กองทุนตรึงดีเซล30บาท/ลิตร ดึงคนใช้รถรับภาระคนละครึ่ง

ราคาน้ำมันดิบโลกวิ่งไม่หยุดทะลุ 80 เหรียญ/บาร์เรล ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศพุ่งตาม กระเทือนต้นทุนสินค้า-ค่าขนส่ง ด้าน “ศิริ”รมว.พลังงาน ให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยลดผลกระทบตามสูตรช่วยกันคนละครึ่ง รัฐอุดหนุน50% ยอมให้ขึ้นราคาขายปลีกแค่ 50% ของราคาที่ควรจะเป็น

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกล่าสุด (22 พ.ค. 61) ว่า มีการปรับตัว “เพิ่มขึ้น” โดย TOP ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 69-74 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์จะเคลื่อนไหวที่ 76-81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น (19 พ.ค. 2561) ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 37.36 บาท/ลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 30.25 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 29.98 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ (E20) อยู่ที่ 27.74 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.79 บาท/ลิตร

5 วิธีลดผลกระทบราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวจากผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่วิเคราะห์ว่า แนวทางการแก้ปัญหาหรือมาตรการเพื่อลดผลกระทบกรณีน้ำมันขึ้นราคา เมื่อพิจารณาจากเครื่องมือและกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน สามารถดำเนินการได้ 5 วิธีคือ

1) การปล่อยราคาน้ำมันให้ปรับขึ้น-ลงตามต้นทุนจริง โดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงราคา 2) ใช้กลไกที่มีอยู่ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันนั้นก็คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปอุดหนุน (subsidy) โดยตรง 3) ลดหรืองดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและภาษีเทศบาล 4) ลดหรืองดการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ 5) ใช้กลไกบริษัทน้ำมันของชาติที่ดูแลเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงานคือ บริษัท ปตท.ชะลอหรือลดการปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างไม่เป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันจะพบว่า น้ำมันขายปลีกในประเทศแต่ละลิตรมีการเก็บเงินในรูปของภาษีและกองทุนต่าง ๆ ที่ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่าง น้ำมันเบนซิน 95 ที่ราคาขายปลีกล่าสุด (22 พ.ค.) อยู่ที่ 37.36 บาท/ลิตร แต่เมื่อแยกโครงสร้างราคาออกมาจะพบว่า รัฐบาลบวกภาษีและเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ เข้าไปในราคาน้ำมันด้วย ทำให้ส่วนต้นทุนภาษีและกองทุน สูงถึง 15.9321 บาท/ลิตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของราคาน้ำมัน ขณะที่น้ำมันดีเซลราคาขายปลีกอยู่ที่ 29.79 บาท/ลิตร มีส่วนต้นทุนภาษีและกองทุนที่ 8.4 บาท/ลิตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของราคาน้ำมัน

“ภาษีที่ถูกบวกเข้าไปในราคาน้ำมันขายปลีกมากที่สุดก็คือ ภาษีสรรพสามิต โดยจัดเก็บอยู่ระหว่าง 5.20-5.80 บาท/ลิตร นอกนั้นยังมี VAT อยู่ระหว่าง 1-1.85 บาท/ลิตร จากราคาเนื้อน้ำมันที่ออกจากโรงกลั่นอยู่ระหว่าง 19-22 บาท/ลิตร ขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำมัน แต่การลดหรืองดเก็บภาษีสรรพสามิตจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันไปมาก ขณะที่การใช้กลไกบริหารจัดการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กับกองทุนก๊าซ LPG (กรณีต้องอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม) ที่มีเงินรวมกันประมาณ 31,056 ล้านบาท (กองทุน LPG มีเงินประมาณ 551 ล้านบาท) “อาจจะอุดหนุนราคาได้ไม่ถึง 1 ปี”

เอกชนตั้งรับที่ 70 เหรียญ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการต่างกังวลกับการปรับขึ้นราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มโลจิสติกส์ จะได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรก และจะส่งผลเชื่อมโยงมายังภาคการผลิต “ขณะนี้ผลกระทบในเชิงจิตวิทยาเกิดขึ้นแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังต้องประเมินอีกระยะหนึ่ง

