ปัญหา 3 ประการ ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

metal
คอลัมน์ : ช่วยกันคิด
ผู้เขียน : กณิศ อ่ำสกุล ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งทั้งการหดตัวของดีมานด์ การแข่งขันกับเหล็กนำเข้า ตลอดจนเทรนด์ราคาเหล็กขาลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจเหล็กในประเทศอย่างมาก บทความนี้จะพาไปสำรวจปัญหา 3 ประการ พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยที่ต้องจับตาในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“ดีมานด์หดตัว” คือปัญหาประการที่ 1 ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยใน 1H/67 การใช้เหล็กของไทยหดตัวถึง -5.4% YOY ลงมาอยู่ในระดับ 8.0 ล้านตัน เป็นการหดตัวทั้งเหล็กทรงแบน (Flat) และเหล็กทรงยาว (Long) โดยเป็นผลมาจากทิศทางของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ที่หดตัวถึง -17.4% YOY และมูลค่าก่อสร้างที่ติดลบถึง -11.2% YOY ในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากการใช้เหล็กในประเทศจะลดลงแล้ว Krungthai COMPASS มีข้อสังเกตว่า “เหล็กนำเข้ากลับมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” ซึ่งเป็นปัญหาประการที่ 2 โดยสัดส่วนเหล็กนำเข้าต่อการใช้เหล็กของไทยเพิ่มขึ้นจาก 65.6% ในปี 2562 มาอยู่ที่ 69.0% ใน 1H/67 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเหล็กจากจีนที่มีสัดส่วนการนำเข้ามากขึ้นในระยะเวลาดังกล่าว

ปัญหาประการที่ 3 คือ “เทรนด์ราคาเหล็กขาลง” ใน 1H/67 ราคาเหล็กไทยเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 21.3-25.2 บาทต่อกิโลกรัม ปรับตัวลง -9% ถึง -7% YOY ตามทิศทางราคาเหล็กในจีนที่ถูกกดดันจากปัญหาในภาคอสังหาฯ ซึ่งยังอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยอดขายอสังหาฯ หรือพื้นที่ก่อสร้างใหม่ที่ลดลงถึง -19% และ -23.7% ใน 1H/67

จากปัญหาทั้ง 3 ประการ ทำให้ธุรกิจเหล็กไทยส่วนใหญ่ใน 1H/67 อยู่ในภาวะที่ไม่สู้ดีนัก อ้างอิงจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวด .STEEL ที่กว่าครึ่งเริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังมีปัญหาด้านผลประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ลดลงรวมกัน -14.5% YOY คิดเป็นมูลค่าที่หายไปราว 12,000 ล้านบาท การมีสภาพคล่องที่ตึงตัวจาก Cash Cycle ที่ยาวขึ้น และ Quick Ratio ที่ลดลง ตลอดจนการมีผลขาดทุนสุทธิรวมกันกว่า 2,400 ล้านบาท

แล้วแนวโน้มทั้งปี 2567 จะเป็นอย่างไร ? Krungthai COMPASS ประเมินว่าความต้องการใช้เหล็กของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 15.7 ล้านตัน หดตัว -3.8% เนื่องจากยังถูกกดดันจากจำนวนการผลิตรถยนต์ที่อาจอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.62 ล้านคัน หรือ -11.7% ส่วนทิศทางก่อสร้างคาดว่าแม้ภาครัฐจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ในช่วงที่เหลือของปีปฏิทิน แต่จากการหดตัวที่ค่อนข้างหนักใน 1H/67 จึงมีโอกาสภาคก่อสร้างในปี 2567 จะทำได้เพียงอยู่ในระดับทรงตัวจากปีที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

ส่วนในปี 2568 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กจะอยู่ที่ 16.0 ล้านตัน ฟื้นตัวเล็กน้อย +2.1% (YOY) ตามทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปลายน้ำ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (2561-2566) ที่ 17.3 ล้านตัน พอสมควร

ด้านราคาเหล็กมองว่าจะขึ้นอยู่กับภาวะอสังหาฯในจีน โดยหากยังไม่อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ราคาเหล็กจะอยู่ในเทรนด์ขาลงต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กควรติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Stock Loss

ADVERTISMENT

สุดท้ายแล้ว Krungthai COMPASS ยังมองว่า อุตสาหกรรมเหล็กยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะถัดไป ประกอบด้วย 1) การเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตรถยนต์ของไทยจากรถยนต์สันดาป (ICE) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ซึ่งมีโอกาสทำให้การใช้เหล็กต่อการผลิตรถยนต์หายไปคันละ 100-200 กิโลกรัม ตามการวัสดุน้ำหนักเบาเพื่อขยายระยะทางวิ่ง และการหายไปของเครื่องยนต์สันดาป จึงน่าคิดตามว่าการใช้เหล็กจะสามารถฟื้นตัวตามการผลิตรถยนต์ในอนาคตได้จริงหรือไม่

ประเด็นต่อไป คือ 2) การมาถึงของ Megaprojects ใหม่ ๆ จะสนับสนุนการใช้เหล็กไทย สะท้อนจากการประเมินของ TDRI ว่า ในปี 2568-2569 ภาครัฐจะมีมูลค่าเบิกจ่ายงบประมาณโครงการ Megaproject เพิ่มขึ้นจากปี 2567 อีกเท่าตัว นอกจากนี้ หากภาครัฐสามารถเพิ่มสัดส่วน Local Content ได้มากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยสามารถแข่งขันกับเหล็กนำเข้าได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย คือ 3) กระแส ESG ซึ่งจะเข้ามากดดันทั้งต้นทุนและภาวะแข่งขัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ มาตรการ EU-CBAM ที่นอกจากจะทำให้ผู้ผลิตเหล็กไทยมีต้นทุนส่งออกสูงขึ้น จากการปฏิบัติตามเกณฑ์แล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้การแข่งขันกับเหล็กนำเข้ารุนแรงขึ้น จากการที่จีนหันมาตีตลาดอื่น ๆ แทน EU ส่วนประเด็น ESG อื่น ๆ ที่ยังต้องติดตามความคืบหน้า ได้แก่ มาตรการ CBAM ออสเตรเลีย รวมถึง Thailand Taxonomy ระยะ 2 ที่จะครอบคลุมภาคการผลิตมากยิ่งขึ้น