อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ “3D Now” เปลี่ยน ปตท.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ให้ภาพความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจพลังงานจากกระแส disruptive trend นำมาสู่ game changer ของ ปตท.ว่า โลกกำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งนั้นก็คือ เปลี่ยนจากแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัล ซึ่งส่งผลต่อทั้งภาคธุรกิจและสังคม เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ “ตลาดเปลี่ยน แนวคิดคนเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย” 

ในส่วนธุรกิจพลังงานเห็นการเปลี่ยนอย่างชัดเจนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากการค้นพบ shale oil shale gas ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ อันดับหนึ่ง 1 ของโลกแซงซาอุดีอาระเบีย ถ่วงดุลกับโอเปกเกมเริ่มเปลี่ยนสู่ดุลยภาพ ราคาน้ำมันจาก 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลก็ปรับลดลงมา

ขณะที่ฝั่งจีนแม้จะมีแหล่งพลังงานสู้สหรัฐไม่ได้ แต่จีนก็ได้เปลี่ยนโครงสร้างด้านพลังงานตนเองไปด้วยการหันไปเน้น “พลังงานทางเลือก” มากขึ้น ทั้งลม-โซลาร์เซลล์ ทั้งยังมุ่งเน้นเรื่องพลังงานสะอาด

โดยล่าสุดทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้น้ำมันไปสู่การใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเห็นชัดจากต้นทุน แผงโซลาร์ที่มีแนวโน้มลงต่อเนื่องจากปี 1977 มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 76 เหรียญ/วัตต์ ปัจจุบันก็ลดลงมาอยู่ที่ 37 เหรียญ/วัตต์ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ค่ายรถยนต์ต่างปรับตัว แม้ว่าจะยังฟันธงไม่ได้ว่าจะเห็นภาพชัดเจนเมื่อไร “แต่ผมการันตีได้ว่าอนาคตรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่นอน”

ทำสิ่งที่ถนัดต่อยอดธุรกิจเดิม

โดยเราจะเห็นว่า ธุรกิจน้ำมันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอนนี้ (2016) ไม่มีบริษัทพลังงานรายใดติด Top 5 ธุรกิจที่มีมาร์เก็ตแคปมากที่สุดสะท้อนถึงผล

กระทบที่รุนแรง ธุรกิจพลังงานต้องมีการปรับตัว ประเทศไทยมี 2 แนวทาง เป็นความท้าทายของประเทศและรัฐบาลพยายามออกนโยบายรับการเปลี่ยนแปลง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยแลนด์ 4.0 นโยบายพลังงาน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือ new S-curve ผู้ประกอบการพลังงานจะต้องดูทิศทางนโยบายของรัฐบาล

บริษัท ปตท. เลือกเปลี่ยนแปลงโดยเน้นสิ่งที่ถนัดและต่อยอดธุรกิจเดิมของตัวเอง “เราก้าวกระโดดไปทำธุรกิจเข้าไปถึงแหล่งซัพพลายให้มากที่สุดด้วยการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ทำให้พลังงานมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ จะเห็นว่าเมื่อ 40 ปีก่อน ยอดการใช้น้ำมันน้อยกว่าปัจจุบันมาก แต่น้ำมันยังขาดได้ ขณะที่ปัจจุบันความต้องการมากกว่าอดีตแต่ประเทศไทยไม่เคยขาดน้ำมัน การปรับนำ บริษัท ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจทำให้เกิด S-curve ทำให้ ปตท.เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงนั้น”

โตแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร 

ปตท.ใช้กลยุทธ์ “3D now” เข้ามาช่วยต่อยอด ได้แก่ do now เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในธุรกิจเดิม-ทรัพย์สินเดิม การ “รีดไขมัน” โดยการนำดิจิทัลมาปรับกระบวนการทำงาน ปรับการทำธุรกิจ เราสามารถรีดไขมันได้ 30,000 ล้านบาท เป็นกำไร ลดต้นทุน 1 บาทเป็นกำไร 1 บาท D ที่สองคือ decide now การตัดสินใจขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างไร ลงทุนครบหรือยัง ลงไปข้างล่างขึ้นไปข้างบน และ design now แสวงหาธุรกิจใหม่ว่า จะมีรูปแบบธุรกิจเป็นอย่างไร

สำหรับแนวทางการปรับเปลี่ยนตามกลยุทธ์ 3D ปตท.นั้น นายอรรถพลกล่าวถึงแนวโน้มการใช้น้ำมันลดลงและปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบรถไฟฟ้า ปตท.จึงปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีดีลเลอร์ที่เป็น SMEs ถึง 80% ให้มีรูปแบบตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบ “life station” มากขึ้น ขณะเดียวกันได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจ gas แบบครบวงจร ตั้งแต่สำรวจ ค้าระหว่างประเทศ ควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ขยายไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีคุณสมบัติพิเศษ รวมถึงการขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน อย่างธุรกิจเครื่องดื่ม Cafe Amazon ไปสู่ตลาดต่างประเทศ

แต่ไฮไลต์ที่สำคัญก็คือ การปรับเปลี่ยนพลิกโฉมเข้าสู่ธุรกิจใหม่เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มพลังงานอีกต่อไป ล่าสุดจะเห็นถึงความเคลื่อนไหวของการพัฒนา EEC ที่จะไปขยายสู่การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าหรือการจับมือพันธมิตร ซึ่งไม่ได้เป็นการลงทุนเพียงลำพัง การจับมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการจัดตั้งโรงงานผลิตยา นำร่องในกลุ่มยาต้านมะเร็งที่หมดสิทธิบัตร

“เราไม่ใช่เพียงแค่ทำกำไร แต่เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยเหลือคนไทยให้เข้าถึงยาต้านมะเร็งได้เร็วขึ้นในราคายาที่ถูกลง” นายอรรถพลกล่าว