รัฐจัดทัพ”ซีอีโอ”รัฐวิสาหกิจ-ขรก.ใหม่ ซี10-11 ยกแผง ปตท.ชี้ขาดเกมประมูลไฮสปีดEEC !!

รัฐบาลจัดทัพซีอีโอรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ซี10-11 ใหม่ยกแผง ก่อนฤดูโยกย้าย “สมคิด” เซตอัพทีมประเทศไทย ส่ง “ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย” นั่งประธานบอร์ด ปตท. หนุนยักษ์พลังงาน ชี้ขาดชัยชนะเกมประมูล “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” ชิงลงมือโยกข้าราชการระดับสูง เก้าอี้ 4 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจว่าง เขย่าใหม่ “คมนาคม-พาณิชย์-เกษตรฯ-พลังงาน” 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่สำคัญใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์วงเงินรวมนับล้านล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินไร้รอยต่อ รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ฯลฯ

ส่ง ปตท.หัวหอก “ไฮสปีดอีอีซี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการ บมจ.ปตท. เมื่อ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเสนอชื่อนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธานบอร์ด รวมทั้งการอนุมัติแต่งตั้ง นายพงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท แทนนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ที่จะเกษียนอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้

สำหรับกรณีของนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ปัจจุบันเป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ถือเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับของรัฐบาล คสช. ซึ่งได้รับเลือกให้ไปนั่งเป็น รองประธานกรรมการธนาคาร ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่ปี 2558 และเมื่อ พ.ย. 2560 ก็ได้มอบหมายมานั่ง ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

แหล่งข่าวกล่าวว่า รองนายกฯสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ส่งนายไกรฤทธิ์ มานั่งประธานบอร์ด บมจ.ปตท. เพื่อให้มาทำงานร่วมกับ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ที่เพิ่งผ่านการคัดเลือกโดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งซีอีโอ 1 ก.ย. 2561 เพื่อเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อการพลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศไทย ต้องอาศัยแรงหนุนจากรัฐวิสาหกิจใหญ่ที่มีศักยภาพและมีฐานะการเงินแข็งแกร่งร่วมสนับสนุน

ปตท.ชี้ขาดจับมือใครคนนั้นชนะ

แหล่งข่าวจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่แสดงความจำนงในการเข้าร่วมและต้องการชิงชัยชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไปสู่ศูนย์กลางอีอีซี เปิดเผยว่า “รัฐบาลต้องการให้กลุ่ม ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่รองจากผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยให้ ปตท.เป็นแกนกลางเชื่อมระหว่างทุนใหญ่ในไทย กับทุนที่จะมาจากต่างประเทศ เช่น จีน หรือญี่ปุ่น ซึ่งหาก ปตท.จับมือเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับขั้วใด ขั้วนั้นจะมีสิทธิ์ได้รับชัยชนะในการประมูล จึงต้องวางบุคคลที่เป็นซีอีโอ ปตท.ไว้ให้เหมาะสมกับบทบาทสำคัญ”

ทั้งนี้ที่ผ่านมา บอร์ด ปตท.ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปตท.สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของอีอีซี เนื่องจากเป็นความประสงค์ของทางรัฐบาลที่ต้องการให้ ปตท. ซึ่งมีศักยภาพเข้าร่วมเป็นหนึ่งในการลงทุนโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับนโยบายของ ปตท. ที่ต้องการหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อสร้าง New S-curve ให้กับบริษัท

จากการสอบถาม นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. ถึงความสนใจเข้าร่วมประมูลไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน นายอรรถพลกล่าวเพียงว่า เรื่องนี้เป็นโปรเจ็กต์เพื่อชาติจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นหากนักลงทุนไทยรายไหนที่มีศักยภาพก็ควรจะส่งเสริม และถือเป็นอีก game changer ของ ปตท. เพราะเป็นการไดเวอร์ซิฟายธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ชิงวางคนก่อนสู่โหมดเลือกตั้ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คลังได้มีการโยกย้ายกลางปีไปแล้วตั้งแต่ พ.ค. คงมีการแต่งตั้งเฉพาะผู้เกษียณอายุราชการ คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการคนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือน ก.ย.นี้

สำหรับแคนดิเดต ส่วนใหญ่เป็นลูกหม้อ สศค. คือ นายลวรณ แสงสนิท ปัจจุบันเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง, นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. และนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สศค.

