“GAME CHANGER” เปลี่ยนอนาคต 5 กูรูเศรษฐกิจ เผยเกมธุรกิจใหม่ ปรับตัวก่อนถูกดิสรัปชั่น !

ธุรกิจและเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง และมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาธุรกิจทั่วโลกได้พบกับความท้าทายครั้งใหญ่ ทั้งจากการลบล้างการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ (Disruption) การก่อกำเนิดธุรกิจในแนวทางใหม่ (Start Up) ส่งผลให้ “รูปแบบ-แลนด์สเคป” ของโลกธุรกิจเปลี่ยนไป แม้แต่ธุรกิจใหญ่ ๆ ไม่สามารถยืนอยู่บนฐานที่มั่นของตัวเองได้ เพราะมีคู่แข่งหน้าใหม่ที่คาดไม่ถึงเข้ามาแย่งลูกค้าแบบไม่ทันตั้งตัว 

 

 “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” จัดงานสัมมนาสุดยิ่งใหญ่แห่งปี “GAME CHANGER…เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” ในวาระครบรอบ 42 ปี ที่จัดขึ้นในวันนี้ (23 พ.ค.)

ประเทศไทยเป็น rising star ของภูมิภาค นักลงทุนมาไม่ขาดสาย

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า 2 วันที่แล้วสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาตรา 1 เป็นตัวเลขที่ดีแน่นหนาน่าพอใจ จีดีพีเติบโตร้อยละ 4.8 ไม่ได้ดีแค่ดัชนีหรือสองดัชนี เครื่องยนต์ทุกตัวติด ตัวเลขที่ดี ตัวเลขภาคเกษตร 6.5 หมายความว่าจากที่เคยหดตัวมานาน ตอนนี้เริ่มโตขึ้นมา เงินที่หล่อเลี้ยงชนบทก็จะมีมากขึ้น ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนซึ่งแต่เดิมพยายามผลักดันตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เอกชนเริ่มมั่นใจที่จะลงทุน เพราะโตถึงร้อยละ 3.1 ในภาคอุตสาหกรรมนอกจากการผลิตโต 3.7 แต่ตัวอัตราการใช้กำลังการผลิตโตถึง 7.2 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดจะเป็นจุดหมุนของเศรษฐกิจทุกภาคส่วน

“ส่งออกคงไม่ต้องพูดถึง เดือนที่แล้วโตขึ้นมาร้อยละ 12 กว่า ตุนคะแนนไว้แล้ว ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศขอให้มั่นใจ เราจับมากับมือเรารู้ ประเทศไทยเป็น rising star ของภูมิภาค นักลงทุนมาไม่ขาดสายวานนี้กูเกิลมาเอง สัปดาห์ที่แล้วเกาหลีใต้มา เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการลงทุนของต่างประเทศ ส่วนการใช้จ่ายในภาครัฐบาลแม้ที่ผ่านมายังไม่คล่องตัวเท่าที่ควร แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังคุยใน ครม. อาจมีกฎหมายทำให้ ข้าราชการไม่กล้าผลีผลามใช้จ่าย แต่ไม่นานจะเข้ารูปเข้ารอย การท่องเที่ยว รายได้โตถึงร้อยละ 20 นักท่องเที่ยวโตขึ้นมาร้อยละ 15 ท่องเที่ยวจะเป็น sector หลัก ด้วยตัวแปรดัชนีที่เป็นสาหลัก ตัวเลขประกาศออกมาถ้าไม่มีปัจจัยมาขัดขวาง ความเชื่อของคนจะมีมากขึ้นแน่นอน การจะจับจ่ายมาก ต่างประเทศก็ลงทุนมากขึ้น ทุกอย่างจะออกผล ตัวเลขจีดีพี 4.8 เป็นตัวเลขที่ดี ดีใจไหม ก็แน่นอนทุกคนก็ต้องดีใจ แต่ไม่แปลกใจ เพราะเป็นสิ่งที่พยายามมานานแล้ว เพียงแต่จะออกมาเมื่อไหร่” นายสมคิด กล่าว

