ราคาน้ำมันขยับ…ไทยกลับสู่วังวนเดิม

คอลัมน์ DATA

ข่าวราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นมาแตะที่ระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลต่อราคาขายปลีกภายในประเทศทันที คำถามเรื่องความแตกต่างของราคาขายน้ำมันระหว่างไทยทำไมแพงกว่าราคาน้ำมันในประเทศมาเลเซียก็กลับมา

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 2561 มีมูลค่า 12,984 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.1% โดยการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติ

ที่ผ่านมาไทยผลิตน้ำมันได้บางส่วน คิดเป็นร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ในแต่ละวัน ภาครัฐมีรายได้จาก 1) ค่าภาคหลวง และ 2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งรายได้ทั้ง 2 ส่วนนี้จะถูกส่งเข้างบประมาณกลางของประเทศ และบางพื้นที่ก็กระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้นำรายได้มาชดเชยราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายหน้าสถานีบริการน้ำมันเหมือนอย่างมาเลเซีย

ปัจจุบันการผลิตน้ำมันในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นเหตุให้ต้องใช้ราคาตลาดโลกเป็นตัวอ้างอิงในการกำหนดราคาจำหน่ายในประเทศ ฉะนั้นเมื่อราคาตลาดโลกปรับขึ้น ราคาน้ำมันในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม

นอกจากต้นทุนน้ำมันที่ต้องอ้างอิงจากราคาตลาดโลกแล้วนั้น ประเด็นสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำในประเทศมีราคาแพง นั้นมาจาก “โครงสร้างราคา” ที่ถูกเรียกเก็บจากน้ำมันทุกลิตรที่จำหน่าย แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 2 รอบ (ราคาขายส่งและราคาขายปลีก) ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน รายได้จากน้ำมันทุกลิตรที่ว่าก็นำมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ของประเทศต่อไป

ดังนั้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจึงยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประเด็นสำคัญที่ผู้ใช้ต้องคำนึงถึงจากนี้คือ การทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ในเมื่อเรานำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ราคาจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ต้องอ้างอิงจากราคาตลาดโลก และเมื่อเห็นสัญญาณราคาน้ำมันตลาดโลกที่ดีดตัวสูงขึ้น ผู้ใช้น้ำมันก็ต้องประหยัดพลังงาน