RATCH ลุ้นดีลรัฐวิสาหกิจลาว จ่อขยายโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3,000 เมก

ราชบุรีโฮลดิ้งลุ้นรัฐวิสาหกิจไฟลาวให้สิทธิ์พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ตาม MOU ยังเหลืออีก 3,000 เมกะวัตต์ ย้ำลงทุนใน สปป.ลาว เพิ่มอีก หนีตลาดในประเทศ รัฐไม่เปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ ส่วนศักยภาพในลาวคาดสร้างเขื่อนเพื่อใช้ประโยชน์ได้สูงสุด 60 เขื่อน

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างไทยและ สปป.ลาว ที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าร่วมกัน 9,000 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้ยังเหลือกำลังผลิตที่ต้องดำเนินการอีก 3,000 เมกะวัตต์ ถือเป็นโอกาสที่จะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น โดยเหตุผลที่เพิ่มการลงทุนใน สปป.ลาวนั้น เนื่องจากตลาดในประเทศในอีก 10 ปีต่อจากนี้ ภาครัฐไม่มีนโยบายเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ ประกอบกับปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบ (reserve margin) ในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 30

ทั้งนี้ ราชบุรีโฮลดิ้งอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐวิสาหกิจไฟลาว หรือ EDL เพื่อเข้าไปพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพ เช่น ในลุ่มน้ำเซกอง และลุ่มน้ำโขง เป็นต้น หาก EDL อนุมัติให้ราชบุรีโฮลดิ้งได้รับสิทธิ์ในการพัฒนา ก็จะต้องแจ้งเรื่องไปยังกระทรวงพลังงาน จากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะทำหน้าที่เจรจาอัตราค่าไฟฟ้า ในกรณีที่ตกลงกันได้ ขั้นตอนต่อไปคือลงนาม Tariff MOU พร้อมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA (power purchase agreement)

สำหรับการพัฒนาโครงการใดก็ตามจะต้องสอดคล้องกับ 1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP (Power Development Plan) ที่อยู่ในระหว่างปรับปรุง เพราะแผน PDP จะระบุถึงสัดส่วนกำลังผลิตที่ต้องรับซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน และช่วงเวลาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งตามแผน PDP ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านภายในปี 2569 ที่ 10-15% และภายในปี 2579 เพิ่มเป็น 15-20% โดยจะมีกำลังผลิตเข้าระบบต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2569 ที่กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์/ปี และ 2) ความต้องการใช้ไฟฟ้าและระบบสายส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรองรับกำลังผลิตใหม่ได้หรือไม่

“สปป.ลาวมีศักยภาพด้านโรงไฟฟ้าได้อีกมาก จากแผนมีการเตรียมพัฒนาสูงถึง 22,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีโครงการเขื่อนเกิดขึ้นใหม่ได้อีก 50-60 เขื่อน แต่สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้พัฒนาเต็มที่คือลำน้ำโขง ที่คาดว่าจะพัฒนาได้ถึง 9 เขื่อน อีกด้วย”

นายกิจจากล่าวเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้จะมีกำลังผลิตใหม่จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียน เซน้ำน้อย ในพื้นที่แขวงจำปาสักและอัตตะปือ รวมกำลังผลิตที่ 410 เมกะวัตต์เข้าระบบ ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันของราชบุรีโฮลดิ้งถือหุ้นร้อยละ 25 และบริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้นที่ร้อยละ 25 บริษัท โคเรีย เวสต์เทิร์น เพาเวอร์ ร้อยละ 25 และบริษัท ลาว โฮลดิ้ง สเตท

เอ็นเตอร์ไพรส์ ร้อยละ 24 คาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเดินเครื่องเพื่อทดสอบระบบในช่วงปลายปีนี้ และจะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน ก.พ. 62 ถือเป็นโครงการที่ 3 ของราชบุรีโฮลดิ้งที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ซึ่งโครงการก่อนหน้านี้คือโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าหงสา

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราชบุรีโฮลดิ้งเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวที่ 20,800 ล้านบาท หรือ 1,121 เมกะวัตต์ รายได้ในปี 2560 ที่ผ่านมารวม 46,000 ล้านบาท เฉพาะรายได้จาก สปป.ลาวอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท โดยโครงการที่ทำรายได้ให้มากที่สุดขณะนี้คือ โรงไฟฟ้าหงสา ในปี”59 เดินเครื่องเพียงร้อยละ 63 ส่วนปี”60 ที่ผ่านมาเดินเครื่องที่ร้อยละ 80 ส่วนปีนี้คาดว่าทั้งปีน่าจะเดินเครื่องได้สูงสุดที่ร้อยละ 85

ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ประมาณการเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในช่วงปี”58-62 ว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อปีที่ร้อยละ 7 นอกจากนี้เพื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป.ลาว ฉบับที่ 8 คาดว่าจะมีการลงทุนตั้งแต่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แร่ธาตุ และพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ ไปจนถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมด้วย