ซัดไม่มีรัฐบาลไหนที่ทำความรวยกระจายออกไป

สมคิดกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไปได้ดีพอสมควรขอให้เชื่อมั่น และอยากให้ทุกฝ่ายรักษาโมเมนตัมนี้ให้ดี จะทำให้เราโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาขนาดจีดีพีขยายขึ้นมา 2 ล้านล้าน ใช่ความว่ามั่งคั่งของประเทศหรือไม่ เมื่อความมั่นคั่งเกิด ทุกภาคส่วนต้องทำให้ความมั่งคั่งก่อตัวมากขึ้นและยั่งยืน เมื่อความมั่งคั่งลงไปถึงเกษตรกร คนยากคนจน คนที่ใช้แรงงาน ได้มีโอกาสสัมผัส เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ คำว่ารวยกระจุก มันเป็นมานานแล้วไม่มีรัฐบาลไหนที่ทำโครงสร้างเศรษฐกิจให้รวยกระจายออกไป แต่ถ้าดูสิ่งที่เราทำมาตลอด ไม่ใช่ไม่พยายาม ที่มีคำพูดหลายอย่างว่าเราทำหลายอย่างเอื้อธุรกิจไม่เอื้อคนยากคนจนเกษตรกร จริงหรือว่าเท็จ ถ้าภาคเกษตรโตถึง 6.5 เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยหรือ ถ้าหากว่าอัตราการผลิต การใช้กำลังการผลิตโตขึ้นมา 7.2 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีผลเลยเหรอการซื้อวัตถุดิบ การจ้างงานในโรงงาน การลงทุนจากต่างประเทศไม่มีผลจากการจ้างงานเลยหรือ ต่างประเทศที่มาลงในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นพื้นฐานต่อไปในคนรุ่นข้างหน้า ไม่ได้มีผลต่อประชาชนรากหญ้า เกษตรกร เลยหรือ การที่ลงสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ไทยนิยมยั่งยืน เพื่อใคร ไม่ได้ประโยชน์กับคนยากคนจนเลยหรือ

“ถ้าเราทำใจให้เป็นธรรม ดูสิ่งที่ทำ รัฐบาลพยายามทำมาตลอด เมื่อมีโอกาสขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารต้องเพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อคนที่ด้อยกว่าเรา ตัวเลขที่ขึ้นมานั้นดี แต่จะให้เป็น inclusive growth ครอบคลุมชนชั้นล่าง ชั้นกลาง ถ้าดัชนีตลาดหุ้นขึ้นมา 4.4 ล้านล้านต่อปี ถามว่าคนชั้นกลางไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้เลยหรือ เราพยายามมากแล้วและจะพยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเวลาจะหมด ยอมอดทน ยอมฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะมีสติของเราเองว่าถ้าผมบริหารเศรษฐกิจจะไม่บริหารตามใจคน ผมมองว่าอนาคตต้องเป็นอย่างไรและจะเปลี่ยนสิ่งนั้นเพื่ออนาคต ไม่ใช่เพื่อคนรุ่นนี้แต่เพื่ออนาคตคนรุ่นหน้า รัฐบาลถึงเวลาก็ไป ดังนั้น สิ่งที่เคยพูดเมื่อ 3ปีที่แล้วเข้ามาพร้อมกับทีมเศรษฐกิจ 1.เข้ามาไม่ให้มันทรุด จะทรุดอยู่แล้วชีพจรเต้นต่ำ ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป 2.ปฏิรูป อย่าให้พลาดโอกาสในครั้งนี้ เมื่อปี 2548 คล้ายๆ อย่างนี้ทุกอย่างดีหมด แต่พลาดโอกาสปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เข้มแข็งเอื้อคนส่วนใหญ่ให้ได้แต่เราพลาด ครั้งนี้ไม่พลาดโอกาส ร่วมกันทุกคนให้ก้าวข้ามช่วงเวลาเหล่านี้ให้ได้” นายสมคิด กล่าว

5 ตัวแปร Game Changer

สมคิดกล่าวต่อว่า เสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นเสาหลักต่อไป มี 5 สิ่ง ตัวแปรแรก คือ Value driven ภาคการผลิตและบริการ โดยการสร้างคุณภาพ มาตรฐาน เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดนวัตกรรม ดีไซน์

ตัวแปรตัวที่สอง คือ เศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ (Entrepreneur Economy) คนหนุ่มสาว เพื่อให้เป็น Inclusive Growth อย่างยั่งยืน สร้างระบบ Ecosystem ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และทุกภาคส่วนไปดูว่าจะทำอย่างไรให้ไทยเป็นประเทศที่เรียกว่า Start Up Nation ที่แท้จริง

