กรมลดโลกร้อนชูต้นแบบ “อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา PTTLNG” แปรสภาพความเย็น LNG ปลูกไม้เมืองหนาว

กรมลดโลกร้อนเดินหน้ารับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลงพื้นที่ “อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา” PTTLNG จ.ระยอง ศึกษาการแปรสภาพความเย็นที่เหลือของ LNG ปลูกไม้เมืองหนาว-ประหยัดพลังงาน มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก

วันที่ 9 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมกับคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) โดยนางสาวจุฑารัตน์ พิทักษ์วาทิน พนักงานประชาสัมพันธ์อาวุโส PTTLNG กล่าวว่า

อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา เป็นอาคารที่นำประโยชน์จากการแปรสภาพความเย็นที่เหลือจากกระบวนการผลิตของก๊าซ Liquefied Natural Gas (LNG) มาเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาว เช่น ดอกทิวลิป ดอกไฮเดรนเยีย ดอกกุหลาบพันปี

อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา PTTLNG

ตลอดจนลดการใช้พลังงานโดยนำความเย็นไปใช้ในหน่วยผลิตไฟฟ้าภายใน Terminal และนำไปใช้ในระบบปรับอากาศของอาคารสำนักงานซึ่งสามารถช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคารได้ถึง 40% อันนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2035 (Carbon Neutrality)

อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา PTTLNG

ADVERTISMENT

สำหรับ PTTLNG มีภารกิจเพื่อก่อตั้งสถานี LNG มาบตาพุด แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีความใกล้และสะดวกในการส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซของประเทศ โดยให้บริการท่าเทียบเรือขนส่ง LNG ให้บริการขนถ่าย LNG ลงสู่ถังเก็บ และเปลี่ยนสถานะ LNG จากของเหลวให้กลับเป็นก๊าซ

จากนั้นจึงส่งก๊าซเข้าสู่ระบบส่งก๊าซต่อไป รวมทั้งยังให้บริการส่งออก LNG ทางเรือไปยังต่างประเทศ และขนส่งในรูปแบบของเหลวด้วยรถบรรทุกไปยังภาคอุตสาหกรรม รวมถึงขนส่งในรูปแบบ ISO Container ที่สามารถขนส่งได้ทั้งทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางรถไฟ และมีท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกระยะทาง 5.6 กิโลเมตร

ADVERTISMENT

“LNG ที่ซื้อมาจากต่างประเทศซึ่งมีระยะทางไกลและใช้การขนส่งผ่านทางเรือ ดังนั้นเมื่อได้มาจากแหล่งขุดเจาะจะต้องเปลี่ยนสถานะก๊าซให้เป็นของเหลว โดยลดอุณหภูมิไว้อยู่ที่ -160 องศาเซลเซียส มาเข้าสู่ถังเก็บ LNG ก่อนที่จะเอา LNG ไปใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต้องเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลับไปเป็นสถานะก๊าซเช่นเดิม” นางสาวจุฑารัตน์กล่าว

ปัจจุบัน PTTLNG มีสถานี LNG ทั้งหมด 2 แห่ง ซึ่ง Terminal แรก คือ สถานีแอลเอ็นจีมาบตาพุด แห่งที่ 1 (LMPT 1) ณ บริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีถังเก็บ LNG ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง มีกำลังการผลิต 11.5 ล้านตันต่อปี

ขณะที่ Terminal 2 คือ สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง มีถังเก็บ LNG 2 ถัง ซึ่งมีขนาดถังใหญ่กว่า Terminal แรก มีกำลังการผลิตรวม 7.5 ล้านตันต่อปี หากรวม Terminal ทั้ง 2 แห่ง จะทำให้ PTTLNG มีกำลังการผลิตรวมถึง 19 ล้านตันต่อปี