ไทย ประกาศ ฟรีไอยูยู เวทีค้าทูน่าโลก ทุกวัตถุดิบนำเข้าสินค้าประมงต้องตรวจแหล่งที่มาได้

ไทยประกาศ ฟรีไอยูยู เวทีค้าทูน่าโลก ทุกวัตถุดิบนำเข้าสินค้าประมงต้องตรวจแหล่งที่มาได้ ชี้ไทยยังเป็นอันดับ 1 ผู้นำเข้าทูน่า 6.8 แสนตัน 1.3 พันล้านดอลลาร์

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของพล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุมหรือไอยูยู โดยกำหนดให้ไทยเป็นประเทศปลอดการทำประมงผิดกฎหมาย ฟรีไอยูยู นั้น การนำเข้าวัตถุดิบ ด้านการประมงต่างๆ จะต้องมาจากการประมงที่ถูกต้องเท่านั้น และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการ ซึ่งในที่ประชุมการค้าทูน่าโลก ครั้งที่ 15 ในฐานะที่ไทยเป็นผู้นำเข้าทูน่ารายใหญ่ จึงประกาศว่าไทยจะฟรีไอยูยู ซึ่งทุกประเทศที่ต้องการส่งทูน่ามายังประเทศไทยต้องมาจากการทำประมงที่ถูกต้อง โดยต้องมีเอกสารรับรองต่างๆที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด

นายชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทรัพยากร การพัฒนาเทคโนโลยี การค้าและการตลาดสำหรับสินค้าปลาทูน่า รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การขจัดการทำประมง ไอยูยู ปัญหาความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรม และการจัดการทรัพยากรปลาทูน่าในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริหารจัดการทรัพยากรทูน่าให้เกิดความยั่งยืน

“อุตสาหกรรมทูน่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแปรรูปรายใหญ่ที่สุดของ โดยในปี 60 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแปรรูป 485,461 ตัน มูลค่า 2,057 ล้านดอลลาร์ ส่วนในปี 2559 การส่งออกปลาทูน่าแปรรูปของไทยมีสัดส่วน 37% ของการค้าโลก เป็นอันดับที่ 34 ของโลก”

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศผู้นำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งสูงสุดอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2560ไทยนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งถึง 687,470 ตัน มูลค่า 1,307 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 40% ของการค้าโลก และ อันดับที่ 23 ของปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งของโลก โดยมี 7 ประเทศคู่ค้าหลักที่ไทยนำเข้าคือ ไต้หวัน ปาปัวนิวกินี เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา คีรีบาติ อินโดนีเซีย และมัลดีฟส์

“อุตสาหกรรมทูน่าของไทยมีการพัฒนามาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตรงกับความต้องการของตลาด และที่สำคัญ คือ ภายใต้การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ไทยยังคงยึดความยั่งยืนของทรัพยากรปลาทูน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบปี ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือไอยูยู “

ทั้งนี้กรมประมงได้ออกมาตรการการบริหารจัดการทรัพยากรที่เข้มงวด การบังคับใช้มาตรการรัฐเจ้าของท่า การจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมการผลิตทูน่าแปรรูป และการทำความตกลงกับประเทศคู่ค้าที่ไทยนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็ง เพื่อเป็นการการันตีว่าปลาทูน่าที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตนั้นมาจากการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่าทั้งระบบให้เกิดความยั่งยืน