กระทรวงเกษตรฯ จับมือ ภาคอุตสาหกรรมนม สร้างสถิติใหม่การดื่มนมของคนไทย

“เกษตร” จับมือ “ภาคอุตสาหกรรมนม” ร่วมสร้างสถิติใหม่ด้านการดื่มนมของคนไทย ตั้งเป้า 7 ปีเพิ่มการดื่มนมจาก 18 เป็น 25 ลิตร/คน/ เอกชนเล็งเสนอแผนร่วมเกษตร-สาธารณสุข–พาณิชย์ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรโคนม คนไทยแข็งแรง พร้อมดันส่งออกนมไทยครองตลาดเอเชีย

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2561 บริษัทผู้ผลิตนม 11 บริษัท ในนาม สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย(ส.อ.น.ท.) จับมือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จัดกิจกรรมวันดื่มนมโลกประจำปี 2561 ภายใต้แคมเปญ “นมยิ่งดื่มยิ่งดี” เพื่อสร้างวัฒนธรรมการบริโภคนมในสังคมไทย มุ่งสร้างความรับรู้ในวงกว้าง โดยคณะอนุกรรมการรณรงค์การบริโภคนม ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการดื่มนมของคนไทยจาก 18 เป็น 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2569

จากสถิติพบว่าคนไทยบริโภคน้ำอัดลม เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน (มากกว่า 41.13 ลิตร / คน / ปี) บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับ 5 ของโลก (มากว่า 52 ลิตร / คน / ปี) แต่กลับบริโภคนมอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก โดยบริโภคเพียง 18 ลิตร/คน/ปี หรือเพียงสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 113 ลิตร /คน/ปี ถือเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันบริมาณการบริโภคนมเพื่อสุขภาพที่ดีทั่วหน้าของคนไทยขอเชิญชวนคนไทยร่วมสร้างสถิติใหม่ด้านการดื่ม “ ดื่มนมหมดแก้ว ดูดนมหมดกล่อง” แล้วโพสลงโซเชียลมีเดียพร้อมติดแฮชแทค #นมยิ่งดื่มยิ่งดี #WorldMilkDay #WorldMilkDayThailand ดันประเทศไทยติดประเทศ top 5 global trend ของ World Milk Day ซึ่งในปีนี้ จะมีการจัดงานวันดื่มนมโลก ในวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2561 ณ สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพฯ โดยพิธีเปิดงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. บริเวณประตู 1 สวนสัตว์ดุสิต โดยในงานจะมีการออกบูธแสดงผลิตภัณฑ์นมใหม่ ๆ บทความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณประโยชน์ โดยเฉพาะคุณประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างสุขภาพที่เหมาะสมกับทุกวัย


นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันดื่มนมโลก ได้ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชากรโลกได้เห็นคุณค่าของการบริโภคนมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง โดยในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รณรงค์การดื่มนมภายใต้แคมเปญ “ นมยิ่งดื่มยิ่งดี ” เพื่อตอกย้ำถึงประโยชน์ของนมโคต่อผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตามนอกจากการบริโภคนมจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้ประชาชนแล้วนั้น ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรโคนมไทยรวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตร ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ต้องการเห็น “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทยนี้ จำต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเช่นความร่วมมือรณรงค์การบริโภคนมในวันดื่มนมโลกครั้งนี้ เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน คนไทยทั่วทั้งประเทศก็จะได้ดื่มนมคุณภาพดี รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมนมไทยให้พัฒนายิ่งขึ้นไป


นายสรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การดื่มนมของคนไทยปัจจุบันเฉลี่ย 18 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น หรือในประเทศยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ตาม นมถือว่าเป็นอาหารที่คุณค่าทางอาหารสูงและจำเป็นต่อสุขภาพ หากคนไทยดื่มนมเพียงวันละ 2 แก้ว จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพของร่างกาย รวมทั้งยังช่วยสร้างความยั่งยืนในอาชีพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรไทยด้วย ”

นายชัชวาลย์ มณีทัพ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคนมเพียง 18ลิตร/คน/ปี ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น 90 ลิตร/คน/ปี สิงคโปร์ 62 ลิตร/คน/ปี จีน 38 ลิตร/คน/ปี โดยมีอัตราค่าเฉลี่ยการบริโภคนมทั่วโลกอยู่ที่ 113 ลิตร/คน/ปี ซึ่งในเอเชียมีการบริโภคนม 66 ลิตร/คน/ปี ยุโรป 274 ลิตร/คน/ปี อเมริกาเหนือ 237 ลิตร/คน/ปี และละตินอเมริกา 124 ลิตร/คน/ปีตามลำดับ การรณรงค์ให้คนเห็นประโยชน์ของนมโคและหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมโคเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนมทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยทางสมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้ คณะอนุกรรมการรณรงค์การบริโภคนมของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วนรวมถึง กรมอนามัย สำนักงานอาหารและยา เพื่อจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับนมและการดื่มนมสำหรับคนทุกช่วงวัย

ทั้งนี้สมาคมฯ ได้เสนอให้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อบูรณาการนโยบายของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม กระทรวงเกษตรฯ นโยบายกระทรวงสาธารณสุขด้านสุขภาวะโภชนาการและความรอบรู้ทางสุขภาพเกี่ยวกับการดื่มนม เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศและผลักดันเพื่อเพิ่มยอดการส่งออก การรณรงค์บริโภคนมนอกจากจะช่วยส่งเสริมการเติบโตตลาดในประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบที่รับซื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มีน้ำนมดิบเพียงพอเพื่อการส่งออก
“ทางสมาคมฯ เชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมนมประเทศไทย อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ ในการแก้ไขประเด็นที่เป็นอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การจำกัดปริมาณนำเข้าของประเทศปลายทาง” นายชัชวาลย์ กล่าวเพิ่มเติม