ตัวแปรตัวที่สาม สำคัญอย่างยิ่ง คือ ดิจิทัล โดยการสร้าง Partner ทั้งจีน ญี่ปุ่นและยุโรป อเมริกา ฉะนั้นนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การเปลี่ยนผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นดิจิทัลให้ได้ เพื่อไม่ให้ตกโลก เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบผู้บริหารบริษัท Google รับผิดชอบภาคพื้นแปซิฟิกจะร่วมกับบริษัทไทยทำโครงการ Google for Thailand เพื่ออบรมคนให้สามารถใช้อินเตอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีความรู้ในการสร้างธุรกิจขึ้นมาผ่านแพลตฟอร์มก้าวขึ้นเป็น Start Up

ตัวแปรตัวที่สี่ คือ Service Sector การสร้าง New Frontier ขึ้นมา เพื่อสร้างธุรกิจเล็ก ๆ ใน Value Chain ของภาคการท่องเที่ยวได้ เมื่อก่อนภาคบริการภาคเล็ก การท่องเที่ยวเป็นตัวแถม ปัจจุบันภาคการผลิตเล็กกว่าภาคบริการ ภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมกันสนับสนุน ถ้าไม่ทำจะประสบกับปัญหาการจ้างงานเพราะในอนาคตจะเข้าสู่การใช้เครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้น

ตัวแปรที่ห้า คือ City State ประเทศไทยที่รวยกระจุกเพราะไม่มีเมืองใหญ่ในหลายจังหวัด จึงเป็นเหตุผลของการจัดสรรงบประมาณงบประมาณกลุ่มจังหวัด การท่องเที่ยวเมืองรอง การตัดถนน การสร้างรถไฟเพื่อสร้างกิจกรรมจากการท่องเที่ยว ทั้งหมดเป็น Real Game Changer ทุกอย่างตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานข้อเดียว คือ ประเทศไทยต้องโดดเด่น โดยการเป็น Game Changer สร้างเกมด้วยตัวเอง เป็นศูนย์กลางของ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม) ภายใน 5 ปีต้องเป็น Growth Area ประเทศไทยต้อง Set Game ด้วยตัวเอง

“แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อตัวเราเอง เรากำลังกลายเป็นสังคมที่ขาดความเชื่อถือซึ่งกันและกัน เวลาเราอ่านเฟซบุ๊กน่ากลัวมาก กลุ่มหนึ่งก็จะเกลียดชังอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา เป็นสังคมที่แตกแยก นี่คือสังคมทอนกำลังที่ครั้งหนึ่งนักวิชาการเคยกล่าวคำนี้ออกมาว่า สังคมไทยอย่าเป็นสังคมทอนกำลัง การปฏิรูปต้องใช้พลังมวลชนทั้งหมดที่มุ่งไปสู่ทางเดียวกัน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณ มีคนเสียประโยชน์ มีคนไม่เข้าใจ มันต้อง move ไปข้างหน้าด้วยพลังมหาศาล ถ้าขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่นต่อกัน คิดเพียงอย่างเดียวคือการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือการบริหารเพื่อประชาชน ลักษณะเช่นนี้เป็นการทอนกำลังของประเทศ ต้องเตือนว่าอย่าให้เกิดลักษณะเช่นนี้” นายสมคิด กล่าว

ชมคลิปเต็ม ที่นี่

“อุตตม” ตั้งธงภายใน 5 ปี ไทยต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV ให้ทั่วโลก

ด้าน อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Game Changer ประเทศไทย” ว่า เป้าหมายของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 คือการไปสู่ Thailand 4.0 นั่นคือการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ขึ้นมาให้เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศ ดึงการลงทุนที่ไม่เน้นเม็ดเงิน แต่ให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาร่วมกันอย่างบุคลากร

โดย 3 อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คือ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังก้าวไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยไทยเป็นฐานการผลิตให้กับทั่วโลก ดังนั้นเป้าหมายไม่ใช่เพียงการประกอบตัวรถ แต่ไทยจะเป็นผู้พัฒนาผลิตชิ้นส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ ระบบควบคุมสำหรับ EV มั่นใจว่าภายใน 5 ปี EV ต้องเกิดในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้ได้และป้อนให้กับทั่วโลก ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขการลงทุนต่างๆ กากติดอุปสรรคด้านใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบีโอไอ กระทรวงการคลัง พร้อมที่จะนำมาตรการสนับสนุนมาใช้