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ชิงปรับย้ายข้าราชการกระทรวงการคลังไปแล้ว โดยแต่งตั้ง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันได้แต่งตั้ง นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นอธิบดีกรมสรรพากร และนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นผู้อำนวยการ สคร. และแต่งตั้ง นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นผู้อำนวยการ สคร.

“ที่มีการจัดทัพกระทรวงการคลังตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา ฝ่ายการเมืองจึงต้องวางตัวผู้ที่ไว้วางใจ และผู้ที่พร้อมจะสนับสนุนฝ่ายการเมืองอย่างเต็มที่เข้ามา ซึ่งคนเหล่านี้ยังต้องไปนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ อีกด้วย”

จัดแถวบอร์ดรัฐวิสาหกิจใหม่ 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงนี้มีการเกลี่ยโควตากรรมการรัฐวิสาหกิจกันใหม่ เช่นการแต่งตั้ง นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธานกรรมการ บมจ.ปตท. ขณะที่โควตาของกระทรวงการคลัง มีการแต่งตั้งนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เข้าไปเป็นกรรมการ

ขณะที่นายประสงค์จะได้แต่งตั้งเข้าไปเป็นประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย (TMB) พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ยังคงนั่งเป็นประธานกรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) อยู่เช่นเดิม

สำหรับนายเอกนิติจะได้รับแต่งตั้งเข้าไปเป็นประธานกรรมการ ธนาคารกรุงไทย (KTB) รวมถึงได้รับแต่งตั้งเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ บมจ.การบินไทย อีกตำแหน่ง ซึ่งนายเอกนิติเป็นผู้ที่ได้รับเสียงเชียร์จากนายสมคิดมาโดยตลอด และก่อนหน้านั้นก็มีคำสั่ง คสช. แต่งตั้ง นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รวมถึงแต่งตั้ง นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการ ร.ฟ.ท.ด้วย ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากนายสมคิดทั้งสิ้น

ในส่วนการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่ แทน พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ที่ครบวาระไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2561 นั้น แม้ว่าที่ผ่านมาบอร์ดจะเห็นชอบให้เลือก พ.ต.ท.บุญส่ง จันทร์ศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯคนใหม่แล้วก็ตาม แต่ล่าสุดมีกระแสว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานบอร์ด อาจจะให้ดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯใหม่

“สุเมธ” ม้ามืดดีดีบินไทย

แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากที่คณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบการสรรหา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม เมื่อ 19 พฤษภาคม 2561 ถือว่ากระแสภายในองค์กรเงียบมาก ไม่มีเสียงตอบรับในมุมยินดีหรือต่อต้านแต่อย่างใด ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าผลการสรรหารอบนี้เกินจากที่หลายฝ่ายคาดหมายไว้มากพอสมควร

“การสรรหาดีดีทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อเห็นรายชื่อผู้สมัครเราก็พอจะคาดเดาได้ว่าใครจะมา เพราะตำแหน่งนี้มักมาพร้อมกับการเมืองเสมอ แต่รอบนี้หลายคนเดาไม่ถูกว่า ดีดีใหม่คนนี้เป็นมาอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระบวนการต่อรองเรื่องผลตอบแทน น่าจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้เข้ามาเรียนรู้และสานต่องานจากรักษาการดีดีคนปัจจุบันต่อไปได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ นายสุเมธเคยเป็นผู้บริหารบริษัทแกรมมี่ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)

4 ปลัด ศก.เกษียณยกแผง 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า 30 ก.ย.นี้จะมีผู้บริหารสำคัญในกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญเกษียณพร้อมกันหลายตำหน่ง โดยจะมีระดับปลัดกระทรวงเกษียณพร้อมกัน 4 กระทรวง คือ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า สำหรับกระทรวงคมนาคมที่มีเม็ดเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งกว่า 2 ล้านล้านบาท กำลังถูกจับตาว่าใครจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ปลัดกระทรวงคมนาคม แทนที่นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี โดยแคนดิเดตที่มาแรง 3 คน คือ นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดหัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาวุโสสูงสุด นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ ซึ่งรองนายกฯ สมคิด ไว้วางใจ ทำให้ได้นั่งรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อีกตำแหน่งหนึ่ง

