
ธุรกิจไทยใน สปป.ลาว ปรับตัวจ่ายเงินเดือนพนักงานท้องถิ่นเป็น “กีบ” รับประกาศกระทรวงแรงงานลาวที่จะมีผลบังคับใช้ให้จ่ายกีบเป็นเงินเดือนในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ชี้คนลาวรับความเสี่ยง เหตุเงินกีบผันผวนหนัก อ่อนค่ารายวัน จนนายจ้างต้องใช้วิธีปรับขึ้นเงินค่าครองชีพพิเศษช่วยเหลือพนักงานเป็นรายเดือน
กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สปป.ลาว ได้ออกประกาศให้บริษัทต่างชาติทั้งหมดที่ประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว จะต้องจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างพนักงานเป็น “เงินกีบ” ทั้งหมด โดยห้ามจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศในทุกกรณี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยผลของการออกประกาศดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการรักษาเสถียรภาพเงินกีบและความต้องการเงินตราต่างประเทศ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นไปจนถึงความขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลถึงทุนสำรองเงินตราของ สปป.ลาวโดยตรง
แบงก์-ไฟแนนซ์จ่ายกีบอยู่แล้ว
นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทที่ดำเนินการใน สปป.ลาวจ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นสกุลเงินกีบอยู่แล้ว หลักเกณฑ์ที่ออกมาใหม่จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเป็นสกุลเงินกีบ และมีการกู้ยืมเป็นเงินกีบ จึงไม่ค่อยมีผลกระทบในเรื่องของความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก แม้ว่าค่าเงินกีบจะปรับลดลงค่อนข้างมาก เพราะมองว่า หากใช้เป็นสกุลเงินบาทหรือดอลลาร์และมีการทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) หรือ Forward ค่าเงิน “อาจจะมีต้นทุนที่แพงกว่า” เนื่องจากตลาดประเทศ สปป.ลาวค่อนข้างเล็ก และพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทไม่ได้มีขนาดใหญ่ จึงใช้วิธีการกู้ยืมเป็นสกุลเงินกีบแทน
“เข้าใจว่า ทางการลาวต้องการบริหารค่าเงินกีบของตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกรรมส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์หรือเงินบาท รวมถึงค่าเงินกีบลดลงค่อนข้างมากและปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูง กระทบต่อราคาสินค้าแพงขึ้น เช่น ราคารถจักรยานยนต์ ปรับขึ้น 30-40% ดังนั้น ทางการ สปป.ลาวจึงต้องการให้ธุรกิจต่างประเทศหันมาใช้เงินกีบมากขึ้น ที่ผ่านมาเรากู้เงินกีบที่นั่นและใช้ที่ลาวเลย ส่วนในแง่การดำเนินธุรกิจ ภาพรวมแม้ว่า สปป.ลาวอาจจะไม่ดี แต่ธุรกิจยังดี ทั้งในแง่ยอดขายและการชำระหนี้ของลูกค้า เพราะคนลาวมีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับไทย บริษัทประคองพอร์ตสินเชื่อให้อยู่ในระดับ 130 ล้านบาท”
ด้านนายธนัท จักรวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลธุรกิจต่างประเทศ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL กล่าวว่า การจ่ายค่าจ้างเงินเดือนพนักงานของบริษัทร่วมทุนอย่างบริษัท เอส ที-เมืองไทยประกันภัย (จำนวน พนง. 75 คนเป็นคนไทย 3 คน) จะจ่ายเป็นสกุลเงินกีบมาตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการอยู่แล้ว ไม่ได้จ่ายเป็นสกุลเงินบาทหรือดอลลาร์ ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มีปัญหา ที่ผ่านมาในช่วงเวลาที่ค่าเงินกีบอ่อนค่าแรง เช่น จากระดับ 1 บาทต่อ 300 กีบ แต่ปัจจุบันขยับเป็น 1 บาทต่อ 700 กีบ สมมุติรับค่างจ้างอยู่ 30 ล้านกีบ/เดือน บริษัทอาจจะไม่ได้ปรับเงินค่าจ้างเป็น 70 ล้านกีบ แต่ใช้วิธีขออนุมัตินโยบายจากคณะกรรมการบริษัทในการปรับเพิ่มเงินเดือนให้พนักงาน ทั้งนี้จำนวนเงินเดือนอาจจะเท่าเดิม แต่ปรับในส่วนของการเพิ่มเงินค่าครองชีพพิเศษที่จะช่วยเหลือพนักงานเวลาค่าเงินกีบผันผวน