2.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ด้วยไทยขาดแคลนแรงงานและพึ่งพาแรงงานจากเพื่อนบ้านมาตลอด บวกกับการแข่งขันในหลายธุรกิจ การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงานจึงสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มปรับตัวลงทุนใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตแล้ว รัฐจึงออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการเร่งสร้าง ผู้สร้างระบบรวมด้านอัตโนมัติ System Integrator (SI) จากปัจจุบันมีอยู่ 400 ราย ให้เพิ่มเป็น 1,000 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ที่มีอยู่ 11 แห่งทั่วประเทศมาช่วยรองรับเพื่อสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ

ดันอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เข้าครม.ภายในเดือนนี้

3.อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ ที่จะเข้า ครม. ภายในเดือนนี้ เป้าหมายคือการนำวัตถุดิบของประเทศ อ้อย ปาล์ม ข้าว มัน เพิ่มมูลค่าไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ต่อยอดจากเกษตร ขยายพื้นที่ลงทุนจากที่ภาคตะวันออกไปยังภาคอีสาน ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนของชาวไร่ชาวสวนเพิ่มขึ้นจาก 66,000 บาท/ครอบครัว เป็น 85,000 บาท/ครอบครัว

เปิดTOR รถไฟเชื่อม 3 สนามบินพรุ่งนี้

สำหรับภาพรวมการลงทุนในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าโครงการ EEC คือสิ่งที่รัฐบาลนำมาปัดฝุ่นต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิมเพื่อให้มีการลงทุนชุดใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นเกมที่เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยคือสิ่งนี้ การปรับตัวสู่ยุคใหม่จำเป็น ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเป็นเครื่องมือปรับอุตสาหกรรม รวมถึงคนจำเป็นต้องสร้างมาเพื่อรองรับ

อย่างไรก็ตามในวันที่ 24 พ.ค. 2561 เตรียมขายซองเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ซึ่งจะทำให้รู้กรอบของ TOR ชัดเจนขึ้น โดยสัดส่วนการถือหุ้นจะยึดตามกฎหมายไทย และพิจารณาตามรายโครงการ

 

เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้ใช้เปลี่ยน! ปตท.เผยกลยุทธ์ 3D Now

ขณะที่ด้านอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Game Changer เกมใหม่เปลี่ยนอนาคต” ว่า ธุรกิจด้านพลังงานปัจจุบันมีการ เปลี่ยนแปลงไปพร้อมความต้องการและเทคโนโลยีที่เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องประกอบกับความต้องการใช้พลังงานสะอาดเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดในเรื่องของปัญหามลพิษ โดยในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ ขณะที่ ปตท. ต้องปรับธุรกิจให้สอดรับไปกับสิ่งที่เปลี่ยนไปโดยนำกลยุทธ์ 3D NOW เข้ามาปรับใช้

สำหรับ 3D NOW นั้น 1. Do Now เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน คือการลดต้นทุน เพื่อให้สามารถทำกำไรให้กับบริษัท เหมือนเป็นการ “รีดไขมัน” ส่วนเกินออกไปและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจเพื่อการแข่งขัน

2.Decide Now การขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่ง ปตท. มองว่าควรจะดำเนินการในทันทีโดยเฉพาะ ธุรกิจแก๊ซ พลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบันนอกจากความต้องการใช้มีมากขึ้น การขนส่งก็ง่ายและสะดวก สามารถส่งข้ามประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้

และ3.Design Now แสวงหาธุรกิจใหม่ ซึ่ง ปตท. มีโครงการ กิจกรรมที่จะสร้างการลงทุนในเรื่องนี้เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้กับสายงาน

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3D Now นั้นจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการปรับธุรกิจในองค์กรเพื่อรอบรับการให้บริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการใช้รถไฟฟ้าที่อนาคตที่จะต้องเข้ามาแน่นอน และการสร้างบริการแบบครบวงจรในปั้มน้ำมัน ที่ไม่ใช่เพียงการให้บริการเติมน้ำมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งอนาคตต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิด วิธีคิดในการธุรกิจ รวมไปถึงการ ลงทุนในธุรกิจใหม่ในอนาคตต่อไปด้วย

