อุตตม สาวนายน Game Changer อุตฯ 4.0

การพัฒนาอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ความสำคัญต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจโดยผ่านนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 4.0

“นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ฉายภาพความคืบหน้าการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ในช่วงเวลาการดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องมาถึง 4 ปี ว่าเริ่มเห็นผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว สะท้อนจาก GDP สูงสุดในรอบ 5 ปี

ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน ที่สำคัญ อัตราการใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยสูงที่สุดถึง 76% ของอัตราการใช้กำลังผลิตที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยสูงอย่างนี้มาก่อน แสดงว่า ภาคการผลิต การบริการเริ่มเดินเครื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเดินหน้าต่อตามเป้าหมายของประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 คือการไปสู่ Thailand 4.0 โดยการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งเดิม และเสริมสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนในประเทศ

ชู 3 อุตสาหกรรมหลัก 

แนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ การยกระดับอุตสาหกรรมหลักที่เป็นจุดแข็งของไทย 3 อุตสาหกรรม ส่งผลชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังก้าวไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยไทยเป็นฐานการผลิตให้กับทั่วโลก ดังนั้นเป้าหมายไม่ใช่เพียงการประกอบตัวรถ แต่ไทยจะเป็นผู้พัฒนาผลิตชิ้นส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ ระบบควบคุมสำหรับ EV มั่นใจว่าภายใน 5 ปี EV ต้องเกิดในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้ได้และป้อนให้กับทั่วโลก ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขการลงทุนต่าง ๆ หากติดอุปสรรคด้านใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบีโอไอ กระทรวงการคลัง พร้อมที่จะนำมาตรการสนับสนุนมาใช้

2) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ด้วยไทยขาดแคลนแรงงาน กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย และมีการพึ่งพาแรงงานจากเพื่อนบ้านมาตลอด บวกกับการแข่งขันในหลายธุรกิจ การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงานจึง
สำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มปรับตัวลงทุนใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตแล้ว รัฐจึงออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการเร่งสร้างระบบรวมอัตโนมัติ systemintegrator (SI) จากปัจจุบันมีอยู่400 ราย ให้เพิ่มเป็น 1,000 ราย

ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เครือข่ายของการทำวิจัยจะเกิดความร่วมมือในสถาบันการศึกษา และใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ที่มีอยู่ 11 แห่งทั่วประเทศมาช่วยรองรับเพื่อสร้างอุตสาหกรรมต่าง ๆ

3.อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ (bio industry) ต่อยอดจากสินค้าเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของประเทศไทย กระทรวงได้จัดทำโรดแมปอุตสาหกรรมนี้ เตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนนี้ เป้าหมายคือการนำวัตถุดิบของประเทศ อ้อย ปาล์ม ข้าว มัน เพิ่มมูลค่าโดยการผลิตเป็นสินค้าใหม่ เช่น อาหารพิเศษ อาหารสำหรับนักกีฬา ไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ต่อยอดจากเกษตร ขยายพื้นที่ลงทุนจากที่ภาคตะวันออกไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 66,000 บาท/ครอบครัว เป็น 85,000 บาท/ครอบครัว ภายใน 10 ปี ถือเป็นการกระจายรายได้ลงสู่เศรษฐกิจฐานราก อุตสาหกรรมชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้นจริง นำไปสู่การจ้างงาน การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพเดิม จาก 9.5 แสนล้านบาทให้เป็น 1.7 ล้านล้านบาทได้ ถ้าเดินได้ตามนี้จริงและร่วมกันทำ

EEC ยึดโยงเศรษฐกิจ-สังคม 

ขณะที่เรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ขออย่าคิดเพียงแค่เรื่องอุตสาหกรรม แต่ต้องคิดถึงการลงทุนสร้างฐานความเจริญใหม่ที่เป็นการพัฒนาที่ยึดโยงทั้งอุตสาหกรรมและเชิงสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่อง

การพัฒนาสังคมเมืองใหม่ ที่เรียกว่า smart city ซึ่งจะมีทั้งการยกระดับเมืองเดิม ทั้งเรื่องการจราจร สาธารณสุข และที่จะกระจายเพิ่มสู่พื้นที่อื่นในประเทศ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มภูมิภาค อย่างจีน ผ่านโครงการ One Belt One Road ต่อเชื่อมมายังลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ยึดโยงกันไปหมด ไทยกำลังดำเนินการเปิดประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า EEC เป็นการสร้างฐานการเจริญใหม่ลงทุนเพื่ออนาคตใหม่

ท้ายสุด “นายอุตตม” เน้นย้ำถึงสิ่งที่เป็น “game changer” ช่วยให้ไทยยืนในเวทีโลก ต้องเร่งปฏิรูปปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันก้าวทันเวทีโลก การสร้างเครื่องยนต์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

โดยนำเอาเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล การพัฒนาธุรกิจบริการ การสร้างบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ตลอดจนการเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ startup ซึ่งเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรม

โดยเร็ว ๆ นี้ได้ลอนช์โครงการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) 11 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกสนับสนุนการพัฒนาเอสเอ็มอี นำร่องที่ “ITC กล้วยน้ำไท พระราม 4” ตึก ต้นคิด ต้นกล้า ต้นคูณ มีต้นแบบการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ชงกาแฟมาให้บริการ โดยอาศัยความร่วมมือของบิ๊กบราเทอร์อย่าง ปตท. รวมถึงเด็นโซ่ที่นำเอากระบวนการเทคโนโลยีจำลอง เปิดคอร์สอบรม SMEs กว่า 500 กว่าบริษัทต่อคิวรอรับการพัฒนา ถือเป็นการลงลึก ทำจริง