ผมคิดว่าราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ ภาคการผลิตอื่นยังสามารถที่จะแบกรับภาระต้นทุนจากราคาน้ำมันได้ระยะหนึ่ง แต่หากปรับขึ้นไปถึง 80-85 เหรียญจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั้งหมดแน่นอน

ส่วนแนวโน้มของราคาน้ำมันดิบนั้น “ไม่น่าขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญ” พร้อมกันนี้ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสจะขยายตัวได้ 4.0-4.1% ตามเป้าหมายที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วางไว้

ขอเอกชนตรึงราคาสินค้า

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะเชิญผู้ประกอบการ-ซัพพลายเออร์หารือประเมินสถานการณ์ โดยอาจจะ “ขอความร่วมมือ” ให้ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าไว้ก่อน หากต้นทุนไม่ได้ปรับขึ้นหนักหนาสาหัสจนเกินไป โดยขณะนี้กรมศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าขนส่งรถบรรทุก 5% พบว่า จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในภาพรวมน้อยสุด 0.0032% และกระทบมากสุดที่ 0.4853% โดยสินค้าที่กระทบน้อยสุดคือ ผ้าอนามัย ส่วนสินค้ากระทบมากสุดคือ ปูนซีเมนต์ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มพบว่า จะกระทบน้อยสุด 0.0178% มากสุด 0.2772% ซึ่งสินค้าที่กระทบน้อยสุดคือ ปลากระป๋อง

สินค้าที่กระทบมากสุดคือ นมถั่วเหลือง ส่วนหมวดเกษตร สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ยาปราบศัตรูพืช กระทบ 0.0848% และปุ๋ยเคมี กระทบ 0.2452% ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กก. จาก 353 บาท/ถัง เป็น 395 บาท/ถัง หรือปรับเพิ่มขึ้น 42 บาท/ถัง พบว่า ส่งผลให้ต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) เพิ่มขึ้น 15-20 สตางค์/จาน/ชาม

พลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมัน

ล่าสุด ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับเพิ่มขึ้น 15.30 เหรียญ/บาร์เรล หรือจาก 61.75 เหรียญเป็น 77.05 เหรียญ/บาร์เรล (19 พ.ค. 2561) ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิง Platts ตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น 16.69 เหรียญ/บาร์เรล หรือจาก 76.55 เหรียญเป็น 93.24 เหรียญ/บาร์เรล แต่เมื่อคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนตัวลง (32.29 บาท/เหรียญสหรัฐ) ทำให้ราคาดีเซลอ้างอิงในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น 0.52 บาท/ลิตร หรือประมาณ 3.82 บาท/ลิตร

อย่างไรก็ตาม การปรับสูตรการคำนวณราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่นที่ผ่านมา และลดจำนวนเงินจัดเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.15 บาท/ลิตรในเดือนเมษายน ทำให้ราคาดีเซลขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 0.62 บาท/ลิตร กล่าวคือ ราคาดีเซลเพิ่ม 29.79 บาท/ลิตร นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังมีโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ (B20) ให้มีส่วนลดราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่ 3 บาท/ลิตร ทำให้ราคาต้นทุนดีเซลสำหรับรถบรรทุก-รถโดยสารขนาดใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 27 บาท/ลิตร

ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบด้วยการ 1) ในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำมัน B20 จำหน่ายจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินกว่า 30 บาท/ลิตร

2) หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น “เกินกว่า” 80 เหรียญ/บาร์เรล จะใช้กองทุนน้ำมันฯช่วยลดภาระให้ขึ้นราคาขายปลีกเท่ากับ 50% ของราคาที่ควรจะเพิ่มขึ้น (น้ำมันตลาดโลกขึ้น 1 บาทกองทุนจะลดภาระ 50 สตางค์/ลิตร เท่ากับน้ำมันขึ้นราคา 50 สตางค์/ลิตร


และ 3) หากราคาน้ำมันดิบเบรนต์ (brent) เพิ่มขึ้นถึง 90 เหรียญ/บาร์เรล และส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 105 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว ด้วยฐานะกองทุนน้ำมันฯที่มีเงินคงเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาทจะเพียงพอต่อการใช้มาตรการให้กองทุนน้ำมันฯช่วยลดภาระการขึ้นราคาขายปลีกตามสูตร 50% ได้ประมาณ 10 เดือน