
สกนช. เปิดรับฟังความคิดเห็นพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 หลังครบกำหนดใช้ 5 ปี ชี้ควรแก้กรอบวงเงินกองทุนสะสมไม่เกิน 40,000 ลบ. ไม่สอดรับเศรษฐกิจ – เงินเฟ้อพุ่ง – ราคาน้ำมันผันผวน ด้านเอกชน-ประชาชนแนะควรระบุนิยามชัด “แผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง” ไม่สอดรับราคาน้ำมันพุ่ง ควรแยกบัญชี กำหนดเพดานฯส่งเงินเข้ากองทุนชัดเจน
วันที่ 9 สิงหาคม 2567 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และกฎหมายลำดับรับรอง ซึ่งในปี 2567 นับเป็นปีที่ผ่านการใช้งาน พ.ร.บ. ดังกล่าวครบระยะเวลา 5 ปี
สกนช.จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 เพื่อพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ ลดความซับซ้อนและขัดแย้งกันของกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเพื่อพิจารณาและนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับปัจจุบัน

ด้าน อาจารย์ ดร.ภาคภูมิ โลหวริตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับการประเมินผลสัมฤทธิ์ว่า แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความผันผวน รวมถึงสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนอาจกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน นอกจากนี้กรอบวงเงินของกองทุนที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาจไม่เพียงพอต่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน รวมถึงการยื่นคำขอรับเงินคืนจากกองทุนกรณีส่งเงินเข้ากองทุนโดยไม่มีหน้าที่หรือส่งเงินเกินกว่าจำนวนที่มี อาจจะเกิดความล่าช้าในการพิจารณาคำขอ ตลอดจนการใช้มาตรการลงโทษทางอาญาตามกฎหมายบางเรื่องอาจไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ภายในงานมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และ ภาคประชาชน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันชื้อเพลิง มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
โดยวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง หมายความว่า สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วหรือผันผวนและกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือสถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ
ซึ่งจำเป็นต้องนิยามคำว่า “วิกฤตการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ให้ชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนและไม่เป็นการผลักภาระให้กับภาคประชาชน และคำนึงถึงการนำเงินของกองทุนมาใช้ในกรณีเกิดวิกฤติการณ์แบบใด
รวมถึง“การรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน” ซึ่งประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯเพื่อนำเงินไปรักษาเสถียรภาพราคาและต้องมีภาระช่วยชดเชยราคาดีเซล ทำให้กลุ่มผู้ใช้เบนซินไม่ได้รับประโยชน์และเป็นการอุดหนุนข้ามกลุ่ม จึงควรมีการแยกบัญชีกองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันแต่ละประเภทให้ชัดเจน รวมถึงควรมีการกำหนดกรอบเพดานเรียกเก็บเงินน้ำมันแต่ละชนิดที่ส่งเข้ากองทุนฯให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันกลุ่มเบนซินมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯถึง 10.78 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงกรณีการดำรงเงินกองทุนให้เพียงพอในการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งตามข้อกฎหมายกำหนดให้กองทุนฯ มีเงินสะสมไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และกู้ได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ด้วยสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ราคาน้ำมัน ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อและดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มองว่า กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาทไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นอกจากจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และกฎหมายลำดับรับรองในครั้งนี้ ยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม – 4 กันยายน 2567 ซึ่งทางทีมงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่าง ๆ และจะจัดทำเป็นร่างรับฟังความคิดเห็นการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ส่งให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับปรุงกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป