของรัฐและเอกชน  ในภาพรวมพบว่ามีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนลูกค้าของ บสย.มาจากธนาคารของรัฐ 20% ธนาคารเอกชน 80%  ซึ่งในส่วนของธนาคารนั้นก็มีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อต่ำ เพราะ บสย. เองรับเอ็นพีแอลค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นสำหรับโครงการนี้มีประโยชน์ทั้งตอบสนองลูกค้าและธนาคารได้ด้วย

เมื่อถามถึงโครงการอื่นๆ ต่อจากนี้  รองผู้จัดการรายนี้ เล่าว่า สำหรับโครงการต่อเนื่องที่มีการวางแผนไว้นั้นคือ 1.โครงการไมโคร ระยะที่ 3 มูลค่า 15,000 ล้านบาท ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างกระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยโครงการนี้จะค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ผู้ประกอบการายเล็กที่อยู่ในต่างจังหวัด โดยหวังช่วยในเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยที่มีกติกา ไม่ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยนอกระบบอีกต่อไป ค่าผ่อนชำระที่ถูกลง และเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ เพราะมี บสย. ไปค้ำประกัน

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าโครงการ 15,000 ล้านบาทจะค้ำประกันให้ผู้ประกอบการได้ถึง 150,000 ราย โดยต่อรายค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท  คาดจะเริ่มโครงการได้กลางเดือนมิถุนายน  กรอบระยะเวลาโครงการประมาณ 1 ปี 6 เดือน ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี เพื่อให้ลูกค้ามีความสามารถในการผ่อนชำระ

2.โครงการ PGS7  (ต่อจากโครงการ PGS6) มูลค่า 150,000 ล้านบาท  อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง โดยภาพใหญ่ของโครงการกำหนดกลุ่มลูกค้าหลัก 2 กลุ่มใหญ่ คือ ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีบัญชีเล่มเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจำกัด อีกกลุ่มคือ ผู้ประกอบการทั่วไป ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งในรายละเอียดอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง แต่กติการายละเอียดต่างๆ ก็พยายามจะไม่เขียนให้มีข้อจำกัดกับประชาชน เพราะโดยมาตรการเองก็ต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดการเปลี่ยนแปลง หลักการจึงน่าจะยืดหยุ่น ไม่เข้มเปี๊ยะ

เมื่อถามถึงความแตกต่างของโครงการ PGS6 ปรับปรุงใหม่ กับโครงการ PGS7 นายวิเชษฐ สรุปสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า โครงการ  PGS7 สู้ PGS6 ปรับปรุงใหม่ไม่ได้แน่นอน เพราะค่าธรรมเนียมก็ฟรีไม่มาก และที่สำคัญโครงการ PGS6 ปรับปรุงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ค่อนข้างได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตั้งแต่มีการตั้ง บสย. ขึ้นมา

ห่วงราคาน้ำมันพุ่งกระทบเอสเอ็มอี

ส่วนหากให้ประเมินสถานการณ์ต่อจากนี้ หลังมีกลุ่มการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวว่า จะมีผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อยหรือไม่ เขามองว่า อาจมีผลบ้างแต่ไม่มาก เพราะปัจจัยสำคัญในเรื่องการลงทุนของผู้ประกอบการนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจมากกว่า หากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นราว 3.5-4% มีการลงทุนของรัฐบาลก็ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่นในภาคตะวันออกที่มีการลงทุน EEC พบว่ามีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนภาคที่ไม่ได้มีการขยายตัวมากๆ ปริมาณสินเชื่อก็ยังทรงๆ อยู่ แต่โดยภาพรวมเชื่อว่าดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การเติบโตของจีดีพีที่มากขึ้นนั้น  อาจไหลลงไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มากเท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า

“แต่สิ่งที่ผมว่าน่าเป็นห่วงตอนนี้คือเรื่องราคาน้ำมันที่มีราคาแพงและขึ้นเร็วไปหน่อย ซึ่งเรื่องราคาน้ำมันนี่เองน่าจะเป็นตัวที่ดึงเศรษฐกิจ เพราะคือค่าใช้จ่าย ต้นทุนของผู้ประกอบการ

อัตราค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลและสถาบันการเงินจ่ายแทน SMEs
ปีที่ รัฐบาล สถาบันการเงิน
ปีที่1 1.75%
ปีที่2 1.25% 0.50%
ปีที่3 0.75% 1.00%
ปีที่4 0.25% 1.50%
รวม 4.00% 3.00%