ส่วนบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติหลายแห่งที่ทำธุรกิจในลาว และมีการจ่ายค่าจ้างเป็นสกุลเงินบาทหรือดอลลาร์ จะมีผลกระทบโดยตรงที่จะต้องปรับเปลี่ยนเป็นการจ่ายสกุลเงินกีบ แต่ในข้อกำหนดก็ให้ใช้ค่าเฉลี่ย 3 วันล่วงหน้าก่อนการคำนวณจ่ายค่าจ้างเป็นเงินกีบได้
นางสาวพัทธ์หทัย กุลจันทร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจอาเซียน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง Krungsri Leasing Services Co., Ltd. (KLS) และ Krungsri Non-Deposit Taking Microfinance Institutions (KSM) ที่ประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว มีนโยบายจ่ายเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ของพนักงานเป็นสกุลเงินกีบอยู่แล้ว จึงไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกรุงศรี ขณะที่นายเจริญลาภ ธรรมาณิชานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบกิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่า สปป.ลาวพยายามควบคุมกระแสสกุลเงินดอลลาร์
โดยให้บริษัทต่างประเทศหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นอย่างเงินกีบให้หมด และทำธุรกรรมผ่านระบบทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีบางบริษัทยังคงใช้สกุลเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์ หรือสกุลเงินอื่น ๆ เป็นต้น “การดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาวของธนาคารกรุงเทพ เราระมัดระวังค่อนข้างมาก โดยจะเน้นดูแลลูกค้าเดิมที่มีอยู่ การลงทุนใหม่คงไม่ได้มีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่ยังพอไปได้จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับท้องถิ่นและต้นทุนท้องถิ่น เพราะหากเป็นธุรกิจที่มีการนำเข้าจะมีต้นทุนที่สูงมาก เพราะมีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงธุรกิจส่งออกพลังงานไฟฟ้าที่ยังพอเติบโตได้”
นำเข้าน้ำมันเสี่ยงค่าเงิน
นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า OR มีการลงทุนใน สปป.ลาวโดย บริษัท พีทีที (ลาว) จำกัด (PTTLAO) การให้จ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นเงินกีบ จะมี 2 ประเด็นคือ ถ้าพนักงานท้องถิ่น OR จะจ่ายเป็นเงินกีบอยู่แล้ว เรื่องความผันผวนของค่าเงินกีบเราก็บริหารจัดการอยู่แล้ว
ส่วนพนักงานแบบที่เป็นการยืมตัวบุคคลไปช่วยปฏิบัติงาน (Secondment) ซึ่งจะมีเพียง 4-5 คน ตำแหน่ง Major ใหญ่ ๆ ก็จะมีสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน (Basic Benefit) “ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับพนักงานท้องถิ่น (การ Apply พนักงานท้องถิ่น) เท่าที่ทราบปัจจุบันได้สลับมาใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) เพียงแต่อาจจะมีการเริ่มต้น/ตั้งต้นจากค่าเงินบาทก่อน หรือพูดง่าย ๆ คือ ถ้าเงินบาทพนักงานจะได้เงินคงที่ แต่ถ้าเป็นเงินกีบพนักงานจะได้เงินเพิ่มขึ้น”
แต่ถ้ามองกลับกันในมุมของเรื่องการจ่ายพนักงาน “ตรงนี้เป็นประเด็นส่วนน้อย (Minority)” แต่ถ้าเกิดเป็นมุมที่ OR Suffer ส่วนใหญ่คือ เรื่องของการซื้อวัตถุดิบมากกว่า “น้ำมันเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาอยู่แล้ว เพราะว่าเราซื้อ เนื่องจากลาวนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก ฉะนั้นการนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของสกุลเงินแต่ละประเทศที่ซื้อ ซึ่งแน่นอนในแง่ของการขายมันเป็นสกุลเงินท้องถิ่น จึงถือเป็นความเสี่ยงที่มีอยู่แล้วในเรื่องของสกุลเงิน”
