
ส.อ.ท. เปิดมุมมองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทรัมป์-แฮร์ริส ชี้ไม่ว่าใครขึ้นมา ล้วนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ย้ำกระทบทั่วโลก แนะไทยต้องเตรียมรับมือ สร้างโอกาสการค้า-การลงทุน
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวระหว่างงานสัมมนา “US Election 2024 เจาะลึกศึกชิงทำเนียบขาว” ในหัวข้อ “เลือกตั้งอเมริกา ส่งผลอย่างไรต่อไทย” ในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจัดโดยบริษัทในเครือ มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในมุมมองของภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นนายโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ล้วนมีนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้าของประเทศเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ จำเป็นจะต้องวางแผนและเตรียมรับมือ เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาล้วนมีผลกระทบทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เมื่อดูสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มของเครื่องจักรกล โทรคมนาคม หม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ลงถึงสินค้าเกษตร ขณะที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ เครื่องจักรกล และเทคโนโลยี เคมีภัณฑ์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการติดตามและผลักดันเพื่อให้ไทยมีโอกาสทางการค้ามากขึ้น
“หากย้อนดูมูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี มูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ จาก 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 49,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ช่วงที่นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี มูลค่าของ 2 ประเทศ จาก 49,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 67,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”
ทั้งนี้ เมื่อได้ประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว สิ่งที่จะต้องมองและติดตาม คือเรื่องของสงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามสกุลเงิน และสหรัฐมองประเทศจีน เป็นภัยของประเทศ และด้วยจากเหตุนี้ จึงมีโอกาสที่จะทำให้สินค้าจีน ซึ่งปัจจุบันไหลเข้ามาในประเทศไทย โดยมองว่าลักษณะสินค้าของไทยและจีน มีความคล้ายกัน จึงมีโอกาสที่จะเข้าไทยได้
แต่อย่างไรก็ดี มองว่าในเรื่องการค้า เศรษฐกิจ ประเทศไทยไม่ควรแสดงตัว โดยการเลือกข้าง แต่ควรวางตัวให้มีความเหมาะสม ควรทำให้เป็นที่รักของทั้ง 2 ประเทศ เข้าได้ทั้งสองข้าง การเจรจาพูดคุยจำเป็นจะต้องมีศิลปะ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนจากทั้ง 2 ประเทศ
ส่วนการลงทุน โดยจะเห็นว่าการลงทุนของสหรัฐเข้ามาลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก มูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนที่สิงคโปร์ ล่าสุด 40% ขณะที่การลงทุนที่ประเทศไทยมีเพียง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น จึงควรทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต Supply Chain อยู่ระหว่างกลาง โดยภาครัฐจำเป็นจะต้องกำหนดทิศทางนโยบายให้มีความเหมาะสม เป็นมืออาชีพ สร้างความเชื่อมั่นในการดึงการลงทุน การค้า
ขณะที่ภาคเอกชนจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวและลงทุนด้านเทคโนโลยี AI และเพิ่มศักยภาพการศึกษา เพื่อรองรับการเติบโต แต่ทำเรื่องจำเป็นจะต้องให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนให้เอกชนสามารถแข่งขันต่างประเทศ หรือเทียบกับคู่แข่งได้ โดยเฉพาะการดูแลเรื่องค่าพลังงานและค่าแรง