“วันโอโซนโลก” เกี่ยวอะไรกับอุตสาหกรรมไทย

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผย 35 ปี ไทยเข้าร่วมอนุสัญญาเวียนนาลงนาม “พิธีสารมอนทรีออล” ข้อตกลงระหว่างประเทศยุติการผลิตและการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซน ป้องอุตสาหกรรมไทยก่อนถูกกีดกันการค้าโลก

วันที่ 16 กันยายน 2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations General Assembly-UNGA) ได้กำหนดให้วันที่ 16 กันยายน เป็น วันโอโซนโลก อย่างเป็นทางการในปี 1994 (2537) โดยวันที่นี้ถูกเลือกเพื่อระลึกถึงการลงนามใน พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซน ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 1987 (2530)

โดยองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme-UNEP) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดและส่งเสริมวันโอโซนโลก เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นการดำเนินการระดับโลกในการปกป้องชั้นโอโซนวันโอโซนโลก ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน ของทุกปี เป็นเหตุการณ์ระดับโลกที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการลดลงของชั้นโอโซนและกระตุ้นให้มีการดำเนินการเพื่อปกป้องชั้นโอโซน

ทั้งนี้ การลงนามใน “พิธีสารมอนทรีออล” ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการยุติการผลิตและการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซน ชั้นโอโซนเป็นส่วนสำคัญของบรรยากาศโลก ซึ่งอยู่ในชั้นสตราโตสเฟียร์ และมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชีวิตบนโลกโดยการดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ หากปราศจากชั้นโอโซนนี้ รังสี UV ที่เพิ่มขึ้นจะเข้าสู่พื้นโลกมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดภาวะต้อกระจก และทำลายระบบนิเวศต่าง ๆ

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาเวียนนา และพิธีสารมอนทรีออล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 รวมทั้งให้สัตยาบันพิธีสารมอนทรีออลส่วนที่มีการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติม อีก 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่ กรุงคิกาลี (The Kigali Amendment to the Montreal Protocol (2016)) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับ และผลกระทบต่อประเทศไทยในการให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี มีดังนี้

ประโยชน์ที่จะได้รับ ประเทศไทยสามารถซื้อขายสาร HFCs กับประเทศภาคีสมาชิกได้ โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้สาร HFCs เช่น ภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้ตามบ้านเรือน ภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในรถยนต์ ภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟม ภาคอุตสาหกรรมผลิตตู้เย็น ตู้แช่ เชิงพาณิชย์

Advertisment

เนื่องจากสาร HFCs เป็นสารควบคุมภายใต้พิธีสารมอนทรีออล และเป็นก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนภายใต้ข้อตกลงปารีส

ดังนั้น การลดการใช้สาร HFCs โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทนที่มีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ จึงเป็นการสนับสนุนต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 (2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065 (2680)

Advertisment

ประเทศไทยสามารถขอรับเงินช่วยเหลือ รวมถึงความช่วยเหลือทางด้านนโยบายและด้านเทคนิคจากกองทุนพหุภาคี ภายใต้พิธีสารมอนทรีออล เพื่อนำมาดำเนินการลดการใช้สาร HFCs ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยไม่เสียโอกาสในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทนที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น

อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้สาร HFCs เช่น เครื่องปรับอากาศในบ้านเรือน เครื่องปรับอากาศที่ใช้ในรถยนต์ ตู้เย็น ตู้แช่เชิงพาณิชย์ ยังคงมีสารเพียงพอเพื่อการซ่อมบำรุงจนกว่าอุปกรณ์นั้น ๆ จะหมดอายุการใช้งาน

สำหรับผลกระทบ ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้สาร HFCs ของไทยจะถูกจำกัดปริมาณการใช้สาร HFCs อย่างไรก็ตามพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออลได้ยืดระยะเวลาในการเริ่มการลดการใช้สาร HFCs ออกไป 5 ปี หลังจากพิธีสารฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งเพียงพอต่อการลดการใช้สาร HFCs

ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้สาร HFCs จะต้องลงทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อไปใช้สารทดแทนใหม่ที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