
PTG ผนึกมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ-กรมป่าไม้-ธ.ก.ส. ส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้า และพืชเศรษฐกิจยั่งยืน ส่งตรงร้าน“กาแฟพันธุ์ไทย” นำร่อง จ.เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน ตั้งเป้า 5 ปีเพิ่มพื้นที่ปลูก 30,000 ไร่
วันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าและส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าและพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาป่าเดิม เพิ่มป่าใหม่ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยเป็นการนำเอาเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพและได้คุณสมบัติตามมาตรฐานส่งมอบให้กับบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือพีทีจี รวมถึงรับซื้อผลผลิตกาแฟอาราบิก้า หรือพืชเศรษฐกิจ เช่น อะโวคาโด, แมคคาเดเมีย จากเกษตรกรตามคุณภาพ ปริมาณ และราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ พีทีจียังร่วมส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการรับซื้อผลผลิต การคัดคุณภาพเมล็ด และการตรวจสอบย้อนกลับรวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตกาแฟและพืชเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมด้านตลาดตามความต้องการของลูกค้าและความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์และราคา
สำหรับความร่วมมือกับกรมป่าไม้ พีทีจีสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อดำเนินการจัดหาปลูกกาแฟและ ปลูกไม้ป่าไม้ ในพื้นที่โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ที่กรมป่าไม้จัดเตรียมให้ รวมระยะเวลา 3 ปี
ส่วนความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พีทีจีสนับสนุนด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์และข้อมูลเพื่อเป็นกรอบในการวางแผนการผลิตให้กับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ (CSR) และเผยแพร่ความรู้ และเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกกาแฟหรือพืชเศรษฐกิจแก่เกษตรกร พร้อมทั้งจัดหากล้าไม้ยืนต้น ต้นกล้ากาแฟและต้นกล้าของพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ
“รู้สึกดีใจแทนเกษตรกร อยากจะเห็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอยู่ดีกินดี ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ครบ จบในที่เดียว เราได้โอกาสจากทุกองค์กรในการมาพูดคุยกัน พีทีจีเลยทำหน้าที่ได้รับซื้อเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพในราคาที่เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้กาแฟจากต่างประเทศ แต่สามารถใช้กาแฟในประเทศได้” นายพิพัฒน์กล่าว
ด้านนายรังสรรค์ พวงปราง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและความยั่งยืน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวได้ริเริ่มในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกรมป่าไม้และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟอาราบิก้า และได้รับความร่วมมือจาก ธ.ก.ส. ที่เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงแหล่งเงินทุน ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและบริหารแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความยั่งยืนในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“ตั้งเป้า 5 ปีจะมีพื้นที่ปลูกกาแฟ 30,000 ไร่ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาว คาดว่ามากกว่า 5 ปี สามารถสร้างพื้นที่ปลูกเพิ่มได้มากกว่า 30,000-50,000 ไร่อย่างแน่นอน เนื่องจากตลาดกาแฟในปัจจุบันเติบโตเพิ่มมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ต่อเนื่อง” นายรังสรรค์กล่าว
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และพีทีจีได้ให้ความสำคัญกับการดูแลป่าพัฒนาชุมชน และส่งเสริมเกษตรกรท้องถิ่น และในพื้นที่เป้าหมาย ผ่านการดำเนินงานแบบผสมผสาน เช่น การปลูกป่า การปลูกกาแฟหรือพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากงานพัฒนาทางเลือกและสนับสนุนชุมชน
ด้าน นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงบทบาทของกรมป้าไม้ ในความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กรมป่าไม้จะสนับสนุนพื้นที่โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามแนวพระราชดำริ จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ เพื่อการปลูกและบำรุงรักษาป่า
พร้อมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับพีทีจี หน่วยงาน ชุมชน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามความเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ประจำโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำแนะนำ หาพื้นที่โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ และการประสานงานกับชุมชนในพื้นที่
นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หน้าที่ของ ธ.ก.ส. จะประเมินความพร้อม และศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงความพร้อมทางด้านการเงิน และสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับเกษตรกร-สถาบันเกษตรกร
นอกจากนี้ยังหาช่องทางในการพัฒนาสินค้าจากผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดที่พีทีจีรองรับ