ค่ำคืนวันที่ 1 ต.ค. 2567 อิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีอิสราเอล ทางกองทัพอิสราเอลประเมินว่ามีประมาณกว่า 180 ลูก แต่ส่วนใหญ่ถูกสกัดเอาไว้ได้ทั้งหมด
กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ออกแถลงการณ์ระบุว่า อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธจำนวนมากเข้าโจมตีอิสราเอลเพื่อตอบโต้ต่อการสังหารประชาชนในฉนวนกาซา รวมทั้งผู้นำของกลุ่มฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ ที่อิสราเอลออกปฏิบัติการไล่ปลิดชีพไปก่อนหน้านี้ และเตือนว่าอิสราเอลจะถูกโจมตีแบบบดขยี้ หากตอบโต้อิหร่าน
ภายหลังเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธเกือบ 200 ลูกเข้าโจมตีอิสราเอล อิหร่านได้ประกาศตามมาว่าการโจมตีอิสราเอลสิ้นสุดแล้ว โดยไม่มีเหตุการณ์ยั่วยุใด ๆ เพิ่มเติมอีก
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า อิสราเอลและสหรัฐ สองพันธมิตรทางทหารให้คำมั่นจะเอาคืนอิหร่าน พร้อมเตือนจะเจอผลลัพธ์ที่รุนแรงตามมา
ผวาราคาน้ำมันดิบพุ่ง
เหตุการณ์โจมตีดังกล่าว ส่งผลเชื่อมโยงถึง “ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก” ทันที โดยเฉพาะระดับราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) พุ่งกว่า 5% ทะลุระดับ 71 เหรียญต่อบาร์เรลระหว่างการซื้อขาย หลังมีรายงานว่าอิหร่านได้ยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ก่อนจะปิดตลาดวันที่ 1 ต.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.66 เหรียญสหรัฐ หรือ 2.44% ปิดที่ 69.83 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จนกระทั่งล่าสุด วันที่ 3 ต.ค. 2567 ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังปรับตัวสูงขึ้นอีก 1.20% อยู่ที่ระดับ 70.94 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามนี้กระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และจะส่งผลต่อราคาน้ำมันโลกที่อาจจะพุ่งขึ้นไปแตะที่ 100 เหรียญ/บาร์เรล รวมถึงยังกระทบเรื่องการขนส่งทางเรือที่อาจทำให้ล่าช้า และมีต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้นไปที่ 12,000 เหรียญ/ตู้คอนเทนเนอร์ หากไตรมาสสุดท้ายสงครามยังรุนแรงแบบนี้ อาจทำให้ฉุดการเติบโตของ GDP ที่จะโตช้าลง
ส่งออก-นำเข้าระทึก
ในด้านการค้า ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาพรวมการค้าไทย-ตะวันออกกลาง (15 ประเทศ) 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2567 รวม 27,116.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.77% โดยไทยส่งออก 7,801.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.32% นำเข้า 19,315.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.55% ขาดดุลการค้า -11,513.26 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ คือ รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช และเคมีภัณฑ์
ด้าน นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องจับตาดูสถานการณ์สงครามอิสราเอลรอบใหม่ว่าจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด โดยสงครามดังกล่าวส่งผลถึงค่าเงินให้ดอลลาร์สหรัฐอาจจะมีการปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ซื้อขายสินค้าข้าวทำได้ง่ายขึ้น
อีกด้านหนึ่งต้องดูผลจากราคาน้ำมันซึ่งอาจจะกระทบต่ออัตราค่าระวางเรือใหญ่ เรือตู้ และค่าประกันเรือ ซึ่งอาจจะปรับตัวสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นในขณะนี้นับเป็นค่าความเสี่ยงในการเดินเรือ ซึ่งหากปรับสูงขึ้นก็นับเป็นต้นทุนของภาคเอกชนที่จะสูงขึ้น อีกทั้งขณะนี้การที่อินเดียกลับมาหวนคืนส่งออกข้าวบาสมาติอินเดีย ก็อาจจะ “ชะลอ” เพราะผลจากสงครามอาจจะมีผลต่อตลาดอิหร่าน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน
“ในระยะยาวมองว่า หากภาวะสงครามทำให้การซื้อขายข้าวในตลาดโลกไม่คล่องตัว จะทำให้ภาคการส่งออกจะชะลอตัว ซึ่งภาวะนี้มาประกอบกับที่ปีนี้มีฝนดี ปริมาณข้าวรอบนาปีที่กำลังจะเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นอีก จำเป็นต้องเตรียมมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวในไตรมาส Q4 ไว้รองรับโดยเร็ว”
ค่ายน้ำมันปรับแผนรับมือวิกฤต
ด้าน นางสาวเชาวศรี เหลืองรัตนากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์ นโยบาย และพัฒนาธุรกิจ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลกระทบต่อราคาน้ำมันโดยตรงรวมถึงระบบการขนส่ง ซึ่งมีความกังวลว่าหากสงครามทวีความรุนแรงต่อเนื่องจะส่งผลต่อราคาน้ำมันปรับพุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้หากมีการปิดช่องที่ใช้ขนส่งน้ำมัน เราก็ต้องหาเส้นทางอื่นมาทดแทน ซึ่ง SPRC ก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและความเหมาะสมในการนำเข้าน้ำมัน
ขณะที่การรับมือจากการปิดช่องแคบก็จำเป็นจะต้องมองหา transporation อื่น ๆ ที่สามารถนำน้ำมันเข้ามาแทนได้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน SPRC นำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาประมาณ 2,650,000 บาร์เรลต่อเรือ (DWT) ใช้เรือความยาว 330 เมตร บรรทุกจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง โดยผลิตน้ำมันใช้ในประเทศ 90% และส่งออกไปยังต่างประเทศ 10%
จับตา ศก.โลก-ค่าบาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านยิ่งทวีความรุนแรง ทำให้เห็นภาพของดัชนีการผลิต PMI Manufacturing เดือนกันยายน 2567 ของสหรัฐ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นหดตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 0.5% และเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในช่วงที่เหลือของปี เช่นเดียวกับธนาคารกลางจีนที่ปรับลดดอกเบี้ยรวมถึงภาครัฐที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ เพื่อพยุงการผลิตและการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่ามากขึ้น
ในขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 36.8 มาที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือราว 12% มากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งได้เพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออก หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี อาจกระทบรายได้ส่งออกรูปเงินบาทราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กกร.ยังคงคาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะเติบโต 2.5% ส่วนเงินเฟ้อ 0.5-1% โดยยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งคาดว่ายังมีพายุเข้าอีก 1 ลูกในช่วงปลายปี อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 30,000-50,000 ล้านบาท นับเป็นความท้าทายว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ในกรอบ 2.2-2.7% ที่วางไว้หรือไม่