กล้าคิดต่างเพื่ออนาคต ฉบับ “มาสด้า”

ส่วนชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหารบริษัท มาสด้า เซลล์(ประเทศไทย) จำกัด บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Game Changer อุตฯยานยนต์ไทย”  ว่า “Game Changer ของมาสด้าเริ่มต้นจากสิ่งที่เราคิดไม่เหมือนคนอื่น กล้าที่จะแตกต่าง ใส่ใจทุกรายละเอียด โดยมีแผนการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตแบบเป็นขั้นเป็นตอนอย่าง “Mazda Building Block Strategy” มี 3 องค์ประกอบที่สำคัญคือ พัฒนาและนำเทคโนโลยีในอนาคตมาใช้ในกรอบเวลาที่เหมาะสม, คำนึงถึงโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และ Industry Transformation การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีที่เหมาสมแบบเป็นขั้นตอน จากเทคโนโลยีปัจจุบันสู่อนาคต

กุญแจแห่งความสำเร็จ คือการคิดออกนอกกรอบ กล้าคิดต่าง ในการพัฒนาเครื่องยนต์ ทุกคนกำลังมุ่งไปพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่ พลังงานไฟฟ้า แต่กลับลืมไปว่า เรายังมีช่องว่างที่จะพัฒนาเครื่องยนต์เบนซินไปสู่ความสมบูรณ์แบบ คุณสมบัติเชิงความร้อน ที่จะเกิดการพัฒนาทางวิศวกรรม จนมาเป็นเทคโนโลยีสกายแอคทีฟโดยสกายแอคทีฟ คือเทคโนโลยีของรถทั่งคัน ความสมบูรณ์แบบในอุดมคติ ธีมการออกแบบยนตรกรรม เน้นความสวยงาม เคลื่อนไหวแล้วสง่างาม รูปทรงที่ดูเคลื่อนไหว แม้ดูสงบนิ่ง

สำหรับอีกหนึ่งในกลยุทธ์ Game Changer ของมาสด้าคือให้ความสำคัญกับ “Customer Centric” ทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างละเอียดเเละผลิตสินค้าคุณภาพ โดยการผลิตที่พัฒนาจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ปรับจากการผลิตเพื่อเน้นปริมาณ เเละการบริหารต้นทุนสู่การผลิตเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างเเท้จริง อีกทั้งยังต้องพัฒนาการทำงานที่เชื่อมโยงทั้งระบบ Integrated Supply-Demand System

พฤติกรรมเปลี่ยน! “คน” ทำให้เกิดการถูกดิสรัป

ปิดท้ายด้วยนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Offcer ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Game Changer in Digital ERA” ว่า หากจะพูดถึงการถูกทำลาย (disruption) หลายคนคิดว่า เกิดจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยน จึงทำให้เกิดการทำลายไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายอุตสาหกรรม แต่ตนมองว่า ความเป็นจริงแล้ว การถูกดิสรัปที่แท้จริงมาจาก “คน” ที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

โดยพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล หากเทียบกับช่วง 10 ปีก่อน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่โลกดิจิทัล สู่มือถือมากขึ้น อย่างสถิติการดูมือถือของคนไทย พบว่า ปัจจุบันคนไทยดูมือถือมากสุดในโลก คือกว่า 400 ครั้งต่อวัน เทียบกับคนสหรัฐ ที่มีสถิติดูมือถือเพียง 150 วันต่อครั้ง ดูทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ต้องผ่านมือถือทั้งหมด ทั้งซื้อ เที่ยว จ่าย ฯลฯ

Age of Now ทุกอย่างรอไม่ได้

ดังนั้นจึงทำให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาก จึงทำให้เกิด Age of Now ทุกอย่างรอไม่ได้ ต้องเรียลไทม์ทั้งหมด ทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ ๆ มากมายเข้ามาในตลาด ทั้งอาลีบาบา หรือ แกร็บ ที่เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยมักจะเริ่มต้นด้วยการให้บริการฟรี เช่น ส่งสินค้าฟรี ฟังเพลงฟรี ดูหนังฟรี เป็นต้น เพราะต้องการข้อมูล (data) เพื่อต่อยอดไปสู่การให้บริการอื่น ๆ เช่น การปล่อยกู้จากดาต้า เป็นต้น