ดันลูกหม้อรถไฟเร่งไฮสปีด-ทางคู่

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับนายอานนท์นั้นแม้ว่าล่าสุดจะไม่ได้นั่งรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. แต่ยังคงนั่งเป็นบอร์ด และรัฐบาลจะยังคงมอบหมายภารกิจให้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องของโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดคมนาคม ที่ยังขาดผู้บริหารตัวจริงนั่งบริหารงาน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ล่าสุด วันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งแต่งตั้ง นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน นั่งรักษาการผู้ว่าการ แทนนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อาศัยความได้เปรียบเป็นลูกหม้อการรถไฟฯ สะสางงานที่ค้างอยู่ ทั้งแผนฟื้นฟูหนี้กว่า 1.2 แสนล้านบาท ประมูลรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การจัดหาเอกชนมาร่วมลงทุนพัฒนาที่ดิน เช่น ย่านบางซื่อ มักกะสัน สถานีแม่น้ำ เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว

ขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ โดย กทท.มีโครงการเร่งด่วนคือ ประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับอีอีซี และแผนพัฒนาที่ดินย่านคลองเตย 2.3 พันไร่

ส่วน กทพ.จะประกาศผลสรรหาผู้ว่าการ 23 พ.ค. 2561 จาก 4 คนที่ลงสมัคร เป็นคนนอก 3 คน และคนใน 1 คน คือ นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา โครงการเร่งด่วนคือ ประมูลทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก วงเงินกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท และการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2

ก.เกษตรฯมึนขาดผู้บริหาร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระทรวงเกษตรฯนอกจากตำแหน่งปลัดที่จะว่างลง ยังมีผู้บริหารระดับสูงที่จะเกษียณอีกหลายตำแหน่ง ได้แก่ นายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และระดับอธิบดี 3 กรม ได้แก่ นายสุวิชย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ทาบทามคนจากกระทรวงมหาดไทย มาช่วยงานที่กระทรวงเกษตรฯ

รายงานข่าวระบุว่า ปีนี้ข้าราชการเกษียณอายุค่อนข้างมาก ทำให้ขาดแคลนบุคลากร ส่วนโผปลัดคนใหม่ที่เป็นคนในกระทรวง คือ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

แหล่งข่าวระบุว่า หากตำแหน่งปลัดคนใหม่ข้ามห้วยจากมหาดไทย จะสามารถมาบูรณาการการเกษตรและการเมือง โดยเชื่อมโยงแผนงานที่รัฐมนตรีเน้นเป็นพิเศษในขณะนี้ คือการขับเคลื่อนปฏิรูปโครงสร้างเกษตร การตลาดนำการผลิต ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อ.ก.พ.) มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน

ส่งไม้ต่อประมูลบงกช-เอราวัณ

สำหรับผู้บริหารกระทรวงพลังงานที่จะเกษียณอายุ นอกจาก นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็มีนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และนายสุชาลี สุมามาลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ขณะที่ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย รองผู้ว่าการด้านการพัฒนาระบบส่ง ได้รับเลือกมาเป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ แทนนายกรศิษฐ์ ภัคโชตานนท์ ที่เกษียณอายุ

“ถือเป็นการการส่งไม้ต่อภารกิจสำคัญ คือ การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ที่นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ เพิ่งเปิดให้ผู้สนใจยื่นคุณสมบัติเบื้องต้น โดยจะประกาศผลผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ วันที่ 28 พ.ค.นี้ และยังมีการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ 7-8 แปลง ในปลายปีนี้อีกด้วย”

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ นอกจากปลัดนันทวัลย์ที่จะเกษียณอายุราชการ ก็มีนางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และนางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะมีการสรุปรายชื่อแต่งตั้งผู้บริหารได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยนางบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะรับตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ จากความเชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการอีคอมเมิร์ซการสร้างความเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอาลีบาบา ตลอดจนงานส่งเสริมการสร้างอาชีพผู้มีรายได้น้อย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก