น้ำมันดิบชะลอตัว สายการบินสุดอั้น แห่ปรับขึ้นค่าตั๋ว

ราคาน้ำมันดิบโลกลดความร้อนแรง หลังกังวลประเทศใน-นอก OPEC เพิ่มกำลังผลิต คาดการณ์ขยับไม่เกิน 80-85 เหรียญ รัฐตรึงราคาดีเซลต่อเนื่องพร้อม LPG ถัง 15 กก.ไม่เกิน 363 บาท สายการบิน อ่วมแบกรับภาระค่าน้ำมันไม่ไหว บินไทยประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมน้ำมัน ไทยสมายล์-ไทยไลอ้อนจ่อขยับราคาตั๋ว

บมจ.ไทยออยล์ได้วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันปรับลดลงกว่า 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังตลาดกังวลประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอก OPEC จะเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมกลุ่ม OPEC วันที่ 22 มิถุนายน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซียออกมากล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันทั้งใน-นอกกลุ่ม OPEC มีแนวโน้มปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้

โดยบริษัทไทยออยล์ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า เวสต์เทกซัสอยู่ระหว่าง 68-73 เหรียญ/บาร์เรล และเบรนต์อยู่ระหว่าง 75-80 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติในวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา บรรเทาผลกระทบจากการขึ้นราคาของก๊าซ LPG ที่ปัจจุบันสูงถึง 395 บาท/ถัง (15 กก.) ด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยเพิ่มขึ้น โดยให้ราคา LPG อยู่ในระดับถังละ 363 บาท มีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป

ส่วนสถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศนั้น กบง.ยังคงยืนยันมติด้วยการ “ตรึง” ราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท (ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงเกินกว่า 80 เหรียญ/บาร์เรล) ไปจนกว่าการเตรียมการเพื่อออกจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรด B20 จะเริ่มผลิตและออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคาจำหน่าย B20 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลราคาปกติ 3 บาท/ลิตร โดยการชดเชยจะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเครื่องมือในการอุดหนุนราคาน้ำมัน

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเชื่อว่า ระยะสั้นราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 80-85 เหรียญ/บาร์เรล “ไม่น่าเกิน 90 เหรียญ/บาร์เรลอย่างที่กังวลกัน” โดยรัฐบาลได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ด้วยการใช้กองทุนน้ำมันเข้ามาอุดหนุน ส่วนราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ แต่รัฐยังคงต้องใช้กองทุนชดเชยเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 363 บาท/ถังต่อไป

ทั้งนี้ สถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันอยู่ที่ 30,500 ล้านบาท หรือเพียงพอที่จะอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรเป็นระยะเวลา 10 เดือน(ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบไม่เกิน 90 เหรียญ/บาร์เรล) ส่วนเงินกองทุน LPG เหลืออยู่ประมาณ 500 ล้านบาท สามารถตรึงราคาก๊าซ LPG ที่ 10 บาท/ถังได้ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียม (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม โดยลดราคาลง 2 บาท/กก.(ราคารวม VAT) โดยถังขนาด 15 กก. จะมีราคาอยู่ที่ 365 บาทหรือลดลงจากเดิม 30 บาท/ถังมีผลตั้งแต่ 25-28 พ.ค. 2561 หรือ “เร็วกว่า” การใช้เงินกองทุนฯชดเชยราคาก๊าซ LPG ในลดลงเหลือถังละ 363 บาท (15 กก.) ถึง 2 วัน

พาณิชย์ถก 13 ผู้ผลิตสินค้า

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบราคาสินค้าจากการปรับขึ้นราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้มและการหารือกับผู้ผลิตสินค้า 13 รายให้ข้อมูลว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการขนส่งสินค้า “แต่คิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตโดยรวม” และคำนวณจากระดับราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยของราคาน้ำมัน ก็ยังไม่ได้กระทบอย่างมีนัยยสำคัญ ประกอบกับขณะนี้กระทรวงพลังงานได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือโดยใช้เงินกองทุนน้ำมัน-แอลพีจี เข้ามาช่วยทำให้ขณะนี้ระดับราคาน้ำมันปรับลดลงแล้ว “ทางผู้ประกอบการจึงยินดีให้ความร่วมมือในการตรึงราคาจำหน่ายสินค้าต่อไป”