มีรายงานข่าวจาก บริษัทเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล เข้ามาว่า ถ้าเป็นพนักงานคนไทยจะจ่ายเงินเดือนเป็น เงินบาท ส่วนพนักงานคนลาว จะจ่ายเงินเดือนเป็นเงินกีบ และมีการกำหนดเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนโดยจะพิจารณาทบทวนทุก 3 เดือน
เสี่ยงกีบผันผวน
นางสาวณฐอร มหิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิ๊กบลูเอเจนซี่ลาว จำกัด บริษัทร่วมทุนกับนักธุรกิจใน สปป.ลาว กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทจ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นเงินกีบ “ยกเว้น” ชาวต่างชาติที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์ เท่าที่ทราบมีบริษัทที่เป็นแบรนด์เกาหลีที่จ่ายเงินเดือนเป็นดอลลาร์ ส่วนบริษัทลีสซิ่งจากประเทศไทยก็จ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นเงินกีบ ซึ่งการจ่ายเงินกีบก็ต้องคำนวณค่าเงินกีบ และตกลงกับพนักงานให้ชัดเจนว่า จะได้ค่าเงินเท่าไหร่ เพราะคนที่ต้องบริหารจัดการเรื่องค่าเงินกีบที่ผันผวนคือ ฝ่ายบัญชีกับฝ่าย HR
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินเดือนเป็นเงินกีบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ ทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น เพราะประชาชนนำเงินกีบมาใช้ในตลาดมากขึ้น แต่ข้อเสียก็มีเช่นกันโดยเฉพาะคนลาวหรือพนักงานจะต้องรับความเสี่ยงกับค่าเงินที่ผันผวน ยกตัวอย่าง เงินเดือน 1 ล้านกีบคิดเป็นเงินไทยประมาณ 10,000 กว่าบาท
หากจ่ายเงินกีบพนักงานก็ต้องรับความเสี่ยงกับค่าเงินที่ผันผวน บางเดือนอาจได้มาก บางเดือนอาจได้น้อย ที่ผ่านมา สปป.ลาวได้รณรงค์ให้คนลาวใช้เงินกีบมานานแล้ว แต่เพิ่งออกมาประกาศอย่างจริงจัง ให้เปลี่ยนหมด “ส่วนการค้าชายแดนนั้น เท่าที่คุยกับกลุ่มลูกค้าในสายคอนซูเมอร์นำเข้าสินค้าจากไทยก็ยังเหนื่อยอยู่ แต่ยังไปได้ ปีนี้อาจลดปริมาณลง ในส่วนผักผลไม้มีการรณรงค์ให้ใช้ของในประเทศ เพราะไม่ได้อยากให้นำเข้า” น.ส.ณฐอรกล่าว
ด้านนายธนพล กองทรัพย์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า นโยบายการให้ประชาชนลาวใช้เงินกีบมีมานานแล้ว ที่ผ่านมาตนเองค้าขายกับ สปป.ลาว ก็ใช้เงินกีบ แต่ที่ผ่านมามักมีการพูดถึงเสถียรภาพค่าเงินกีบมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมองถึงความสะดวกที่คนไทยไป สปป.ลาว ก็ใช้เงินบาทจับจ่ายและได้เงินทอนเป็นเงินบาท แต่ไม่ได้หมายความว่า “จะไปครอบงำ” สาเหตุก็เพราะนครหลวงเวียงจันทน์อยู่ติดชายแดนไทย-ลาว การข้ามไปมาหาสู่กันสะดวกสบาย คนไทยข้ามไปไม่อยากแลกเงินกีบก็ใช้เงินบาทในการใช้จ่าย ส่วนคนลาวก็ข้ามมาจับจ่ายในไทยก็มีเงินบาทอยู่แล้ว ถือว่าสะดวก ต่อมารัฐบาลก็ให้ใช้เงินกีบทอน เพื่อให้แพร่หลาย
7 เดือนค้าชายแดนไทยได้ดุลลาว
ส่วนตัวเลขการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนไทย-ลาวล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่า 66,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.40% โดยไทยส่งออก 32,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.44% และนำเข้า 34,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดสะสม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) 2567 มีมูลค่า 484,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.86%
โดยไทยส่งออก 264,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.64% และนำเข้า 220,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยด่านศุลกากรที่มีการค้าสูงสุดในช่วง 7 เดือนแรกยังเป็นด่านศุลกากร จ.มุกดาหาร ส่งออก 77,724 ล้านบาท นำเข้า 129,502 ล้านบาท, ด่านนครพนม ส่งออก 57,787 ล้านบาท นำเข้า 25,103 ล้านบาท, ด่านหนองคาย ส่งออก 57,343 ล้านบาท นำเข้า 14,891 ล้านบาท และด่านเชียงของ ส่งออก 39,278 ล้านบาท นำเข้า 10,215 ล้านบาท