“พาณิชย์” ชี้อินเดียกำหนดราคาส่งออกข้าวขาว 5% ไม่กระทบราคาข้าวไทย เข้มตรวจสอบ เอาจริงหากมีการกดราคาเกษตรกร พร้อมชงนบข.เตรียมมาตรการชะลอซื้อข้าวเปลือก พ.ย.-ธ.ค. 67 รับมือผลผลิตนาปี 67/68
วันที่ 4 ตุลาคม 2567 นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ข้าว กรณีอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกที่ 490 เหรียญสหรัฐ/ตัน ยังถือว่าเป็นผลดีกับตลาดข้าวโลกและข้าวไทย เพราะราคายังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงปกติ ก่อนที่อินเดียจะประกาศไม่ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติในปี 2565 ที่เฉลี่ย 360-370 เหรียญสหรัฐ/ตัน
แม้ขณะนี้สถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้าจะปรับลดลงมาตามสถานการณ์ตลาดที่ผู้ประกอบการต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายส่งออกของประเทศอินเดีย แต่จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับผู้ประกอบการโรงสีข้าวและผู้ส่งออกของกรมการค้าภายใน คาดว่าสถานการณ์ราคาจะมีแนวโน้มดีขึ้น ไม่ต่ำลงไปมากกว่านี้
นายวิทยากรกล่าวว่า ตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายให้ดูแลสินค้าเกษตร รวมถึงราคาข้าวในประเทศอย่างใกล้ชิด กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์ร่วมกับสมาคมโรงสี ผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง พบว่าขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้เก็บเกี่ยวข้าวเปลือกเจ้าไปแล้ว และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอีกครั้งในปลายเดือนตุลาคมนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์แนวโน้มราคาตลาด การซื้อขาย จะกลับมาปกติ มีเสถียรภาพ ราคาไม่ตกต่่า
โดยข้าวเปลือกเจ้า (ข้าวแห้งความชื้นไม่เกิน 15%) มีราคา 9,100-10,000 บาท/ตัน ข้าวเกี่ยวสดความชื้น 30% ราคา 7,000-7,750 บาท/ตัน บางพื้นที่ที่ข้าวประสบปัญหาอุทกภัย จมน้ำ เร่งเก็บเกี่ยว ราคาจะลดลงมาตามคุณภาพ สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ
และข้าวเปลือกเหนียวราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวหอมมะลิราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 16,600 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียวราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,900 บาท/ตัน
ส่วนการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวฤดูกาลผลิต 2567/68 กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้เตรียมมาตรการรองรับข้าวเปลือกโดยมาตรการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเกษตรกร เป็นมาตรการที่สำคัญที่จะช่วยชะลอข้าวเปลือกในช่วงที่จะออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567
นายวิทยากรกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่อินเดียประกาศควบคุมการส่งออกข้าวขาว 5% ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าของประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นจากเฉลี่ย 8,984 บาท/ตัน ในปี 2565 เป็น 11,000-12,000 บาท/ตัน
ในช่วงสิงหาคม 2566-กันยายน 2567 แม้ปัจจุบันอินเดียจะหันกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% แต่การกำหนดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำยังถือว่าทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีเสถียรภาพ
สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค. 67) ก็ยังมีทิศทางที่ดี โดยไทยส่งออกไปแล้ว 6.57 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 24 (+1.28 ล้านตัน) และปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศในเดือนกันยายน 2567 ข้าวไทยก็ยังส่งออกได้เป็นปกติ แม้สถานการณ์ค่าเงินบาทจะมีความผันผวน จึงปรับเป้าหมายการส่งออกจาก 8 ล้านตัน เป็น 8.2 ล้านตัน ในสิ้นปี 2567
นายวิทยากรได้ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จะได้ติดตามดูแลการซื้อขายข้าวปลือกอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ ตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนัก และเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขาย หรือพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใดมีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร. 1569 ผู้ประกอบการรายใดจงใจที่จะทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