UACJ ลงทุน EEC 1.3 หมื่นล้าน ผลิตกระป๋องน้ำ-ชิ้นส่วนอากาศยาน

บิ๊กโรงงานกระป๋อง “UACJ” ทุ่ม 13,000 ล้านบุก EEC เปิดไลน์การผลิตกระป๋องน้ำดื่ม จ่อโดดร่วมลงทุนผลิตชิ้นส่วนป้อนอุตฯ อากาศยาน MRO อู่ตะเภา

นายมิซึรุ โอคาดะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซีเจ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) หรือ UACJ กล่าวถึงแผนการลงทุนในประเทศไทยว่า บริษัทเตรียมขยายการลงทุนในไทยรอบใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนเฟส 3 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง โดยวางงบประมาณลงทุนถึง 13,000 ล้านบาท เพื่อขยายในส่วนของไลน์การผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมรองรับกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำดื่ม โดยเบื้องต้นจะส่งออกต่างประเทศสัดส่วน 90% ไปยังตลาดหลัก ได้แก่ อเมริกา และอาเซียน ขณะที่ตลาดน้ำดื่มในประเทศ 10% นั้น ส่งให้กับพาร์ตเนอร์หลายราย เช่น ไทยเบฟเวอเรจ เป๊ปซี่ โคคา-โคลา และผู้ผลิตกระป๋องต่าง ๆ

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีแนวคิดที่จะขยายการลงทุนให้กับซัพพลายเชนป้อนชิ้นส่วนอากาศยาน หลังจากที่โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของการบินไทยและแอร์บัสเกิดขึ้นในสนามบินอู่ตะเภาด้วย

“เราพอใจที่รัฐบาลไทยให้สิทธิประโยชน์กับการลงทุน และเรามีเป้าหมายคือการนำบริษัทก้าวสู่ความเป็นกลุ่มผู้ผลิตอะลูมิเนียมยักษ์ใหญ่ที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เป้าหมายหลักที่ลงทุนเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและเอื้อต่อการลงทุนได้มาก ทั้งตลาด พื้นที่ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุน บริษัทมีแผนขยายไปสู่การผลิตภัณฑ์กระป๋อง เดิมที่เน้นผลิตตัวแลกเปลี่ยนความร้อนในรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์”

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนของบริษัทจำเป็นต้องรองรับความต้องการในตลาด โดยเฉพาะตลาดน้ำดื่มที่มีอัตราการขยายตัวสูงมาก ดีมานด์เพิ่มขึ้นทุกปี การตัดสินใจลงทุนเพื่อขยายโรงงานผลิตกระป๋องที่ไทยครั้งนี้ส่งผลให้มีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์กระป๋องถึง 90% จากเดิมที่เน้นผลิตตัวแลกเปลี่ยนความร้อนในรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สัดส่วนการส่งออกต่างประเทศ 70% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ประเทศเป้าหมายเตรียมส่งออกไปสหรัฐ อาเซียน ตะวันออกกลาง ที่เหลือขายในประเทศ 30% ขณะที่ปัจจุบันยังคงนำวัตถุจากประเทศรัสเซีย แคนาดา

ต่อประเด็นที่สหรัฐจะมีการใช้มาตรการ 232 ปรับขึ้นภาษีอะลูมิเนียมนั้น นายโอคาดะยอมรับว่า บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น รวมถึงลูกค้าได้สอบถามและแสดงถึงความกังวลจากมาตรการนี้ แต่ขณะนี้ทราบว่าการเก็บภาษีดังกล่าวได้แยกตามประเภทสินค้าแต่ละเกรด เช่น อะลูมิเนียมเกรดต่ำซึ่งจะโดนเก็บภาษีที่ 25% ขณะที่สินค้าเกรดพรีเมี่ยมซึ่งทางบริษัทผลิตจะไม่ได้เข้าข่ายกลุ่มถูกเก็บภาษี เช่น อะลูมิเนียมที่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น

นายอะคิโนริ ยามากุจิ ประธาน บริษัท ยูเอซีเจ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แผนการลงทุนดังกล่าวมีกรอบระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า ตามแผนลงทุน UACJ ประเทศไทย ที่มุ่งจะเสริมสร้างรากฐาน เร่งเติบโตแบบก้าวกระโดด หากสำเร็จจะช่วยขยายกำลังการผลิตอะลูมิเนียมในไทยให้ได้ 300,000 ตัน/ปี และเพิ่มยอดขายเติบโตปีละ 10-15% โดยการลงทุนนี้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทแม่ที่มุ่งเข้าสู่ global hub หรือการเป็นกลุ่มอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่มีกำลังการแข่งขันในระดับโลก ที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นฐานผลิตที่สามารถป้อนวัสดุอะลูมิเนียมหลากหลายชนิด ให้ได้เทียบเท่ากับฐานผลิตในญี่ปุ่น รวมถึงการสร้างศูนย์ R&D สินค้าอะลูมิเนียมที่จะเป็นฐานในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับบริษัท UACJ เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอัดขึ้นรูป, ฟอยล์, เหล็กรีดร้อน ท่อทองแดง แปรรูปผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิตและการรีดแผ่นอะลูมิเนียม 1 ล้านตันต่อปี

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า UACJ เป็นหนึ่งบริษัทนักลงทุนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมอันดับ 3 ของโลก (รองจากบริษัท Alcoa อันดับ 1 และบริษัท Novelis อันดับ 2) การตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ด้วยรัฐบาลไทยมีพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สอดคล้องกับที่ UACJ มีนโยบายลงทุนเพิ่มเพื่อขยายจากพื้นที่ส่วนเดิมซึ่งอยู่ใน EEC เช่นกัน รวมถึงการขยายลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ของไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมป้อนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) อย่างยานยนต์สมัยใหม่ และอากาศยาน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมได้ดึง UACJ เข้าสู่โครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) เพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทยในด้านชิ้นส่วนยานยนต์ หรือชิ้นส่วนอะลูมิเนียม