องค์กรส่งเสริมการแข่งขันฯ ชี้แผน PDP ใหม่กระทบค่าไฟแพง

ไฟฟ้า ค่าไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้า พลังงาน

องค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาด ระดมนักวิชาการอิสระ-ภาคเอกชน จัดเสวนา “สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร ?” ชี้แผน PDP 2024 ฉบับใหม่ วางแผนระบบพลังงานพลาดกระทบค่าไฟเพิ่ม ด้านสภาผู้บริโภคแนะรัฐปรับแผนใหม่ -หยุดสร้างโรงไฟฟ้าฯเพิ่ม

วันที่ 4 กันยายน 2567 ผศ.ดร.นิสิต อินทมาโน เลขาธิการองค์กรส่งเสริม การแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาด กล่าวว่า องค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาดจัดเสวนา สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร ? โดยมีนักวิชาการอิสระชื่อดัง นักกฎหมาย และผู้แทนมูลนิธิผู้บริโภคเข้าร่วมเสวนา

โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตัวแทนพรรคประชาชน กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่แพงเกิดจากการวางแผนระบบพลังงานที่ผิดพลาดและการทำสัญญาผูกมัด ทำให้ภาระตกมาอยู่ที่ภาคประชาชน ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 ส่งผลให้ค่าไฟแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็น ถึง 60 สตางค์ต่อหน่วย

หากสามารถตัด over capacity ก็จะทำให้ค่าไฟลดลงได้ประมาณ 0.50 สตางค์ต่อหน่วย และหากมีการทบทวนการจัดหาก๊าซธรรมชาติและซื้อจากประเทศลาวเพิ่มเติมจะทำให้ค่าไฟลดลงได้ประมาณ 0.08 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับปัญหาหลักที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ได้แก่

1. ปัญหาโรงไฟฟ้าเยอะเกินความจำเป็น ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น 50 สตางค์ต่อหน่วย

ADVERTISMENT

การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงกว่าความเป็นจริง : จากสถิติอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงแต่การคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละแผนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างแผน PDP 2024 ได้ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินกว่า 99,000 Gwh หรือ 43% และปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าล้นเกินกว่า 50%

การตั้งเกณฑ์โรงไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินจริง : การปรับดัชนีการเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) จาก 1.0 วันต่อปี เหลือ 0.7 วันต่อปี ส่งผลให้ประเทศต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพิ่มมากขึ้นอีก 7,000 Mh

ADVERTISMENT

การทำแผนที่ไม่ครอบคลุม โดยไม่ได้รวม Direct PPA ในแผน : รัฐบาลเปิดเงื่อนไขให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง หรือ Direct PPA 2,000 Mh เอกชนสามารถซื้อโดยตรงได้ การไฟฟ้าไม่จำเป็นจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าในส่วนนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 และ มีพลังงานหมุนเวียน 68% ปี 2040

หากเดินหน้าตามแผน PDP จะทำให้ไทย มีพลังงานหมุนเวียน 51% ในปี 2037 เนื่องจากตามแผน มีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่มอีก 8 โรง

ประกอบกับต้นทุนที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าก๊าซหากมีการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนจะสูงถึง 5 บาท ทำให้จะต้องเร่งเพิ่มจำนวนอีก 17% ให้บรรลุเป้าในปี 2040 ดังนั้นแผน PDP 2024 ไม่สามารทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

2. ปัญหาการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็นข้ออ้างที่ต้องสร้าง LNG terminal เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น 5 สตางค์ต่อหน่วย

3. ปัญหาไม่ต่อสัญญาเขื่อนเก่าที่ถูก แต่สร้างเขื่อนใหม่ที่แพง ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น 3 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งแผน PDP 2024 มีสมมุติฐานว่าจะไม่ต่อสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวจำนวน 4 เขื่อน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,269 MW เสียค่าไฟอยู่ที่ 1.78 บาทต่อหน่วย โดยต่อสัญญากับเขื่อนที่สร้างใหม่ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,500 MW เสียค่าไฟอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย

ด้าน รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย

1. การผลิตไฟฟ้า (G : Generation) ประกอบไปด้วยต้นทุนค่าก่อสร้างและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า, ค่าเชื้อเพลิง เช่น LNG ที่มีความผันผวนด้านราคา
2. ระบบส่งไฟฟ้า (T : Transportation) มีต้นทุนการพัฒนาสายส่ง และค่าความสูญเสียในสายส่ง จากลาวมาไทย ทำให้สายส่งมีค่าความสูญเสียประมาณ 5-10%
3. ระบบจำหน่ายไฟฟ้า (D : Distribution) ต้นทุนสถานีไฟฟ้าและสายส่งของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

นอกจากนี้ การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูง แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศมีเพียง 55% จากสัดส่วนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าซึ่งไม่เพียงพอ

หากในอนาคตประเทศไทยมีความต้องการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเหลือเพียง 36% เท่านั้น จนต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศมากขึ้นด้วย

แต่ LNG มีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาตามตลาดโลก, มีความเสี่ยงต่อการหยุดเดินโรงไฟฟ้า กรณี ราคาก๊าซสูงจนไม่สามารถแข่งขันได้ และมีต้นทุนจากการพัฒนาท่าเรือ LNG (T3) ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างถูกผลักเข้ามาในค่าไฟในอนาคต

ทั้งนี้ ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เสนอแผนระยะสั้นในการลดค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย

1. รัฐส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคาแบบ Net Metering สำหรับภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs, แบบ Net Billing สำหรับภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจขนาดใหญ่

2. ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ใหม่ โดยให้กลุ่มปิโตรเคมีต้องซื้อ LPG ที่แยกจากก๊าซอ่าวไทย ในราคาใกล้เคียงราคาตลาดโลก

3. เจรจาแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) เพื่อปรับราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ จากกลุ่มต่าง ๆ ทั้งส่วนค่าพร้อมจ่าย ค่า Adder และอัตรา FiT) เปิดระบบซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน (TPA) ให้สามารถซื้อขายพลังงานหมุนเวียนผ่านสายส่งรัฐ ได้อย่างเสรี-เต็มศักยภาพระบบสายส่ง

ด้านแผนระยะยาว ภาครัฐบาลควรปรับกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องกับแนวโน้มใหม่ และลดการพึ่งพาฟอสซิลด้วยการหยุดสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใหม่

ตลอดจนลดการผูกขาด สร้างช่องทางการผลิตและขายไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนในประเทศ (Energy Transition) ลดอุปสรรคการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา ขณะที่ผู้บริโภค/ภาคธุรกิจ ควรหันมาพึ่งพาตนเองให้เต็มที่ โดยการประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา

ขณะที่นายรณกาจ ชินสำราญ ตัวแทนนักธุรกิจที่ผลักดันเรื่องการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและนักวิชาการด้านไฟฟ้า กล่าวว่า ต้นทุนด้านพลังงานที่แพงขึ้นส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพของประชาชนพุ่งสูงมากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับการกำหนดโครงสร้างราคาค่าไฟ แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีการตรึงราคาค่าไฟ ถือเป็นการกดเพดานราคาค่าไฟให้ต่ำลงมา ส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับหนี้มากขึ้นจากประมาณ 40,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 110,000 ล้านบาท

อีกทั้ง จำนวนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนกลับไปกระจุกตัวอยู่กับผู้เล่นน้อยราย โดยกำลังการผลิตทั้งหมดประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ที่ IPP (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่) ประมาณ 34% และกฟผ. อีก 30%

ขณะที่ปัจจุบันมีการย้ายฐานการผลิตไปยังออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น แนานอนว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานสะอาดที่มีต้นทุนการผลิตไม่ผันผวนให้มากขึ้นด้วย