ไขข้อข้องใจ พลังงาน ทำไมราคาพุ่ง

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 78.80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเราปรับขึ้นใกล้แตะ 30 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคโดยตรง เงินในกระเป๋าจะน้อยลง เพราะค่ากับข้าวและค่าน้ำมันรถอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างราคาก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม ขนาดถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ขยับขึ้นทันที 42 บาท จากราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ที่ถังละ 353 บาท เป็นถังละ 395 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะก็ไม่แพ้กัน ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลขอปรับขึ้นค่าโดยสารจาก ต้นทุนพลังงานŽ ที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางรัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงประกาศตรึงราคาดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปจนกว่าไบโอดีเซล บี20 ซึ่งขายถูกกว่าดีเซลเกรดปกติที่ 3 บาทต่อลิตร จะเริ่มผลิตและออกสู่ตลาดได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 30,500 ล้านบาท

ในเรื่องนี้ ศิริ จิระพงษ์พันธ์Ž รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า การตรึงราคาดีเซลจะช่วยบรรเทาต้นทุน ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการด้านขนส่ง รถโดยสารและเรือโดยสารสาธารณะลงได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการรถขนส่งจะขึ้นราคาค่าบริการŽ

ทั้งยังประกาศปรับราคาก๊าซหุงต้มจากราคาถังละ 395 บาท เหลือถังละ 363 บาท หรือลดลงไป 32 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยใช้เงินอุดหนุนแอลพีจีที่มีอยู่ 500 ล้านบาท สำหรับหลักการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่าเป็นการปรับล่วงหน้าล้อไปกับแนวโน้มความต้องการใช้แอลพีจีในตลาดโลกที่ค่อยๆ น้อยลงเรื่อยๆ สัปดาห์หน้ารัฐบาลคาดการณ์ว่าจะใช้เงินอุดหนุนประมาณ 10-11 บาทต่อถัง และในอีก 2 เดือนข้างหน้าคาดการณ์ว่าราคาแอลพีจีจะลดลงสู่ระดับที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุน

ดูเหมือนว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการบรรเทาผลกระทบผู้บริโภคแล้ว ในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังผันผวน จากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปค) ตลอดจนความคาดหวังการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (เชลล์ออยล์) ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในปริมาณมาก แต่สหรัฐติดปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งทางท่อที่จำกัด จึงไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้
ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

แต่ยังมีข้อกังขาจากผู้บริโภคอยู่ว่า 1.เงินจากกองทุนน้ำมันว่าจะพอหรือไม่ 2.เรามีแหล่งผลิตน้ำมันและส่งออกอยู่แล้ว ทำไมต้องนำเข้าน้ำมัน และ 3.ราคาน้ำมันขายปลีกในไทย เป็นไปตามกลไกของตลาดโลกจริงหรือไม่ ทำไมน้ำมันมาเลเซียถูกกว่า

สำหรับข้อแรก เรื่องความกังวลของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนแอลพีจี รัฐมนตรีพลังงานให้คำตอบว่า คำนวณแล้วว่าเงินจากกองทุนมีเพียงพอที่จะรองรับและอุดหนุนราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 10 เดือน ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบไม่เกิน 90 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนเงินจากกองทุนแอลพีจีก็มีเพียงพอเช่นกัน เพราะฉะนั้นราคาพลังงานน่าจะไม่มีผลกระทบกับค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆŽ

ส่วนก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในการขนส่ง รัฐบาลมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าไปอุดหนุน เนื่องจากราคายังไม่ได้สูงและมีทางเลือกอยู่แล้ว ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติมองว่า ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นปี ราคาน้ำมันยังไม่มีผลกระทบกับราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เพราฉะนั้นในช่วงนี้ค่าไฟจึงไม่ขึ้นแน่นอน

ในข้อสงสัยที่ 2 และ 3 มนูญ ศิริวรรณŽ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ให้คำตอบแบบชัดๆ ว่า แหล่งน้ำมันในไทยมีหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำมันขนาดเล็กมาก มีแหล่งสิริกิติ์เป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 20,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่แหล่งอ่าวไทย ผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 20,000 บาร์เรลต่อวัน รวมๆ แล้วเราผลิตน้ำมันดิบได้ 145,000 บาร์เรลต่อวัน แต่มีความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ 800,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการนำเข้าน้ำมัน เนื่องจากผลิตไม่พอใช้Ž

มนูญ กล่าวว่า ทั้งนี้ มีคำถามว่าถ้าผลิตน้ำมันดิบไม่พอใช้ แต่ทำไมต้องส่งออก ต้องบอกว่าส่วนที่ส่งออก 30,000-40,000 บาร์เรลต่อวันนั้น เป็นส่วนที่โรงกลั่นไม่ต้องการ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ตรง เช่น มีน้ำมันเตามากเกินไป หรือผลิตเบนซินได้มากเกินไป ไม่ตรงกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ใช้น้ำมันคุณภาพปานกลาง จึงต้องส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศ

“คนเอาไปพูดกันว่าทำไมโรงกลั่นไทยมันเฮงซวย กลั่นไม่ได้ ทำไมโรงกลั่นเมืองนอกกลั่นได้ ต้องอธิบายว่าไม่ใช่โรงกลั่น กลั่นไม่ได้ แต่เป็นส่วนที่โรงกลั่นไม่ต้องการเพราะคุณสมบัติไม่ตรง หรือเป็นน้ำมันดิบที่หนักจนเกินไปหรือเบาจนเกินไป จึงส่งออกไปขายต่างประเทศที่มีความต้องการ เช่น สหรัฐ ที่มีความต้องการเบนซินจำนวนมาก เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากเศรษฐศาสตร์เต็มที่ เพราะในไทยใช้เบนซินน้อยกว่าดีเซล”Žมนูญกล่าว

3.โครงสร้างราคาน้ำมัน มนูญชี้แจงว่า เมื่อนำน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป โครงสร้างราคาน้ำมัน ประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 2 ส่วน คือ เนื้อน้ำมัน 60% และโครงสร้างภาษี 30% เช่น ราคาขายปลีก 1 บาท คิดเป็นเนื้อน้ำมัน 60 สตางค์ และภาษี 30 สตางค์ เพราะฉะนั้นหากถามว่าทำไมราคาน้ำมันบ้านเราถึงแพงกว่ามาเลเซีย ก็เพราะมาเลเซียไม่เก็บภาษีน้ำมัน ราคาน้ำมันจึงถูกกว่า 30% เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ราคาน้ำมันบ้านเราถูก ก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะนำเงินภาษีน้ำมัน 200,000 ล้านบาท มาจากไหน

ด้าน สุชาติ ระมาศŽ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีกระแสโซเชียลชวนกันยกเลิกเติมน้ำมันปั๊ม ปตท.ระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน ว่า ปตท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ขอความร่วมมือเจ้าของปั๊มน้ำมันทุกแห่ง ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าที่มาเติมน้ำมันในปั๊ม ปตท.ว่า ปตท.ไม่ได้เอาเปรียบลูกค้าทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพน้ำมันตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 7 มิถุนายนนี้ แม้ว่า ปตท.ยังไม่พบความผิดปกติเรื่องการขายน้ำมันที่ลดลงก็ตาม

จิราพร ขาวสวัสดิ์Ž รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกน่าจะเริ่มมีแนวโน้มลดลง ปตท.จึงปรับลดราคาน้ำมันลงทันที แม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกภายหลังการปรับตัวลงจะยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม โดยกลุ่มเบนซินลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น อี85 ลดลง 30 สตางค์ต่อลิตร และกลุ่มดีเซล ลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2561 เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป

สถานการณ์ราคาน้ำมันอาจจะผันผวน เพราะราคาน้ำมันดิบปรับลดลงกว่า 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว หลังได้รับแรงกดดันจากแรงเทขายทำกำไร ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดในวันทหารผ่านศึกของสหรัฐ และซัพพลายน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น

แต่ที่แน่ๆ กระแสกดดันของสังคม ทำให้รัฐออกมาตรึงราคาน้ำมัน ก่อนที่กำลังซื้อจะหด และเงินเฟ้อจะพุ่ง!

ที่มา : สกู้ปข่าวหน้า 1 นสพ.มติชน 26 พฤษภาคม