“อ.ยักษ์” ลุยเพิ่มพื้นที่ชลประทานหวังครอบคลุมพื้นที่เกษตร 100% สนองนโยบาย ”ประยุทธ์”

“อ.ยักษ์” ลุยเพิ่มพื้นที่ชลประทานหวังครอบคลุมพื้นที่เกษตร 100% สนองนโยบาย ”ประยุทธ์” ฟื้นโครงการเล็กลดงบลด-ขัดแย้ง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน กับ 11 หน่วยงาน ว่า รัฐบาลต้องการพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้เต็ม 100% ของพื้นที่เกษตร 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ ภายใน 20 ปีจากนี้ ถ้าทำระบบส่งน้ำของไทยจะสมบูรณ์ ประชาชนไม่เดือดร้อน ไม่ประสบฝนแล้ง หรือ น้ำท่วมอีก โดยในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การทำเขื่อนขนาดใหญ่จะใช้เวลาใช้เงินลงทุนมาก ใช้พื้นที่มาก ก่อความขัดแย้ง ดังนั้นให้คิดโครงการเล็กๆ ในงบประมาณ 1-2 ล้านบาท ต่อโครงการเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร

ทั้งนี้ รัฐบาลเปิดกว้างให้ทุกคนช่วยกันคิด และ พุ่งเป้าไปสู่เกษตรกร และประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นพื้นที่ไหนขาดแคลนน้ำเราต้องรีบโดยใช้การทำงานแบบบูรณาการของภาครัฐเป็นหลัก หากต้องการมีพื้นที่ชลประทานครอบคลุมพื้นที่เกษตร 100% เพมื่อดครงการใหญ่เกิดไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง การปรับปรุงระบบชลประทาน การลงทุนจะไม่ได้ใช้ระบบชลประทานแบบเดิม จะใช้นวัตกรรมด้านชลประทานแบบใหม่ๆเข้ามา

สำหรับตัวอย่าง กระทรวงเกษตรได้ศึกษา ระบบชลประทานทั้งของยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ที่เมืองไทย จากตัวอย่างระบบชลประทานในหลายพื้นที่ อาทิ การชลประทานแบบอเมริกานิยมสร้างเขื่อนใหญ่ และกระจายน้ำไปให้ทั่ว เอาน้ำมากระจุกอยู่ที่เดียว แต่ยุโรปเก็บน้ำกระจาย ทำเป็นโครงการเล็กในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประหยัดกว่า รวมไปถึงสิ่งที่รัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาไว้ การบริหารจัดการน้ำ อาทิ การสร้างเขื่อนกลาง เขื่อนขนาดจิ๋วไว้ในไร่นา และนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาสร้างระบบน้ำ พบว่าที่ผ่านมาระบบผสมผสานของรัชการที่ 9 มีต้นทุนที่ถูกกว่าระบบใหญ่ๆ 5 เท่า

ส่วนการร่วมมือกับ 11 หน่วยงานรัฐเกิดขึ้นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดนอกเขตชลประทานอย่างเดียว เกิดในพื้นที่ป่า ดินที่เสื่อมโทรม การชะล้างพังทลายของหน้าดิน ในแต่ละปีเราสูญเสียหน้าดินเป็นเงิน 2.3 ล้านล้านบาท เกือบเท่าเงินที่รัฐบาลเก็บภาษีได้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะเก็บภาษี 2.7 ล้านล้านบาท ดังนั้นการรักษาป่า รักษาหน้าดิน ปลูกต้นไม้ เป็นทางเลือกที่สำคัญ และ11หน่วยงานนี้เห็นประโยชน์ของการฟื้นฟูรักษาทรัพยาการเพื่อการผลิตอาหาร เพื่อให้คนทั้งประเทศไม่อดยาก ทั้งนี้ถ้าดินมันเสื่อมมาก พื้นที่ภัยแล้งพึ่งพาน้ำฝน 80% ถึงจะมีนโยบายทางการเกษตรให้ดีอย่างไร แต่น้ำแย่ ดินแย่ ผลผลิตมันไม่ออกหรืออกไม่สมบูรณ์ เรื่องอื่นๆก็ทำต่อยาก ดังนั้นพื้นฐานเป็นเรื่องใหญ่

อย่างไรกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีภารกิจสำคัญที่จะต้องดูแลพื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% ทั่วประเทศ และเขตชลประทาน 20% โดยพื้นที่นอกเขตชลประทานมีหน่วยงานที่ดูแลอยู่หลายหน่วยงาน อาทิ กรมฝนหลวงฯ กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เป็นต้น แต่การทำเมฆให้ตกเป็นฝนต้องอาศัยความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60% หลังการหารือกันเพียง 11 หน่วยงาน พบว่าต้องปลูกต้นไม้เพิ่มให้มากที่สุด หรือ อาจจะมีบ่อน้ำ หนองน้ำ เก็บความชื้นเอาไว้เพื่อให้ลอยไปในบรรยากาศได้ 60% เพื่อที่กรมฝนหลวงฯ จะได้ดำเนินการทำฝนได้ตลอดทุกพื้นที่มีความชื้น

ทั้งนี้ 11 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม MOU อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา