ไทยประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการปรับปรุงการทำประมงปลาโอดำฝั่งอ่าวไทย พร้อม MOU แก้ IUU ร่วมปาปัวนิวกินี

กรมประมง ร่วมกับศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (TTIA) ลงนามประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “ความร่วมมือในการปรับปรุงการทำประมงปลาโอดำ ฝั่งอ่าวไทย ให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน” เพื่อการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายที่ 14 ของเป้าหมายพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) โดยพิธีลงนามดังกล่าวได้จัดขึ้นในวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมแซงกลีร่า กรุงเทพฯ

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมนุษย์ใช้ประโยชน์จากท้องทะเลด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจับสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคมีการคิดค้นนวัตกรรมด้านการประมงรวมถึงการใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการจับสัตว์น้ำให้ได้ปริมาณมากที่สุดอีกทั้งภาคอุตสาหกรรมด้านการแปรรูปวัตถุดิบก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา จึงส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว สหประชาชาติมีความห่วงใยในการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน จึงกำหนดเป้าหมายพัฒนาแห่งสหัสวรรษและล่าสุดได้ประกาศ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ในปี 2015 โดยเป้าหมายที่ 14 Life Below Waters คือการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีเป้าหมายในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับในโลกยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าการสร้างความร่วมมือที่จะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายรวมทั้งจากการทำประมงที่มีความเสี่ยงต่อความยั่งยืนของทรัพยากรได้กลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญทางการค้า

ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรอิสระและเอกชนในประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล จึงมีความร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาให้ภาคการประมงของประเทศไทยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการในเชิงลึก การบริหารจัดการ การทำประมง การสร้างจิตสำนึกของชาวประมง การตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมประมง อีกทั้งสัตว์น้ำบางชนิดโดยเฉพาะปลาผิวน้ำ เช่น ปลาทูน่า ปลาโอดำ ยังเคลื่อนย้ายไปมาตามชายฝั่งทะเลผ่านรัฐชายฝั่งต่างๆ ดังนั้นความร่วมมือกันในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐชายฝั่งในภูมิภาคจะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง โดยที่ผ่านมาความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้วในสัตว์น้ำบางชนิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ภายใต้ Fisheries Improvement Program ของ ปูม้า และสัตว์น้ำอวนลาก ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการและประเมินผลของผู้ประเมินผลอิสระ และเพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ กรมประมงจึงจัดพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการปรับปรุงการทำประมงปลาโอดำฝั่งอ่าวไทย เพื่อเป็นอีกก้าวหนึ่งในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาชาติที่จะอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรปลาโอดำ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่นิยมบริโภค จึงทำให้ตลาดมีความต้องการสูงจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์จนเกินกว่าการผลิตในธรรมชาติ

ทั้งนี้ ยังมีการลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง ในวันนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมประมง ประเทศไทย และหน่วยงาน National Fisheries Authority (NFA) ประเทศปาปัวนิวกินี โดยการลงนาม MOU ฉบับนี้ เป็นกรอบสำหรับการพัฒนาความร่วมมือด้านประมงของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะช่วยการันตีได้ถึงความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจการประมงระหว่างสองประเทศ ความร่วมมือในการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้สอดคล้องกับข้อปฏิบัติสากล เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปการประมง ภายใต้การดำเนินงานในรูปแบบของการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อต่อต้านการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ความร่วมมือในการพัฒนาระบบการรับรองการจับสัตว์น้ำและระบบตรวจสอบย้อนกลับ อีกทั้ง ยังมีความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาหารปลอดภัย การสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนความร่วมมือทางด้านวิชาการโดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน การทำวิจัยร่วมเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ทั้งเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ รวมถึงพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชาวประมงด้วย

“นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้มีความร่วมมือทางด้านการประมงอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นนับจากที่ประเทศไทยและประเทศปาปัวนิวกินี ได้มีความสัมพันธ์ด้านการประมงมายาวนานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งในอดีตได้เคยมีการหารือถึงความร่วมมือระหว่างกัน เนื่องจากประเทศปาปัวนิวกินีมีความสนใจในเรื่องของการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการธุรกิจการประมงและการแปรูปสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในเรื่องเหล่านี้ ส่วนประเทศไทยก็เคยมีความสนใจที่จะขยายลู่ทางการทำธุรกิจประมงในประเทศปาปัวนิวกินี และเคยได้รับสัมปทานในการเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำของเขตประเทศปาปัวนิวกินี และได้นำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาทูน่าเป็นจำนวนมากด้วย ดังนั้น การลงนาม MOU ในครั้งนี้ จึงมีส่วนช่วยผลักดันความสัมพันธ์ทางการประมงของทั้งสองประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมประมงกล่าว