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มให้ทำไมธนาคารต้องกลับหัวตีลังกา โดยการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) บนธุรกรรมดิจิทัล เพราะหากแบงก์ไม่ปรับตัว แบงก์ก็จะถูกดิสรัปจากคนที่เห็นช่องว่าง เห็นโอกาสตรงนี้ และผู้บริโภคก็ยังคงมองแบงก์ว่า “งก ช้า ห่วย” ต่อไป ทั้งนี้ การยกเลิกค่าฟี ก็เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม ทำให้ธนาคารมีดาต้า เอาลูกค้ามาอยู่บนดิจิทัล เพื่อทำให้ธนาคารมีข้อมูลนำไปต่อยอดและใช้นำไปปล่อยกู้ได้ เพราะอนาคตมีคำกล่าวที่ว่า มีแบงก์จะอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่แบงก์

เปลี่ยนภาพแบงก์ “งก ช้า ห่วย”

“หลายที่บอกแบงก์จะถูกดิสรัปเป็นอันดับแรก แต่แบงก์อยู่อันดับ 3 กลุ่มแรกที่โดนคือ มีเดีย เทเลคอม แล้วถึงมาแบงก์ ทุกวันนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ จากคนที่เข้ามาที่ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดช่องว่าง ทำให้อาลีบาบาเข้ามา เปลี่ยนโลก เปลี่ยนพฤติกรรมคน หรือ เจดี ดอทคอม ที่ส่งสินค้าเรียลไทม์ ทำให้ถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านโลจิสติกส์ รายย่อย (รีเทล) จึงได้รับผลกระทบ เพราะเวลามีค่า เดี่ยวนี้จึงต้องเป็นทุกอย่าง และทุกอย่างฟรีหมด ทั้งฟังเพลง ดูหนัง ฟรีจนลูกค้าไม่ค่อยยอมจ่ายอะไรแล้วตอนนี้ นั่นทำให้เราต้องยกเลิกค่าฟี เพราะลูกค้าไม่รอแล้ว ลูกค้าเคยคิดว่า แบงก์ งก ช้า ห่วย ลูกค้าก็จะคิดอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ หากเราไม่เปลี่ยน” นายธนากล่าว

ทั้งนี้ จากการยกเลิกค่าฟีของธนาคารในช่วงเม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นปริมาณการทำธุรกรรม (Transaction) ออนไลน์มากขึ้น โดยล่าสุดมีปริมาณการทำธุรกรรมเกิน 2 ล้านธุรกรรมต่อวันแล้ว จากเดือน ส.ค.2560 ที่มีธุรกรรมแค่ 1 ล้านธุรกรรมต่อวัน โดยปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีจำนวนลูกค้าที่สมัครใช้แอปพลิเคชั่น scb easy แล้วกว่า 6 ล้านบัญชี

กระโดดเล่นเกม…แบงก์ต้องทำให้ลูกค้ารักมากขึ้้น

ซึ่งทั้งหมดเป็น Game Changer โดยแบงก์ไม่ได้เริ่ม แต่ยักษ์ใหญ่ในวงการ (ดิจิทัลไจแอนท์) เป็นคนเริ่ม แบงก์จึงต้องเล่นตาม และนำมาปรับเปลี่ยนเป็นบริบทของธนาคาร โดยทำให้ลูกค้าอยู่กับธนาคารมากขึ้น รักธนาคารมากขึ้น ซึ่งกลับหัวจากสิ่งในอดีต แม้ว่าแบงก์จะชอบมันหรือไม่ แต่เกมส์มันเปลี่ยน แบงก์ก็จำเป็นต้องเปลี่ยน สะสมลูกค้าบนดิจิทัลให้มากที่สุด และพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้โมบายแบงกิ้งสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อรับมือการแข่งขัน และต้องคิดว่า ต้องเริ่มจากการไม่รู้ เพื่อพัฒนไปสู่สิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะแม้ข้างหน้าแบงก์ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ภายใต้อันตรายก็ยังมีโอกาสสำหรับแบงก์อยู่


ชมภาพบรรยากาศงาน “GAME CHANGER…เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” ทั้งหมด คลิกที่นี่