มะกันซุ่มพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ “ARoma17-CLJ01″แข่งหอมมะลิไทย

ซ้ำรอย JAZZMAN พาณิชย์เผยสหรัฐส่งข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์แข่งไทย ด้าน ส.ส่งออกข้าวหวั่นกระทบตลาดสหรัฐเบอร์ 1 ข้าวหอมมะลิไทย ชี้ปีนี้แข่งยากผลผลิตน้อย-ราคาสูงลิ่ว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา สหรัฐได้มีการประกาศให้การรับรองข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวจัสมิน ARoma17 ข้าวจัสมิน CLJ01 และข้าวจัสมิน Calaroma-201 โดยข้าว 3 สายพันธุ์ดังกล่าวถือเป็นความหวังใหม่ของสหรัฐ ซึ่งต้องการจะใช้เป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการบริโภคข้าวกลิ่นหอมในสหรัฐ โดยสหรัฐชี้ว่าข้าวจัสมิน ARoma17 และข้าวจัสมิน CLJ01 เป็นข้าวที่มีคุณสมบัติความหอมทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย และมีราคาต่ำกว่าข้าวไทยด้วย ซึ่งอาจจะเป็นภัยคุกคาม และส่งผลกระทบต่อการขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในอนาคต

ทั้งนี้การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของสหรัฐครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 นับจากที่สหรัฐเคยพยายามพัฒนาข้าวสายพันธุ์ JAZZMAN ขึ้นมาสำเร็จเมื่อปี 2549 และข้าว JES ในปี 2552 โดยข้าว JAZZMAN ประสบความสำเร็จ สามารถวางขาย 48 มลรัฐ และส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ส่วนข้าว JES ซึ่งถูกนำมาวางจำหน่ายในแบรนด์ American Jazmine ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

สำหรับข้าวจัสมิน ARoma17 พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ เมืองชตุทท์การ์ท โดยการนำข้าว Jazzman และเชื้อ PL597046 มาพัฒนาต่อยอดใช้เวลา 9 ปี เพื่อให้ได้ข้าวเมล็ดยาวมีกลิ่นหอม ให้ผลผลิต 7,740 ปอนด์ต่อเอเคอร์ โดยคาดว่าจะวางจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดนี้ได้ในช่วงปลายปี 2561 ส่วนข้าวจัสมิน CLJ01 พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐลุยเซียนา เป็นกลุ่มข้าวกลิ่นหอมเมล็ดยาว โดยพันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูงกว่า Jazzman ถึง 30% แต่ปัจจุบันยังไม่มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์ และข้าวจัสมิน Calaroma-201 เป็นข้าวชนิดเม็ดยาว พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวแห่งแคลิฟอร์เนีย โดยพัฒนาจากข้าวสายพันธุ์ผสมระหว่างข้าวจีน และข้าวกลิ่นหอม JES ของอาร์คันซอ แม้ว่าจะให้กลิ่นหอมน้อยกว่า 2 พันธุ์แรก แต่ก็ให้ผลผลิตถึง 9,450 ปอนด์ต่อเอเคอร์

อย่างไรก็ตาม ทาง สคร.ชิคาโกให้ความเห็นว่า หลังจากไทยต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้โดยวางตำแหน่งข้าวไทยเป็น niche market ให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง สร้างความรับรู้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงความแตกต่าง รวมถึงเน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงขยายตลาดสู่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในสหรัฐ เช่น กลุ่มฮิสแปนิก กลุ่มชาวอเมริกันเจเนอเรชั่น X และ Y เป็นต้น

โดยแผนการจัดกิจกรรมทางการตลาดข้าวครบวงจร โดยการสร้างส่งเสริมกิจกรรมการปรุงอาหารทางทีวี เพื่อสร้างการรับรู้ตรา Thai Hom Mali การเข้าร่วมงานเทศกาลอาหารท้องถิ่น รวมถึงงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ เช่น NRA Restaurant Show 2019 เป็นต้น

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากสหรัฐมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่ และสามารถวางขายในตลาดได้ อาจจะส่งผลกระทบต่อไทย เพราะตลาดสหรัฐเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย ไทยต้องติดตามประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียด

สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวหอมมะลิขณะนี้ลดลง เพราะปีนี้ราคาข้าวหอมมะลิไทยแพง ปรับขึ้นไปถึงตันละ 1,250 เหรียญสหรัฐ ราคาทิ้งห่างคู่แข่งจนแข่งขันได้ยาก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเกษตรกรหันไปปลูกอ้อย ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิลดลง โดยผลผลิตข้าวหอมมะลิปี 2560/2561 ลดลง 20-30% ทั้งนี้คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวหอมมะลิในช่วงครึ่งปีหลังจะยิ่งแข่งขันยาก เพราะเท่าที่ทราบในบางตลาดไทยส่งออกลดลง เช่น ล่าสุดได้เดินทางไปสำรวจตลาดที่ประเทศฝรั่งเศสจากเคยนำเข้าข้าวไทยปีละ 40,000-50,000 ตัน ปีนี้หายไปกว่า 50% ขณะที่ข้าวหอมมะลิจากกัมพูชาขายได้มากกว่าไทย 3 เท่า โดยราคาข้าวหอมมะลิกัมพูชาถูกกว่าไทยตันละ 300-400 เหรียญสหรัฐ

ส่วนตลาดข้าวขาวที่แข่งขันกับเวียดนามก็ลำบาก เพราะเวียดนามหันไปผลิตและชิงส่วนแบ่งข้าวคุณภาพดี โดยข้าวขาวพื้นนิ่มมีราคาสูงกว่าไทยตันละ 60-150 เหรียญสหรัฐ จากในอดีตที่ใครมองว่าข้าวเวียดนามคุณภาพต่ำ ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

สำหรับแนวทางในการแก้ไขในอนาคต ไทยต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนิ่ม พันธุ์ กข 20 จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ในปีนี้ เพื่อมาช่วยตลาดตรงกลางระหว่างข้าวหอมมะลิกับข้าวขาว นอกจากนี้สมาคมยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับกลุ่มตัวแทนเกษตร จ.พิษณุโลก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวขาวพื้นนิ่มพันธุ์ใหม่ “พิษณุโลก 80” ปริมาณ 2,000 ตัน โดยสมาคมจะรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาข้าวขาวในตลาดตันละ 500 บาท โดยเริ่มจะดำเนินการในปี 2561/2562 เป็นต้นไป

“ในโอกาสที่ปีนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยก่อตั้งครบ 100 ปี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางสมาคมจะมุ่งผลักดันเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว หลังจากที่รัฐบาลระบายสต๊อกข้าวไปแล้ว ไทยจะต้องหันกลับมาพัฒนาคุณภาพข้าว”

ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1/2561 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิได้ 340,174 ตัน ลดลง 19.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 408,327 ตัน โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ ส่งออกได้ 113,334 ตัน เพิ่มขึ้น 3.1% ฮ่องกง ส่งออกได้ 46,561 ตัน เพิ่มขึ้น 3.7% จีน 43,259 ตัน ลดลง 44.3% แคนาดา 15,711 ตัน ลดลง 5.4% และสิงคโปร์ 13,649 ตัน ลดลง 13.3%