กรมการค้าต่างประเทศแจงขั้นตอนส่งออกข้าว หลังเกิดความเข้าใจผิด ชี้แม้จะขายทีละไม่มาก-ผ่านออนไลน์ ก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงขั้นตอนส่งออกข้าว หลังเกิดความเข้าใจผิด ชี้แม้จะขายทีละไม่มาก หรือขายผ่านทางออนไลน์ ก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก และไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยาก พร้อมย้ำการส่งออกข้าว ไม่มีการกำหนดโควตา สามารถส่งไปที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ยกเว้นตลาดอียู ที่มีโควตาพิเศษ เผยยังได้จัดสรรโควตาให้กับเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ด้วย

 

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีแมคนีน่า ฟาร์ม ซึ่งเป็นกลุ่ม Young Smart Farmer ที่ผลิตข้าวอินทรีย์ ได้ให้ข้อมูลว่าการส่งออกข้าวมีขั้นตอนยุ่งยาก และยังมีการกำหนดโควตาส่งออกข้าวว่า กรมฯ ขอชี้แจงว่าหากต้องการที่จะส่งออกข้าวไปขายยังตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกครั้งละไม่มาก เช่น 10-20 กิโลกรัม หรือส่งออกผ่านช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด และต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก ซึ่งไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่อย่างใด ยกเว้นกรณีที่ส่งออกโดยมิใช่เพื่อการค้าที่มีปริมาณไม่เกิน 20 กิโลกรัม กำหนดให้ไม่ต้องขออนุญาตส่งออกได้

“กรณีที่กลุ่มแมคนีน่า ฟาร์ม ได้มีการระบุว่า มีการส่งออกข้าวทางออนไลน์ครั้งละ 10-20 กิโลกรัม และไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก เพราะการขึ้นทะเบียนมีขั้นตอนยุ่งยาก กรมฯ ขอชี้แจงว่า เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการส่งออกดังกล่าว เป็นการทำเพื่อการค้า ก็ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และไม่ได้ยุ่งยากอะไร”

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า มีการกำหนดโควตาส่งออกข้าวให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ กรมฯ ขอยืนยันว่า การส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ไม่มีการกำหนดโควตาในการส่งออกแต่อย่างใด ผู้ส่งออกสามารถส่งออกข้าวไปขายได้ทุกประเทศทั่วโลก โดยไม่จำกัดชนิดและปริมาณ ยกเว้นการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีการลดภาษีเป็นพิเศษ ซึ่งได้มีการกำหนดวิธีการในการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการชัดเจน และในปี 2561 ก็ได้มีการนำโควตาข้าวอียูบางส่วนมาจัดสรรให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงให้กับชาวนาทั่วไปที่จับกลุ่มแปลงอินทรีย์ให้สามารถส่งออกข้าวไปยังอียูด้วย โดยกลุ่มชาวนาที่จะเป็นผู้ส่งออกสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกได้เช่นกัน และมีกลุ่มที่มีความเข็มแข็งได้มาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวแล้ว

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ เป็นหนึ่งในแนวทางการขยายตลาดส่งออกให้กับเกษตรกรที่ผลิตข้าวที่มีคุณภาพตามที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งมีเกษตรกรและกลุ่มชาวนาเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา หากกลุ่มแมคนีน่า ฟาร์ม ที่เป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ และได้รับการรับรองมาตรฐาน USDA หากสนใจ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ทั้งนี้ ขอเเนะนำให้หาตลาดก่อนการผลิต ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลสนับสนุนตามหลักตลาดนำการผลิต (Demand driven) โดยสามารถช่วยเชื่อมโยงตลาดให้ล่วงหน้า