อุ้ม SMEs ต้นทุนพุ่ง

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ราคาน้ำมันปรับขึ้นและมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของ SME ทางกระทรวงจึงกำหนดให้ ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีซึ่งมี 270 แห่งทั่วประเทศ เป็นจุดรับแจ้งปัญหาหรือขอรับความช่วยเหลือจากผลกระทบราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เพื่อรวบรวมและนำเสนอข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

ส่วน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวว่า ธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล จัดมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน รูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อให้ SME ใช้เป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลดผลกระทบในภาวะที่ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น อาทิ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลรายเล็กคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1% ต่อปีตลอดอายุสัญญา 7 ปีไม่ต้องใช้หลักประกัน

บินไทยขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน

ด้านแหล่งข่าวในวงการธุรกิจสายการบินรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับกว่า 70 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้ทุกสายการบินต้อง”แบกรับ” ต้นทุนน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสูงที่สุดที่ประมาณ 30% ของธุรกิจสายการบิน ทำให้ขณะนี้ทุกสายการบินต่างหันมาทบทวนและพิจารณาต้นทุนเพื่อปรับขึ้น “ค่าธรรมเนียมน้ำมัน” ซึ่งถือเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาตั๋วโดยสารของสายการบินปรับตัวสูงขึ้น

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นสายการบินต่าง ๆ ก็สามารถปรับเพิ่มต้นทุนในส่วนของค่าธรรมเนียมน้ำมัน ซึ่งจะรวมอยู่ในราคาบัตรโดยสารได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตมาที่ กพท. แต่การปรับขึ้นนั้นต้องไม่เกินกรอบเพดานที่กำหนด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แล้วว่า จะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันสำหรับตั๋วโดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศจำนวน 59 เส้นทางในอัตราเฉลี่ยที่ 1,1000-1,500 บาท/เที่ยวมีผลตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2561 นี้เป็นต้นไป โดยเส้นทางที่จะปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมน้ำมัน อาทิ เส้นทางบินย่างกุ้ง , ฮานอย , เวียงจันทร์, โฮจิมินห์, พนมเปญ ชั้นธุรกิจปรับค่าธรรมเนียมปรับขึ้น 8 เหรียญ ส่วนตั๋วชั้นประหยัดปรับเพิ่ม 5 เหรียญ เส้นทางบินโอซาก้า, โตเกียว, ฟุกุโอกะ, โซล, ซัปโปโร ชั้นเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจปรับขึ้น 26 เหรียญ ชั้นประหยัดเพิ่มขึ้น 17 เหรียญ เป็นต้น

ด้าน นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่า สายการบินกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน สอดคล้องกับ นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบกับต้นทุนของธุรกิจสายการบินจึงต้องปรับราคาตั๋วโดยสารขึ้นด้วย แต่จะพยายามหาแนวทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากนักและอยู่ในกรอบมาตรฐานที่ กพท.กำหนดไว้

ไทยสมายล์จ่อปรับราคา

นายฉัตรชัย ปานอยู่ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ในปีนี้ไทยสมายล์ประสบปัญหาด้านต้นทุนน้ำมันเช่นเดียวกับสายการบินอื่น ๆ และจะส่งผลกระทบต่อการทำโปรโมชั่นช่วงหลังจากนี้ของไทยสมายล์ เพราะต้องพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องของราคาและช่วงเวลา อาจทำให้โปรโมชั่นที่จะออกมากระตุ้นตลาดลดน้อยลง ขณะที่ราคาบัตรโดยสารก็อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาต้นทุน


นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ยังจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อต้นทุนของสายการบินโดยตรง เพราะราคาน้ำมันเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของธุรกิจสายการบิน ส่วนไทยไลอ้อนแอร์จะปรับเพิ่มฟิวเซอร์ชาร์จหรือไม่นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา เพราะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น สายการบินคู่แข่งมีการปรับเพิ่มหรือไม่