“THAIPAN” เคลื่อนพลร้อง “ตู่” ต้านพาราควอต

คกก.วัตถุอันตรายยื้อแบนพาราควอต ต่อ 2 เดือน ด้านกรมวิชาการฯ ชงมาตรการจำกัด-ควบคุม ส.พืชสวนร้องรัฐชดเชยต้นทุนเกษตรกร THAIPAN เตรียมร้องนายกฯ 5 มิ.ย. ทบทวนมติ ชี้เอื้อประโยชน์ยักษ์ใหญ่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีนายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีมติออกเสียง 17-18 จากทั้งหมด 23 เสียง เห็นด้วยให้มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป โดยยังคงกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่นเดิม ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดมาตรการจำกัดการใช้ โดยหลังจากนี้กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักจะเป็นผู้เสนออีกครั้งภายใน 2 เดือน หากผ่านความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที

ล่าสุดนายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมเตรียมเสนอคณะกรรมการ พิจารณาให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อควบคุม/กำกับการใช้สารเคมี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที

สำหรับแนวทางในการกำกับดูแล ได้แก่ 1.กำหนดสถานที่จำหน่าย เฉพาะร้านที่ได้รับการรับรอง Q shop ซึ่งเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนแสดงพื้นที่ปลูกและชนิดพืชที่ตรงกับฉลาก 2.กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้-ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี (chemical applicator) ต้องเป็นผู้ได้รับการฝึกอบรม 3.กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตราย เพื่อลดอันตรายและความเสี่ยงจากสารเคมี

4.กำหนดให้ผู้ผลิต/นำเข้า/ส่งออก หรือผู้มีไว้ในความครอบครอง แจ้งข้อมูลการผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ในการครอบครอง เพื่อให้ทราบเส้นทางตั้งแต่การนำเข้า จนถึงเกษตรกร และ 5.กำหนดองค์ประกอบ สิ่งเจือปน และฉลาก เพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่เกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม เช่น คำเตือน ระบุไม่ควรใช้ หรือห้ามใช้ในพื้นที่เสี่ยง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากมีการประกาศยกเลิกใช้สารเคมีเหล่านี้จะขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราว เพื่อนำข้อมูลทางวิชาการมาหารือใหม่ โดยให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพพิจารณาทบทวน เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งรัฐบาลต้องอุดหนุนเงินชดเชยเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจาก 270-400 เป็น 580-630 ตัน ต่อ 5 ลิตร

นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะไปยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและชี้ขาดต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะในการประชุมคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียจากสมาคมการค้า ซึ่งมีคนจากบริษัทสารเคมีดังกล่าวร่วมในกระบวนการพิจารณา อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 12 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ระบุว่า “กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวเรื่องใดผู้นั้นไม่มีสิทธ์ออกเสียงเรื่องนั้น”


“ตอนนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจ ท่านนายกรัฐมนตรีฐานะผู้นำ ควรพิจารณาความไม่โปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน เรายังแสดงจุดยืนให้แบน เพราะที่ผ่านมาควบคุมยาก ไทยไม่เคยประสบผลสำเร็จเรื่องนี้เลย”